เป็นประจำเดือนอยู่สามารถฝึกโยคะได้มั้ย?

เป็นคำถามที่ครูสอนโยคะทุกคนต้องเคยได้ยิน และอาจจะเคยตอบกันไปต่างๆ นาๆ วันนี้กวางเลยไปหาข้อมูลมาตอบอีกครั้งเพื่อให้เราหมดข้อสงสัยในเรื่องนี้กัน ตอนที่หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ได้ไปเจอเวปไซต์หนึ่งที่ได้เขียนอธิบายและตอบเอาไว้อย่างดีมาก กวางเลยขอถือโอกาสสรุปออกมาเป็นข้อๆ เพื่อให้เราได้อ่านกันค่ะ (จากเวปไซต์นี้นะคะ https://www.arhantayoga.org/blog/yoga-and-period-practice-yoga-inversions-during-menstruation/(a.))

ยาวนิดนึงนะคะ แต่เพราะเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมานาน และคำตอบก็ไม่ใช่อย่างที่เคยตอบๆ กันมา เลยต้องให้รายละเอียดนิดนึงว่าทำไมค่ะ 😊

1. ที่มาของความเชื่อว่าเมื่อเป็นประจำเดือน ผู้หญิงไม่ควรฝึกโยคะ

โยคะนั้นถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีก่อน และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียที่ผูกโยงอยู่กับความเชื่อหลายอย่างอย่างแนบแน่น หนึ่งในความเชื่อนั้นคือ ผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนจะถือว่าไม่บริสุทธิ์ อย่างเช่นผู้หญิงอินเดียเมื่อมีประจำเดือนจะถูกห้ามไม่ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรืออย่างในเนปาลก็มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน เช่นกุมารี เด็กผู้หญิงที่เฝ้าศาสนสถานในเนปาล ก็จะพ้นออกจากตำแหน่งเมื่อมีประจำเดือนออกจากร่างกาย ซึ่งความเชื่อนี้ก็มีอิทธิพลมาถึงการฝึกโยคะ

จะเห็นว่าโยคะหลายสายมีการห้ามผู้หญิงเข้าร่วมในห้องฝึกโยคะในช่วงที่มีประจำเดือน (ซึ่งบางสายของโยคะอาจมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา) หรือบางที่ก็ห้ามให้ฝึกท่ากลับหัว เพราะมองว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ประจำเดือนไหลย้อนกลับและนำไปสู่การเกิดซีสต์ในมดลูกได้

2. ความสำคัญของประจำเดือน

ประจำเดือนคือสิ่งที่บ่งบอกสุขภาพฮอร์โมนของผู้หญิง ดังนั้นเมื่อประจำเดือนของเรามีความผิดปกติ เช่น มาบ้างไม่มาบ้าง มาบ่อยและไวเกินรอบเดือน (หากยังอยู่ในช่วง 21- 35 วันยังถือว่าเป็นปกติ)(b.) มาสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป มาในปริมาณที่เยอะมากๆ หรือมีอาการป่วยมากๆ ช่วงที่เป็นประจำเดือน(c.) เหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงสภาพฮอร์โมนที่ไม่ปกติในร่างกายของเรา จึงควรงดการออกกำลังกายหนักๆ และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันทีค่ะ

ในระยะสั้นอาการเหล่านี้อาจดูเป็นเหมือนเรื่องเล็กๆ แต่หากปล่อยไว้ไม่จัดการก็อาจนำไปสู่อาการหรือโรคภัยต่างๆ ที่ร้ายแรงขึ้นได้ค่ะ (อจ.ของกวางที่เป็นหมอเคยเล่าว่า การที่ประจำเดือนจะขาดได้ แสดงว่าสุขภาพภายในของเรามีปัญหามาเกินสามเดือนแล้ว จึงจะแสดงอาการออกมาในรูปแบบของภาวะขาดประจำเดือน)

นอกจากนี้ในช่วงที่มีประจำเดือนผู้หญิงหลายคนอาจจะมีอาการปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึ่งเราจะพบว่าการฝึกหายใจลึกยาว การฝึกสมาธิ รวมถึงการฝึกท่าโยคะเบาๆ ส่งผลดีต่ออาการเหล่านี้ และสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ด้วย

3. การฝึกโยคะช่วงมีประจำเดือนอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงจริงหรือไม่?

ที่ผ่านมาความเชื่อเดิมเกี่ยวกับการฝึกโยคะในช่วงมีประจำเดือนคือ ถ้าเราฝึกโยคะในท่าที่สะโพกยกสูงเกินศีรษะ (ท่ากลับหัวต่างๆ) จะทำให้เกิดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน (Retrograde Menstruation) แล้วนำไปสู่การเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ซึ่งช็อกโกแลตซีสต์ก็เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่)(d.)

ดังนั้นหากอ้างอิงตามความเชื่อเดิม เพื่อให้ประจำเดือนของเรามาเป็นปกติและไม่ไหลย้อนกลับแล้ว เราทุกคนไม่ควรฝึกท่ากลับหัวที่สะโพกยกสูงเกินศีรษะในช่วงที่มีประจำเดือน

แต่ถ้ามองในมุมของวิทยาศาสตร์ จากผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราทราบว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่พบความเชื่อมโยงของการที่มดลูกกลับหัวในช่วงมีประจำเดือนว่าสามารถนำไปสู่การเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ

“ความเชื่อว่าการฝึกท่ากลับหัวในระหว่างที่มีประจำเดือนแล้วทำให้เกิดซีสต์ในมดลูกนั้นไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์” และในมุมมองของการแพทย์ทฤษฎีนี้ก็ถูกปฏิเสธเช่นกันด้วย 2 เหตุผลคือ

3.1 ประจำเดือนไหลย้อนกลับ ไม่ได้นำไปสู่การเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เสมอไป

ในปี 1984 มีแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ต้องการยืนยันว่าอาการประจำเดือนไหลย้อนกลับนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติแค่ไหน จึงได้เก็บตัวอย่างของเหลวจากรอบอวัยวะอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงในช่วงที่มีประจำเดือน พบว่ากว่า 90% ของกลุ่มตัวอย่างมีประจำเดือนปนอยู่ในของเหลวด้วย

หมายความว่าผู้หญิงเกือบทุกคนมีภาวะประจำเดือนไหลย้อนกลับในช่วงที่มีประจำเดือน แต่มีผู้หญิงเพียงแค่ 10% ที่พัฒนาต่อไปเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (e.)

ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้ว่าการที่ประจำเดือนไหลย้อนกลับนั้นนำไปสู่โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แต่โดยทั่วไปเชื่อกันว่ามาจากปัจจัยด้านพันธุกรรมหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน)(a.)

3.2 การขับประจำเดือนนั้นเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ไม่เกี่ยวกับทิศทางของการขับแต่อย่างใด

เพราะแม้แต่เลือดในร่างกายของเราเอง ก็มีทั้งการไหลลงและไหลขึ้นต้านแรงโน้มถ่วงตลอดทั่วทั้งร่างกาย โดยไม่เกี่ยวกับว่าเราจะกลับหัวอยู่หรือไม่ และแม้แต่คนที่นอนป่วยบนเตียงก็ยังสามารถขับปัสสาวะได้ หรือการที่เราสามารถกลืนอาหารได้แม้อยู่ในท่ากลับหัวก็ตาม

นอกจากนี้นักบินอวกาศที่อยู่ในพื้นที่ไร้แรงโน้มถ่วงและไม่มีทิศทางว่าขึ้นหรือลง ก็ยังเป็นประจำเดือนตามปกติเช่นกัน ซึ่งจากที่กล่าวมาทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการฝึกโยคะในช่วงมีประจำเดือนนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของผู้หญิงแต่อย่างใด

4. ปลอดภัยหรือไม่ที่จะฝึกท่ากลับหัวในช่วงมีประจำเดือน?

ในโยคะเรามักจะได้ยินเสมอว่าร่างกายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นในการฝึกโยคะการคอยสังเกตและฟังเสียงของร่างกายจึงสำคัญ และในกรณีนี้เองก็เช่นกัน

ส่วนตัวกวางถูกสอนมาว่าให้ลองฝึกท่ากลับหัวในช่วงมีประจำเดือนก่อนสักหนึ่งครั้ง ลองดู แล้วถ้าประจำเดือนของเราหยุดหรือมาน้อยลงคราวหน้าเราก็เว้นการฝึกท่ากลับหัวในช่วงมีประจำเดือนไป (หากฝึกแล้วประจำเดือนมาน้อยลง เราควรฝึกท่าแก้ตามไปด้วยคือ ท่าภัสสาสนะ)

แต่สำหรับบางคนที่เมื่อฝึกแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร ประจำเดือนยังคงมาปกติดี หรือบางคนอาจจะมามากขึ้น หรือรู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงปกติดีในช่วงที่มีประจำเดือนเราก็สามารถฝึกโยคะได้ปกติเลย

ทั้งนี้สำหรับคนที่มีอาการอ่อนเพลียมากหรือปวดท้องมากในช่วงที่มีประจำเดือน แนะนำว่าควรฝึกโยคะเบาๆ ท่าง่ายๆ ที่ช่วยลดการปวดประจำเดือนแทน หรืออาจจะงดเว้นการฝึกในช่วงนี้ไปก่อนก็แล้วแต่ร่างกายของแต่ละคน เน้นดูที่ร่างกายของเราเป็นหลักนะคะ

5. ประโยชน์ของการฝึกโยคะในช่วงมีประจำเดือน

การฝึกโยคะในช่วงมีประจำเดือนนั้นส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือนนั้นทั้งฮอร์โมนในร่างกาย และอารมณ์ของผู้หญิงนั้นแปรปรวนง่าย การฝึกโยคะในช่วงนี้จะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมน รวมถึงการหายใจลึกยาวแบบโยคะยังช่วยปรับอารมณ์ ความเครียด และความวิตกกังวลของเราได้ ช่วยให้เรานอนหลับสนิทมากขึ้น และการหลับมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้แล้วการฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอยังส่งผลดีในการป้องกันโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งของภาวะฮอร์โมนผิดปกติและภาวะมีบุตรยากอีกด้วยค่ะ

ตลอดสิบปีที่ฝึกโยคะมากวางก็ได้เห็นอาจารย์โยคะของตัวเองตอบคำถามเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งอาจารย์ก็มักจะยืนยันหนักแน่นอยู่เสมอว่า การฝึกโยคะกับการที่ประจำเดือนหยุดไหลนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน

เพราะการที่ประจำเดือนไหลหรือไม่ไหลนั้นอยู่ที่การบีบตัวของมดลูก ไม่ได้เกี่ยวกับการฝึกโยคะแต่อย่างไร (แต่เฉพาะท่ากลับหัวนั้นให้ลองฝึกดูก่อน เพราะร่างกายของแต่ละคนตอบสนองต่อท่านั้นไม่เหมือนกัน)

ซึ่งโดยภูมิหลังของอาจารย์ที่เป็นหมอ ท่านก็คงจะทราบดีเกี่ยวกับข้อมูลการวิจัยข้างต้นนี้ แต่เนื่องจากเราเองก็ไม่เคยได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน ที่ผ่านมาก็เลยยังคงสงสัยอยู่

และแม้แต่การฝึกปราณยมะเองอาจารย์ก็เคยบอกว่าสามารถฝึกได้ปกติแม้จะมีประจำเดือน เพราะปราณยมะคือการบริหารลมหายใจ และมีผลต่อปีกมดลูก รังไข่ และช่องท้องน้อยกว่าการฝึกอาสนะโยคะเสียอีก ต่อให้เป็นคลาสปราณยมะโดยเฉพาะที่ฝึกแต่ปราณยมะอย่างเดียวตลอด 1 ชั่วโมงก็สามารถฝึกได้ปกติเช่นกัน

ซึ่งการหาข้อมูลครั้งนี้ก็ช่วยให้กวางได้คำตอบที่ตัวเองก็สงสัยมานาน ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และคิดว่าหลังจากนี้ก็จะเลิกถามคำถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนได้สักที (หลังจากถามไปแล้วอย่างน้อยสามครั้ง 555) แต่สำหรับพี่ๆ คนอื่นในคลาสที่ไม่เคยได้อ่านเรื่องนี้กวางก็เข้าใจได้ว่าทำไมเค้าจะยังสงสัยอยู่ ก็คงต้องปล่อยให้อาจารย์ได้ฝึกเมตตาบารมีในการตอบคำถามต่อไป แฮ่ 😆

ที่มา:

เวปไซต์ต้นทาง

(a.)

Yoga and Menstruation: Is it Safe to Practice Yoga During Menstruation?

(b.) https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2

(c.)

https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Period-pain

(d.)

https://www.thonburihospital.com/Endometriosis.html

(e.)

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/6234483/

ฝากคลิปโยคะแก้ปวดประจำเดือนของกวางในยูทูปด้วยเลย ลองฝึกกันดูนะคะ 😊🌷

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top