หนังสือในมือคุณ รู้มั้ยว่าอ่านได้หลายแบบ?

ช่วงนี้กวางกำลังอ่านหนังสือเรื่อง Buddha’s brain (สมองแห่งพุทธะ) อยู่ ทำให้นึกถึงเรื่องนึงขึ้นมาได้ เลยคิดว่าแชร์ไว้เป็นข้อมูลอาจจะมีประโยชน์กับหลายๆ คน เกี่ยวกับเรื่องว่าวิธีการอ่านหนังสือนั้นสามารถทำได้หลายแบบค่ะ

ขอเล่าจากประสบการณ์ของตัวเองก่อน คือ สมัยที่เราเริ่มอ่านหนังสือนั้นเราเริ่มจากหนังสือการ์ตูนตาหวาน ขายหัวเราะ Boom C-Kids ฮันเตอร์xฮันเตอร์ ฯลฯ

จากนั้นจึงค่อยขยับไปเป็นวรรณกรรมเยาวชนพวกแฮรรี่ พอตเตอร์ และนิยายหลากหลายแนว แต่ทุกอย่างที่ว่ามาเราอ่านเป็นอยู่แค่วิธีเดียวคือ อ่านจากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายไปเรื่อยๆ แบบไม่ข้าม ทำให้เราเคยชินและไม่เคยฝึกวิธีการอ่านรูปแบบอื่น

อย่างสมัยเรียนเราเคยได้ยินเทคนิคการอ่านแบบ Skim & Scan มาบ้าง (การอ่านข้ามและอ่านกวาด) แต่ส่วนตัวก็ยังทำไม่ค่อยเป็นค่ะ เพราะมีนิสัยชอบบริโภคตัวอักษรอยู่แล้ว และวิธีการอ่านแบบเดิมก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร

จนถึงจุดนึงที่กวางเริ่มขยับไปอ่านหนังสือกลุ่ม Non-fiction ของต่างประเทศ (หนังสือสารคดี ประเภทที่ไม่ใช่นิยาย) แล้วพบว่าหลายเล่มเราอ่านไม่สนุกเลย ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ในกลุ่มบุ๊คคลับของเราดูสนุก ดูชอบมาก

หลายเล่มที่ทุกคนพูดตรงกันว่าดีๆๆๆ แต่เรากลับอ่านแล้วรู้สึกไม่สนุก อ่านยาก ทำไมทฤษฎีเยอะจัง งอแง เลิกอ่าน

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับหนังสือหลายเล่ม จนเราเริ่มถามแฟนว่าเออเธอ ทำไมเรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันอ่านยากจัง ทำไมล่ะ ชั้นอ่านผิดหรอ ไม่เข้าใจ?

แล้วพอได้คุยกันถึงรู้ว่าอย่างแฟนกวางเอง เวลาอ่านหนังสือบางเล่มเค้าก็จะอ่านข้ามๆ พวกหน้าทฤษฎีไป แล้วถ้าสนใจถึงค่อยอ่านเจาะละเอียดอีกที เราก็ ฮื้อ อะไรนะ ไม่เคยคิดเรื่องนี้ อ่านอย่างนั้นก็ได้หรอ?

สรุปว่ามันเป็นความไม่ชินของกวางเอง คือเราเคยอ่านเป็นแค่วิธีเดียวมาตลอด แต่บางคนเค้าอ่านแบบ Skim & Scan ได้เป็นปกติ (คือเราก็จริงจังไง ตั้งหน้าตั้งตาอ่านเอาความ แต่พออ่านทฤษฎีไม่เข้าใจปุ๊บก็ อร๊าย ‘รมณ์เสีย เลิกอ่าน 🤣)

ทำให้ได้พูดคุยกันถึงเรื่องวัฒนธรรมการสื่อสารของคนในแต่ละทวีปด้วยว่ามันมีความแตกต่าง ซึ่งส่งผลให้วิธีการเขียนมีรูปแบบที่แตกต่างกันด้วย

อย่างถ้าเป็นแถบเอเชีย เรามักจะสื่อสารกันด้วยการพูด คำสอนต่างๆ มาในลักษณะของเรื่องเล่าที่พูดต่อๆ กันมา ในขณะที่ของฝั่งตะวันตกแถบอเมริกาเหนือและยุโรปนั้นจะให้ความสำคัญกับตัวหนังสือ เพราะประวัติศาสตร์ด้านการพิมพ์ของเค้ามีมานานกว่าเรามาก นอกจากนี้วัฒนธรรมของเค้ายังให้ความสำคัญกับการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งส่งผลไปสู่วิธีการเขียน

หลายครั้งเราเลยจะเห็นหนังสือ Non-fiction ที่เริ่มเขียนบทแรกๆ ด้วยการอ้างอิงทฤษฎีก่อน บางครั้งก็อาจจะแค่สอง-สามบทแรก บางครั้งก็ปาไปเกินครึ่งเล่มที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและบทวิจัยต่างๆ จากนั้นถึงจะเป็นเนื้อเรื่องและการประยุกต์ใช้

ซึ่งวิธีการเขียนแบบนี้ก็เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงวิชาการ แล้วก็ขยายมาในหนังสือกลุ่ม non-fiction ด้วย

ทีนี้ถ้าใครเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านทฤษฎีมากนัก (แบบกวาง) ก็อาจจะต้องฝึกตัวเองให้เปิดข้ามไปอ่านบทที่เราสนใจแทนก็จะช่วยได้มาก

ช่วงแรกๆ ของหนังสือก็ฝึกอ่านข้ามๆ อ่านแค่พอผ่านๆ ถ้าสนใจตรงไหนค่อยตั้งใจบริโภค แต่หัดที่จะอ่านข้ามให้เป็นในส่วนที่เราไม่ได้สนใจ วิธีนี้ก็จะทำให้อ่านได้สนุกขึ้น และได้เนื้อหาในส่วนที่เราต้องการด้วยค่ะ

อย่างกวางเองก็กำลังฝึกเหมือนกันค่ะ เพราะที่ผ่านมาเคยชินกับการอ่านทุกตัวอักษรมากไปหน่อย แต่บางตัวอักษรมันก็ไม่ได้มีประโยชน์กับชีวิตเรา ก็ต้องหัดอ่านทิ้งๆ อ่านข้ามๆ มันไปบ้าง กำลังฝึกอยู่ค่ะ 😌

ปล. Buddha’s brain ก็เป็น non-fiction แบบที่ว่ามาเช่นกันค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top