ถาม-ตอบเรื่องโยคะ 04

การเป็นครูโยคะหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่จะเจอคำถามเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ วันนี้กวางเลยจะมาแชร์คำถามที่กวางถูกถามบ่อยเกือบที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงคำแนะนำของกวางเพื่อที่เราจะได้เข้าถึงการรักษาที่ถูกต้องค่ะ (จริงๆ ถูกถามหลายอาการมาก แต่จะค่อยๆ ทยอยเล่านะคะ)

1. มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีโยคะท่าไหนแนะนำมั้ยคะ?

อย่างแรกที่หลายๆ คนอาจจะเข้าใจผิดคือ โยคะอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการรักษาอาการบาดเจ็บ เพราะเมื่อร่างกายของเรามีอาการบาดเจ็บ คนที่จะช่วยรักษาและฟื้นฟูร่างกายของเราให้กลับมาเป็นปกติได้ตรงที่สุดคือนักกายภาพบำบัดค่ะ

อาการบาดเจ็บที่เราเคยได้ยินกัน ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือแม้แต่อาการผิดปกติบางอย่างที่อาจรบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เมื่อเป็นแล้วก็ควรจะปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อหาแนวทางการรักษาค่ะ (ย้ำว่าคืออาการบาดเจ็บนะคะ ไม่ใช่อาการปวดเมื่อยตึงทั่วไป)

อย่างโดยปกติถ้ามีเคสที่มีอาการบาดเจ็บลักษณะนี้เข้ามาเป็นนักเรียนของกวาง ทั้งที่เคยบาดเจ็บมาก่อน (แล้วยังไม่เคยตรวจกับนักกายภาพฯ) หรือกำลังบาดเจ็บอยู่ กวางมักจะส่งเคสต่อให้นักกายภาพบำบัดก่อนเป็นอันดับแรก

ซึ่งเมื่อถึงมือนักกายภาพบำบัดแล้วเค้าก็จะมีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียด ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของอาการบาดเจ็บได้ชัดเจนขึ้น ว่าอาการบาดเจ็บที่เป็นนั้นเกิดจากอะไรกันแน่(บางทีก็ไม่ตรงกับที่เราคิดในตอนแรก) บาดเจ็บอยู่ในระดับไหน และมีวิธีการรักษาอย่างไร

ถ้าไม่ได้เป็นอะไรมาก เค้าก็อาจจะส่งกลับมาฝึกโยคะพร้อมมีคำแนะนำให้นิดหน่อยว่าท่าไหน องศาไหน ที่ให้ทำด้วยความระมัดระวัง หรือท่าไหนให้เว้นไปก่อน

หรืออย่างในบางรายเมื่อนักกายภาพฯ เช็กแล้วพบว่ากล้ามเนื้อยังมีอาการบาดเจ็บอยู่ หรือกล้ามเนื้อส่วนที่เคยบาดเจ็บยังไม่แข็งแรงพอที่จะกลับมาออกกำลังกายแบบปกติได้ นักกายภาพฯ ก็อาจจะบอกให้พัก หรือจัดท่าบริหารที่เหมาะสมกับระดับของอาการให้โดยเฉพาะ แล้วเมื่อบริหารจนร่างกายแข็งแรงขึ้นถึงระดับนึง พร้อมที่จะออกกำลังกายแบบปกติแล้ว นักกายภาพฯ ถึงจะส่งนักเรียนคืนมาให้กวาง

ดังนั้นจะเห็นว่าเราทำงานร่วมกันตลอด ถ้ามีอาการบาดเจ็บมา การมีนักกายภาพฯ ดูแลในช่วงแรกเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ค่ะ เพราะอาการบางอย่างก็แก้ไม่ได้ด้วยการออกกำลังกาย และนักกายภาพฯ ยังคอยแนะนำเราได้ในหลายๆ เรื่อง ทั้งการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การดูแลตัวเอง สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนควรเลี่ยง

อาการบาดเจ็บหลายๆ อย่างมีรายละเอียดในตัวอาการที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเช็กได้ รักษาได้ รวมถึงแนะนำได้อย่างแม่นยำ เพราะบางอย่างถ้าพลาดพลั้งทำผิดก็จะเป็นอันตรายกับตัวเราเองด้วย ซึ่งนักกายภาพฯ ก็เป็นคนดูแลในส่วนนั้นค่ะ

ส่วนโยคะให้มองว่ามันเป็นการออกกำลังกายปกติที่ช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น สุขภาพโดยรวมดีขึ้น มองแบบนี้ก็จะเห็นความแตกต่างค่ะ กายภาพบำบัดช่วยรักษา โยคะคือการออกกำลังกาย มองแบบนี้เราจะได้ไม่สับสน

มีนักเรียนกวางหลายคนที่ฝึกโยคะควบคู่ไปกับการทำกายภาพฯ (ตามคำแนะนำของนักกายภาพฯ) หลายคนบาดเจ็บมาตั้งแต่แรก แล้วก็พบว่าการทำควบคู่กันช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไวกว่า หรือบางคนฝึกๆ ไปก็เริ่มเห็นว่ากล้ามเนื้อที่ติดอยู่นั้นไม่ได้ติดธรรมดา แต่เป็นพังผืดที่เกิดจากการอักเสบซ้ำๆ จากการใช้งาน ก็ต้องใช้กายภาพฯ ช่วยเพื่อแก้อาการเฉพาะจุดตรงนั้นเพิ่ม ซึ่งก็ต้องค่อยๆ แก้ไป ยิ่งเราใช้ร่างกายแบบผิดๆ มาหลายปี การจะปรับให้ดีขึ้นก็ใช้เวลานานเป็นธรรมดา ทำใจสบายๆ ทำไปเรื่อยๆ ค่ะ

กวางเลยมักจะบอกนักเรียนทุกคนเสมอว่า ไม่อยากให้คิดว่าโยคะเป็นศาสตร์ที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียว เพราะมันไม่มีอะไรดีที่สุดหรอก ทุกศาสตร์มีข้อดีกันคนละอย่าง การรู้จักผสมผสานและใช้ประโยชน์จากแต่ละศาสตร์จึงสำคัญที่สุด ทั้งโยคะ นวด กายภาพฯ ดูแลร่างกายแบบผสมผสาน ทำควบคู่กันไป น่าจะเป็นคำตอบที่ตรงที่สุดในความเห็นของกวางตอนนี้ค่ะ

2. ถ้าเกิดเป็นคนตัวแข็งมาก แบบก้มไม่ได้เลย ถ้าฝึกทุกวันตามคลิปครูจะสามารถยืดได้จนก้มสุดไหมคะ?

ข้อนี้ตอบยากค่ะเพราะขึ้นกับหลายปัจจัย

ขึ้นอยู่กับชีวิตประจำวันว่าเราใช้งานร่างกายยังไง อย่างถ้าเรานั่งทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันแต่มาออกกำลังกายแค่ 15 นาที มันก็อาจจะพอยืดได้แต่ใช้เวลานานหน่อย เพราะระยะเวลาในการใช้งานร่างกายกับเวลาที่เรามาฝึกมันไม่สมดุลกัน ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มเวลาการฝึกขึ้นอีกสักนิดให้สมดุลกับการใช้งานร่างกายของเรามากขึ้นได้ ร่างกายก็อาจจะยืดหยุ่นได้ไวขึ้นค่ะ

ขึ้นอยู่กับกรรมพันธ์ุของเราว่าเป็นคนที่ข้อต่อชิดมั้ย บางคนฝึกหลายปีก็ไม่ค่อยยืดเพราะโดยกรรมพันธ์ุเป็นคนที่ข้อต่อชิด ทำให้ร่างกายยืดหยุ่นได้น้อยโดยธรรมชาติ ยิ่งใช้งานร่างกายสะสมมานานก็อาจจะลงยากหน่อย กลับกันบางคนฝึกอาทิตย์เดียวลงเลยก็มี ขึ้นอยู่กับต้นทุนทางร่างกายที่แตกต่างกันค่ะ เค้าถึงได้มีคำกล่าวว่า ฝึกไปจนกว่าจะลืมว่าเคยถามคำถามนี้ ลืมเมื่อไหร่เมื่อนั้นก็ลงได้เองละค่ะ

อีกอย่างนึงที่ตอบได้คือ ฝึกดีกว่าไม่ฝึกแน่นอน เพราะอย่างน้อยส่วนที่ตึงก็จะคลายออก ส่วนที่เมื่อยก็จะหายเมื่อย และตราบใดที่เรายังใช้งานร่างกายอยู่ เราก็ควรที่จะออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้คงอยู่กับเราไปตลอด

ค่อยๆ ทำ ทำได้น้อยก็ฝึก ทำได้มากก็ฝึก เน้นที่ได้ออกกำลังกาย ได้ดูแลร่างกายตัวเองในทุกๆ วัน ความเสื่อมถอยก็จะเกิดกับเราช้าลงเรื่อยๆ ค่อยๆ ไปนะคะ 😊

ได้มากก็ฝึก เน้นที่ได้ออกกำลังกาย ได้ดูแลร่างกายตัวเองในทุกๆ วัน ความเสื่อมถอยก็จะเกิดกับเราช้าลงเรื่อยๆ ค่อยๆ ไปนะคะ 😊

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top