มหากาพย์อาการบาดเจ็บของกวาง

หลายคนไม่เคยรู้ว่ากวางเคยบาดเจ็บจากการออกกำลังกายมาก่อน แล้วอาการบาดเจ็บก็ยังไม่หายดี (เพราะไม่ได้รักษาจริงจังน่ะค่ะ แฮ่) แต่ช่วงที่ผ่านมากวางกลับมาบาดเจ็บซ้ำอีก (แบบซับซ้อนขึ้นไปอีกระดับ) เลยอยากจะเอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟัง

แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ บอกก่อนว่ารอบนี้กวางคิดว่ารักษามาถูกทางแล้ว เพราะกล้ามเนื้อฟื้นขึ้นมาเยอะมากแล้ว ต้องขอบคุณหมอเจี๊ยบแห่งสุดบรรทัดคลินิคกายภาพบำบัด จ.สระบุรี กราบในความเมตตาที่มีให้น้องที่โคตรดื้อคนนี้ 😈

——

ขอเล่าย้อนไปก่อนว่าอาการบาดเจ็บนี้เกิดเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เริ่มจากแฮมตริงฉีกนิดหน่อย(ไม่ได้รุนแรง) แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจร่างกายดีเลยไม่ได้รักษาจริงจังแถมยังออกกำลังกายปกติ อาการบาดเจ็บก็เลยลามเป็นวงกว้าง ลามไปหน้าขา ขาหลังด้านซ้าย และสะโพกซ้ายทั้งหมด เจ็บอยู่เกือบปีเพราะไม่ยอมหยุดออกกำลังกาย แล้วพอหายเจ็บก็ไม่เคยรักษาเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้กลับมาเป็นปกติ

ถ้าพูดถึงในชีวิตประจำวันทั่วไปร่างกายกวางก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยค่ะ ไม่เจ็บ ไม่มีอาการใดๆ เดินเหินใช้ชีวิตปกติดี ทีนี้โดยส่วนตัวกวางฝึกอาชทังก้าโยคะบ้าง เป็นการฝึกในชีวิตประจำวันนอกเหนือจากการสอน (เคยเล่าไปแล้วในนี้ https://www.pordiporyoga.com/ashtanga-yoga-101/) ปัญหามันเกิดตอนที่กวางได้รับท่าใหม่มาฝึกในตารางของตัวเองคือท่า supta kurmasana

ตัวท่าไม่ได้มีปัญหาอะไรนะคะ ต้องบอกก่อนว่าบาดเจ็บไม่ได้มาจากการฝึกโยคะแต่สาเหตุคือจากกล้ามเนื้อเราที่มันมีปัญหาอยู่แล้ว พอมาฝึกท่าที่เน้นส่วนนั้นมันเลยกลายเป็นการกระตุ้นอาการ

อาการก็คลาสสิคค่ะ อักเสบเพราะกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เลยเป็นเหตุผลให้รอบนี้กวางได้ตามหาหนทางการฟื้นฟูกล้ามเนื้อแบบจริงจัง

ปัญหาถัดมาที่ทำให้มันซับซ้อนขึ้นคือกวางไปหานักกายภาพบำบัดคนนึง แต่วันนั้นโชคไม่ดีที่นักกายภาพฯ คนนั้นเค้าให้ลูกศิษย์มาดูแลกวางแทน แล้วท่าบริหารกล้ามเนื้อที่ได้จากลูกศิษย์เค้าก็คงไม่เหมือนได้จากครูมั้ง พอกวางทำๆ ไป สะสมนานเข้ากวางก็บาดเจ็บอีก ทีนี้เป็นอาการบาดเจ็บคนละแบบ คือบาดเจ็บจากกล้ามเนื้อขาที่ตึงมากจนไปรัดเข่าทำให้เอ็นเข่าอักเสบ

รอบนี้นี่แหละค่ะที่กวางเซ็งจริงๆ แต่สุดท้ายมันก็ให้บทเรียนกวางหลายอย่างเลย แล้วก็ทำให้กวางได้เจอนักกายภาพฯ คนปัจจุบันของกวางด้วย

หมอกายภาพคนใหม่ที่กวางมาหา จริงๆ แล้วก็คือหมอที่อยู่ใกล้ตัวกวางที่สุดมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ด้วยความที่กวางชอบหาเรื่องก็เลยจะหาคนที่เค้าบอกว่าดี ว่าเก่ง จนเจ็บกลับมารอบนี้ถึงได้รู้ว่า อ้าว คนใกล้ตัวเรานี่ก็เก่งเทพคนนึงเลยนี่หว่า เง้อ อาย (กวางก็เป็นแบบนี้ละค่ะ)

พอรักษากับหมอคนนี้เค้าก็ตรวจเจอว่า กล้ามเนื้อขากวางตึงมาก และนี่แหละค่ะเป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่กวางได้เรียนรู้จากการเจ็บรอบนี้

Flexibility & Muscle tension เป็นคนละเรื่องกัน 

เรื่องนี้หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ อธิบายว่าสิ่งที่เกิดกับกล้ามเนื้อกวางคือ หมอบอกว่าขาทุกส่วนข้างซ้ายตึงมากกก แต่กวางเข้าท่าโยคะที่เกี่ยวกับการยืดขาได้สุดทุกท่าเลย มึนมั้ยคะ 🤣

กวางพบว่าในภาษาไทยไม่มีคำนี้ คือ คำว่า “ตึง” ของเรามันมีสองความหมายคือ “ไม่ยืดหยุ่น” และ “กล้ามเนื้อรัดกันแน่น” ของกวางดัน “ตึง” ในความหมายหลังคือ กล้ามเนื้อรัดกันแน่นเกินไป แต่ไม่ตึงในความหมายแรกเพราะกล้ามเนื้อดันมีความยืดหยุ่นสูง

ทำให้กวางไปลองหาคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษดูก็พบว่ากล้ามเนื้อกวางมี flexibility (ความยืดหยุ่น) สูง แต่ก็มี muscle tension (ความรัดแน่นของกล้ามเนื้อ) สูงเช่นกัน

ถามว่าแล้วจะแก้ยังไง จริงๆ คนสายกีฬาที่แท้ทรูเค้ารู้วิธีแก้กันมานานแล้วค่ะ รวมถึงตัวกวางเองด้วย แต่ไม่ทำ 55 ก็มันขี้เกียจน่ะเนอะ จนมันเจ็บรอบนี้มันก็คงต้องทำแล้วแหละ มันคือการใช้โฟมโรลเลอร์ค่ะ

โฟมโรลเลอร์เป็นอุปกรณ์ที่สายกีฬาแบบจริงจังน่าจะคุ้นเคยกันดี เป็นโฟมทรงกระบอกก้อนแข็งๆ ที่เราเอามาใช้นวดกล้ามเนื้อตัวเอง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขานี่ละค่ะที่ตึงง่ายมาก และหลายจุดคือยืดไม่ได้ ไม่มีท่าไหนยืดได้เลย นวดได้อย่างเดียว คือถ้าเป็นคนที่ฝึกอยู่กับร่างกายมากๆ สุดท้ายจะรู้ว่าต้องทำทั้งยืดทั้งนวดค่ะ หลีกเลี่ยงไม่ได้ (อยากให้เห็นหน้าเบื่อหน่ายของดิชั้นมาก โว้ยยย ขี้เกียจนวดเอง)

แต่ด้วยประกาศิตหมอสั่ง ดิชั้นก็ต้องกลับมานวดขาตัวเองป้อยๆ หลังสอนโยคะตอนกลางคืน เพราะต่อให้ยืดได้แค่ไหน ถ้ากล้ามเนื้อยังมี muscle tension อยู่ก็คงไปรัดเอ็นเข่าอยู่ดี อย่างสะโพกที่กวางว่าตัวเองยืดได้ดีขนาดที่เอาขาพาดคอได้แล้ว ก็ยังมี muscle tension อยู่ แล้วต้องนวดด้วยโฟมโรลเลอร์เหมือนกัน *แต่กวางไม่ชอบเอาขาพาดคอนะคะ บอกก่อน ทำเล่นๆ ชาตินึงทำทีนี่ได้ แต่ทำมากๆ ไม่เอาเดี๋ยวสะโพกแบะเดินไม่สวยค่ะ

——

สิ่งที่กวางเจอเกี่ยวกับเรื่อง muscle tension ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะเจอหรอกค่ะ หลายคนอาจจะแค่ตึงเพราะความยืดหยุ่นน้อยทำให้ร่างกายมีปัญหาก็ได้ แต่พอดีกวางใช้ร่างกายค่อนข้างเยอะ ก็ถือว่าใกล้เคียงนักกีฬาคนนึง การดูแลร่างกายมันก็เลยต้องเพิ่มเป็นอีกระดับนึง

แล้วเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหลักให้กวางได้เรียนรู้ค่ะ ว่าต่อไปนี้ต้องนวดโฟมโรลเลอร์ด้วย

จากคำแนะนำของแฟนกวางผู้นวดโฟมโรลเลอร์เป็นงานอดิเรกเกือบทุกวัน เค้าบอกว่ามือใหม่นวดแค่ 5-10 นาทีต่อวันก็พอแล้ว แต่ทำให้ได้บ่อยๆ ทำทุกวันยิ่งดี และอย่าย้ำที่เดิมเยอะเกินไป ให้มันคลายหน่อยนึงก็เปลี่ยนที่ได้แล้วไม่งั้นนวดมากไปกล้ามเนื้ออักเสบอีก ทำบ่อยดีกว่าทำซ้ำนานๆ ค่ะ แล้วอย่าลืมขยับเปลี่ยนที่หาองศาที่ตึงด้วย (จริงๆ เทคนิคจากเค้ามีอีกเยอะ ถ้าใครสนใจบอกนะคะ เผื่อไปถามมาแชร์เพิ่มให้)

ปัจจุบันเอ็นเข่าหายอักเสบแล้วนะคะ สิริรวมเวลา 2 เดือน 3 สัปดาห์ (มีก่อนหน้านี้แอบกลับไปฝึกอาชทังก้าแล้วสรุปว่ายังไม่หาย กลับมาปวดอีก เพราะยังขี้เกียจนวดโฟมโรลเลอร์อยู่) และก็ได้รับท่าบริหารกล้ามเนื้อชุดใหม่จากหมอคนปัจจุบัน ทำให้กล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงจนแทบไม่มีความรู้สึกกลับมาแข็งแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แล้วตอนนี้ก็กลับมาฝึกอาชทังก้าได้ปกติแล้วค่ะ

ปล. ตอนก่อนหน้านี้ที่หยุดไปก็ไม่ได้หยุดโยคะนะคะ แค่หยุดอาชทังก้าเฉยๆ เพราะโยคะสายนี้มีท่าที่เน้นการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาเยอะ ฝึกทีไรขาจะตึงจนไปรัดเอ็นเข่าที่บาดเจ็บอยู่ทำให้ปวดเพิ่ม แต่โยคะอื่นๆ ก็ฝึกปกติค่ะ ออกกำลังกายปกติเลย แค่เว้นการเกร็งขาหรือทำอะไรที่อาจทำให้ขาตึงมาก และนวดโฟมโรลเลอร์บ่อยๆ ค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top