8 เคล็ดลับแก้อาการท้องผูก

ช่วงที่ผ่านมากวางได้รับคำขอให้ทำคลิปวิดิโอโยคะสำหรับคนท้องผูกเยอะมากเป็นพิเศษ แล้วด้วยเป็นหัวข้อที่กวางเองก็สนใจเลยได้ไปศึกษาเพิ่ม ไปอ่าน ไปดู ไปฟัง ทำให้ได้ทั้งความรู้ใหม่และรื้อความรู้เก่าที่เคยเกือบลืมไปแล้ว ส่วนที่เป็นตัววิดิโอคิดว่าคงได้ทำเร็วๆ นี้ แต่ส่วนที่เป็นเนื้อหาความรู้ก็มีเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่างเลยอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังก่อนค่ะ

เรื่องการขับถ่ายเป็นเรื่องที่ทั้งแพทย์แผนจีนและอายุรเวทของอินเดียให้ความสำคัญมาก อย่างอายุรเวทเค้าจะเชื่อว่าโรคภัย 80% นั้นเกิดขึ้นจากช่องท้อง ดังนั้นเราควรที่จะขับถ่ายได้เป็นปกติ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ของเสียก็จะหมักหมมอยู่ในลำไส้ และวันดีคืนดีร่างกายก็จะดูดซึมของเสียหรือพิษนั้นกลับเข้าไปหมุนเวียนในร่างกายทำให้เราป่วยได้ง่าย

แต่ถึงแม้จะรู้ว่าการขับถ่ายปกติเป็นเรื่องดี ทุกคนก็คงจะมีบางช่วงเวลาที่เกิดอาการขับถ่ายยากขึ้นมา เหล่านี้ก็เป็นเกร็ดความรู้ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เผื่อให้ลองเอาไปทำกันดูค่ะ

1. จิบน้ำตลอดทั้งวันให้เป็นนิสัย

เพราะถ้าร่างกายเราขาดน้ำอยู่เรื่อยๆ โอกาสขับถ่ายก็จะยากขึ้น การดื่มน้ำตอนสมัยกวางเรียนอายุรเวทก็จะถูกสอนมาว่าอย่าดื่มแบบอั๊กๆๆ เพราะถ้าดื่มมากๆ ในทีเดียวอาจกลายเป็นภาระต่อไต แต่ให้ใช้การจิบน้ำเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันแทน

เคยได้ยินคำว่า “น้ำให้เคี้ยว อาหารให้ดื่ม” กันมั้ยคะ? ความหมายคือเวลาทานอาหารเราก็ควรเคี้ยวให้ละเอียดจนได้ความเหลวใกล้เคียงกับน้ำก่อนกลืน ในขณะที่น้ำเราก็ควรค่อยๆ ดื่มประหนึ่งว่าเรากำลังค่อยๆ เคี้ยวน้ำ ซึ่งนี่ก็เป็นหลักการดูแลสุขภาพง่ายๆ อย่างหนึ่งของอายุรเวท ช่วยให้ร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการขับถ่ายอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้หลายคนอาจจะพบว่าเครื่องดื่มบางอย่าง หรืออาหารบางชนิดมีส่วนช่วยในการขับถ่าย เช่น กาแฟร้อนๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ น้ำผสมน้ำส้มสายชูหมักสัก 1 ช้อนชา (อะไรที่เป็นกรดอย่าลืมใช้หลอดดูด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดกัดสารอีนาเมลที่เคลือบฟัน) กล้วย มะละกอ (เคยมีคนสอนให้บีบมะนาวบนมะละกอ ปรากฏมะละกออร่อยขึ้นมาก ใครยังไม่เคยลองแนะนำเลยค่ะ) การดื่มน้ำช่วงเช้าเราก็ควรดื่มเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เพื่อช่วยให้ลำไส้คลายตัว ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้นด้วย ลองค่อยๆ สังเกตและปรับกันดูนะคะ

2. ทานอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น

พวกผัก ผลไม้ ตอนเรียนอาจารย์จะเตือนให้พยายามหลีกเลี่ยงอาหารทอดแห้ง อบแห้งเพราะอาหารพวกนี้จะดูดน้ำออกจากร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปที่มักจะใส่สารกันบูดซึ่งส่งผลเสียต่อสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้

3. ออกกำลังกายเบาๆ

อย่างการเดินสัก 30 นาที หรือการฝึกโยคะเบาๆ ที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยนวดภายในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของอวัยวะในช่องท้อง

พฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างการนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็ส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายของเราด้วยเหมือนกัน เพราะเวลาที่เรานั่งกล้ามเนื้อหลังของเราเป็นส่วนที่รับน้ำหนักและถูกกดทับ ยิ่งเรานั่งนานกล้ามเนื้อยิ่งถูกกดทับนาน โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง

ซึ่งหลังส่วนนี้จะมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดในกระเพาะปัสสาวะ ควบคุมการเปิด-ปิดของปากทวาร พอเรานั่งจนหลังตึงมากๆ เส้นประสาทส่วนนี้ถูกรบกวน อาจมีผลต่อการขับถ่าย การขับปัสสาวะ การขับประจำเดือนในผู้หญิง และมีผลต่อมดลูกได้ด้วย ส่วนในผู้ชายอาจมีผลทำให้ต่อมลูกหมากโต และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธ์ุของผู้ชาย

ดังนั้นการออกกำลังกายอย่างโยคะ ที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนี้จากการถูกกดทับ จึงช่วยเรื่องอาการปวดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาดีขึ้น รวมถึงทำให้การขับถ่ายดีขึ้นด้วย

4. เงี่ยหูฟัง “ความรู้สึกปวดอยากขับถ่าย”

ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นแค่ชั่วเวลาสั้นๆ และถ้าเราเพิกเฉยไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ ความรู้สึกปวดอยากเข้าห้องน้ำนี้จะหายไป ทำให้ขับถ่ายยากขึ้นไปอีก ดังนั้นคราวหน้าถ้าได้ยินสัญญานนี้แล้วอย่ารีรอ ให้รีบพุ่งเข้าห้องน้ำไปเลยค่ะ

5. สร้างนิสัยการนั่งห้องน้ำ

ข้อนี้เป็นข้อที่ผู้เชี่ยวชาญย้ำเตือนค่ะ คือเราควรพยายามฝึกนั่งห้องน้ำให้เป็นกิจวัตร แม้จะยังไม่ปวดก็ไปนั่งไว้ก่อน เพื่อสร้างนิสัยให้กับลำไส้ของเราว่าช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาของการขับถ่ายนะ ทำให้เคยชินไว้ค่ะ

6. ท้องผูกเป็นอาการ ไม่ใช่โรค

ดังนั้นเพียงปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตอาการขับถ่ายยากนี้ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง มีคุณหมอคนหนึ่งท่านสรุปง่ายๆ เป็นหลัก 3 อ. ที่ช่วยเรื่องการขับถ่าย ช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นด้วยคือ อาหาร(และน้ำ) – ออกกำลังกาย – อุปนิสัย(การเข้าห้องน้ำ)

7. ผ่อนคลาย สบายๆ~~ (โปรดอ่านเป็นเสียงพี่เบิร์ดธงไชย)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่เหมือนกันสำหรับกวางตอนที่ค้นเจอ เพราะไม่เคยได้ยินคำอธิบายในลักษณะนี้ คือกูรูทางด้านโยคะท่านนึงกล่าวไว้ว่า อาการขับถ่ายยากนั้น 90% เป็น phychosomatic (มีความเชื่อมโยงกันของกายและจิต) คือมีรากหรือบ่อเกิดของอาการมาจากจิต แต่แสดงผลออกมาทางกาย อย่างคนที่ขับถ่ายยากนั้นก็พบว่ามักจะเป็นคนที่มีมุมมองความคิดที่เคร่งเครียด และปล่อยวางยาก

พอกวางลองสังเกตตัวเองดู ก็เจอว่าเรามักจะมีปัญหาเรื่องขับถ่ายเวลาที่ต้องเดินทางเปลี่ยนที่อยู่ หรืออยู่ในภาวะที่รีบเร่ง หรือเคร่งเครียดหมกมุ่นกับอะไรสักอย่างนึง ซึ่งร่างกายของเราก็คงเซนซิทีฟกับภาวะอารมณ์เหล่านี้มากกว่าที่คิด

ดังนั้นเค้าเลยแนะนำให้ฝึกที่จะผ่อนคลายและปฏิบัติสมาธิบ้าง วิธีง่ายๆ คือนั่งให้สบาย ดูลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกอย่างผ่อนคลายสัก 5 นาที หรืออาจจะโฟกัสเสียงที่เกิดขึ้นรอบข้างก็ได้ แต่ทำด้วยใจที่ปล่อยวาง วิธีนี้จะช่วยคลายความตึงเครียดที่สะสมอยู่ภายในจิตใจซึ่งอาจเป็นบ่อเกิดของอาการท้องผูกได้ค่ะ

8. ลองนอนคว่ำหลังตื่นนอน

มีคนนึงที่กวางอ่านเจอแนะนำให้นอนคว่ำสักเล็กน้อยก่อนลุกจากเตียง นอนหายใจสบายๆ สัก 3-5 นาที การนอนคว่ำจะช่วยกดนวดหน้าท้อง ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายอีกทางนึง กวางลองแล้วก็ดีเหมือนกันนะคะ เผื่อได้ผลสำหรับบางคน

ข้อมูลจากลิงค์เหล่านี้เผื่อใครอยากอ่านเพิ่มเติมค่ะ

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/constipation-treatment?fbclid=IwAR3IhbGHy54x13ooYuPbS9EsJqWVAscDs1Plb58EbuqKu3j2xLsyaSneAbI

https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-45?fbclid=IwAR2BWdZI7UfUq6aDGz5RRo48wnR1sNgyDiXlAdT-GIPkG_UEvA4qQTei_GA

https://pantip.com/topic/32208298?fbclid=IwAR08VNpOm3qf9eWgTgQHl0GGOYDag4Q2HVL6g_YsCNpgNgc-gGmXgcURE_w

https://theyogainstitute.org/top-7-yoga-poses-for-constipation-relief/?fbclid=IwAR2eZRgMgsEo6yjIkZouBFSA3xtN1CnjrQt7QYWLa0JJ8fcSGj8JLKHlz2E

Drinking Water On Empty Stomach

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top