อาชทังก้าโยคะ 101

แม้จะอยู่ในแวดวงโยคะมาหลายปีแต่อาชทังก้าโยคะเป็นสายหนึ่งที่กวางแทบไม่เคยได้สัมผัสจริงๆ เลย อาจจะมีเคยไปลองเรียนบ้างสักครั้งสองครั้ง แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร

อาชทังก้าโยคะเป็นโยคะสายหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการฝึกของตัวเอง มีชุดท่าโยคะที่ล็อกไว้ตายตัว เวลาเริ่มเราต้องไปเริ่มเรียนกับครูสายอาชทังก้าในชาลา (ศูนย์อาชทังก้าโยคะ) จะเริ่มโดยการฝึกเองไม่ได้ เพราะมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต้องเรียนจากครูของสายนี้เท่านั้น

หลายคนอาจจะเลือกเรียนสายนี้ด้วยเหตุผลที่ต่างๆ กัน เหตุผลของกวางที่เริ่มเพราะกวางอยากหาซีรี่ส์ฝึก (หรือชุดท่าโยคะ) ที่เหมาะกับระดับความแข็งแรงของร่างกายตัวเอง และอยากใช้สมองในขณะที่ฝึกให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะได้มีเวลาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับร่างกายโดยไม่ต้องคิดว่าท่าต่อไปจะเป็นอะไร

ส่วนตัวอยากเล่าเรื่องนี้นานแล้ว แต่รอให้ตัวเองได้ฝึกสักพักได้พอเข้าใจมากขึ้นก่อนค่อยเล่า ข้อความเหล่านี้บอกเล่าประสบการณ์และความเข้าใจในฐานะมือใหม่ที่เพิ่งได้เริ่มฝึกโยคะสายนี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เรื่องไหนที่ใครพอมีข้อมูลที่อยากแบ่งปันก็แชร์กันได้เสมอค่ะ

Mysore or Led Primary?

ตอนไปฝึกครั้งแรกในตารางมีคลาสสองแบบให้เลือก ไม่รู้จักว่ามันคืออะไรเลยลองโทรไปคุยกับครูเจ้าของชาลา ว่ามันแตกต่างกันยังไง ครูบอกว่านักเรียนใหม่ทุกคนควรต้องเข้าคลาสมัยซอร์ก่อน แล้วเมื่อไหร่ที่ครูดูว่าเราพร้อมครูจะบอกเองว่าเราสามารถเลือกเข้าเลดคลาสได้แล้ว

มัยซอร์เป็นคลาสแบบที่เราเคยเห็นตามยูทูปคือต่างคนต่างฝึกของตัวเอง ชาลาจะเปิดตั้งแต่เช้ามืด ใครมาถึงก่อนก็กางเสื่อฝึกก่อนได้เลย ฝึกตามซีรี่ส์ของเราไปเรื่อยๆ ใครมาใหม่ก็เริ่มฝึกของตัวเอง ดังนั้นทั้งคลาสจะดูเหมือนสะเปะสะปะ คนนู้นฝึกท่านั้นคนนั้นฝึกท่านี้ เพราะทุกคนเริ่มไม่พร้อมกัน แล้วครูก็จะคอยเดินดู ให้คำแนะนำ ช่วยจัดปรับท่าให้นักเรียนทั้งคลาส หรือถ้าใครที่ครูเห็นว่าเหมาะสมก็จะต่อท่าให้ (เพิ่มท่าในซีรี่ส์ให้เรา)

อาชทั้งก้าจะมีซีรี่ส์ท่าฝึกทั้งหมด 6 ซีรี่ส์ (เท่าที่ค้นมานะคะ) แต่ทุกคนต้องเริ่มจากซีรี่ส์หนึ่ง (เรียกว่า Primary Series) พอผ่านจนครบก็เริ่มซีรีส์สอง (เรียกว่า Intermediate Series) จนไปสาม ไปเรื่อยๆๆ เท่าที่เคยได้อ่านตามสื่อมา แค่ฝึกถึงซีรี่ส์สามได้ก็นับว่าเทพมากแล้ว คิดว่าท่าโยคะยากๆ คงจะเยอะ

ครั้งแรกที่ไปเรียนในคลาสมัยซอร์ ครูจะสอนแบบตัวต่อตัวเลยว่าท่าแรกคืออะไร ทำยังไงบ้าง ซึ่งถ้าเราไปเข้าเลดคลาสจะไม่ได้เรียนแบบนี้ เพราะเลดคลาสคือครูจะขานบอกจังหวะแล้วทั้งคลาสทำไปพร้อมกัน ซึ่งพอเป็นแบบนั้นครูก็จะไม่มีเวลาเดินดูเรา ใครทำผิดทำถูก หายใจผิดหายใจถูกก็ช่วยอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้ไหลๆ ไปตามจังหวะของคลาส

ดังนั้นข้อดีที่ได้จากการเข้ามัยซอร์ก่อนคือ เราจะรู้จังหวะลมหายใจของแต่ละท่า

เรื่องนี้จริงๆ อาจจะขึ้นกับจริตของครูนิดนึง คือครูแต่ละคนก็จะมีเรื่องที่เน้นไม่เหมือนกัน อย่างเช่นครูบางคนอาจจะเน้นการกระโดดไปหน้า กระโดดมาหลังระหว่างเปลี่ยนท่า ครูบางคนอาจจะเน้นใช้กล้ามเนื้อให้ถูกต้อง จริงๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีแบบไหนบ้างเพราะได้เรียนกับครูหลักๆ มาแค่คนเดียว

ครูของกวางจะเน้นเรื่องของวินยาสะ คือจังหวะลมหายใจต่อเนื่องสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวตลอดการฝึก เช่น

“ท่าประสาริตาสนะ A”

หายใจเข้า — ก้าวเท้าขวาไปด้านหลัง มือจับเอว และยืดตัวขึ้น

หายใจออก — พับตัวก้ม เอามือวางที่พื้นระนาบเดียวกับเท้า

หายใจเข้า — มือแตะพื้นไว้ ยืดหลังตรง เชิดอกเปิด

หายใจออก — พับตัวก้มเหมือนจะเอาศีรษะแตะพื้น

ค้างท่าห้าลมหายใจ

หายใจเข้า — มือแตะพื้นไว้ ยืดหลังตรง เชิดอกเปิด

หายใจออก — ค้างไว้

หายใจเข้า — มือจับเอว ยกตัวขึ้น

หายใจออก — ค้างไว้

แล้วเข้าท่าต่อไป

ทั้งหมดที่ว่ามาคือวินยาสะ (หรือจังหวะลมหายใจ) ของหนึ่งท่าโยคะ

โดยเราจะต้องจำทั้งหมดตั้งแต่จังหวะก้าวขา จังหวะการวางแขน จังหวะเตรียมเข้าท่า จังหวะเข้าท่า จังหวะออกจากท่า และจังหวะเปลี่ยนท่าเพื่อไปท่าโยคะถัดไป ทั้งหมดต้องผสานกับลมหายใจ และทุกจังหวะถูกล็อกเอาไว้หมดแล้วตลอดทั้งซีรี่ส์

หมายความว่าคุณต้องท่องทั้งหมดนี้ในหัวให้ได้ วันแรกที่กวางไปเรียนแล้วได้รู้ว่าอาชทังก้าโยคะจริงๆ แล้วเป็นแบบนี้ (อย่างน้อยก็สายที่ครูกวางสอน) กวางรู้สึกมันมาก รู้สึกสะใจบอกไม่ถูก คือชอบท้าทายตัวเองในเรื่องการเรียนรู้ วันแรกก็เลยซื้อหนังสือที่ครูของครูเขียนเกี่ยวกับจังหวะวินยาสะพวกนี้ แล้วเอากลับมานั่งท่อง

นั่งทำโพยอยู่คนเดียวแบบมันในอารมณ์ หูย สะใจมากเลย อธิบายไม่ถูก แต่ก็ไม่ต้องตกใจสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มฝึกใหม่ๆ เพราะครูจะค่อยๆ ให้เราทีละท่าและเราก็จะได้ทำซ้ำๆ ทุกวันที่เราฝึกจนสุดท้ายเราก็จะจำได้เอง แต่ในกรณีกวางคือครูไม่พูดซ้ำสอง พูดรอบเดียวและพอถามซ้ำครูจะบอกว่า ก็บอกไปแล้วนี่ 555 ซึ่งกวางชอบแบบนี้มาก เป็นเมตตาของครูที่ถูกจริตกวางมาก ชอบซาดิสต์หน่อยๆ

ดังนั้นตามที่เล่ามานี่คือเหตุผลว่าทำไมเราควรเข้ามัยซอร์ก่อนเลดคลาส เพราะเราจะแม่นเรื่องลมหายใจ มันจะเป็นส่วนหนึ่งของเราไปพร้อมๆ กับท่าโยคะ เราจะฝึกได้อย่างเป็นธรรมชาติ เราจะไม่ลน และเราจะได้รับประโยชน์จากการฝึกโยคะสายนี้อย่างเต็มที่

ความไว้วางใจ

หลังจากฝึกสายนี้มาได้เกือบครึ่งปี จำนวนท่าที่กวางฝึกก็อยู่ประมาณสามส่วนสี่ของซีรี่ส์หนึ่ง บางทีไปฝึกก็ได้ท่าเพิ่มบ้างไม่ได้บ้าง ด้วยความอยากรู้เคยถามครูว่าดูจากอะไรบ้างว่าจะให้ท่าเพิ่มได้รึยัง ครูบอกว่าดูจากหลายอย่าง ดูร่างกาย ดูทัศนคติ ดูนิสัย ไม่ใช่ว่าทำท่าได้เก่ง แล้วครูจะให้ท่า ครูดูมากกว่านั้น

ส่วนตัวกวางค่อนข้างวางใจในเรื่องนี้ คือพอรู้จักครูแล้ว มั่นใจว่าหัวใจครูอยู่ถูกที่ถูกทาง กวางก็ยกให้ครูเป็นผู้กำหนดเส้นทางการฝึกให้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับนักกีฬาที่ต้องมีโค้ชคอยวางแผนการซ้อมให้ ตัวกวางเองก็มีครูเป็นผู้วางแนวทางการฝึกให้ เราจะได้โฟกัสความสนใจไปที่การฝึกอย่างเดียว ทำให้มีความสุขกับการฝึกได้อย่างเต็มที่

กวางไม่เคยแม้กระทั่งจะไปเปิดดูว่าท่าต่อไปที่กวางยังไม่ได้ฝึกคือท่าอะไร ไม่เคยถามครูว่าเมื่อไหร่จะให้ท่าเพิ่ม (จริงๆ เพราะยังไม่อยากได้ เหนื่อย 55) แต่ถ้าครูให้ก็คิดว่าครูคงดูว่าเราพร้อมแล้ว เราก็เต็มใจที่จะทำ แต่ก็ฝึกแบบมีสติ ไม่ได้ตะบี้ตะบันจะเอา ฝึกแบบพอดี วันไหนนอนน้อยมา ป่วย ทำงานหนัก พักไม่พอ (หรือถ้าบาดเจ็บ) ก็อาจจะไม่ฝึกเลย หรือเลือกฝึกอะไรที่เบาๆ เหมาะกับร่างกายในช่วงนั้น

ที่คนเคยพูดกันว่าฝึกอาชทังก้าวินัยต้องสูง ต้องฝึกทุกวัน คำพูดนี้ใช้กับกวางไม่ได้เลย เพราะทุกวันนี้ใช้ร่างกายทำงานทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้นจะฝึกวันไหนกวางจะประเมินร่างตัวเองก่อนตลอด

ถ้าไม่อยากฝึกเพราะเหตุผลทางใจ จะตัดใจและฝึก (ไม่ได้สำเร็จทุกครั้ง) แต่ถ้าเป็นเหตุผลทางร่างกายก็พักโลดค่ะ เพราะร่างกายนี้ยังต้องใช้อีกนาน ถนอมค่ะ แต่ถึงอย่างนั้นกวางก็ (พยายาม) ไม่ย่อหย่อนในวินัย ถ้าวางตารางไว้แล้วว่าอาทิตย์นี้จะฝึกวันนี้ๆๆ ก็จะลากตัวเองไปบนเสื่อให้ได้ (ไปนอนบนนั้นก็ยังดี ฮาาา)

ครูของกวางก็มีความเห็นในเรื่องนี้ชัดเจน ว่าสำหรับครูแล้วมันไม่สำคัญว่าคุณจะฝึกได้ถึงท่าไหน ฝึกได้ดีเท่าไหร่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณมาฝึก คือวินัยของคุณ แต่ก็ต้องมองความเป็นจริงของร่างกายด้วย ไม่ใช่ใช้ศรัทธาแบบมืดบอดแล้วฝึกแบบเอาร่างกายแลกกับการทำท่าให้ได้ อย่างนั้นครูว่าไม่เห็นด้วย

สำหรับคนที่ลองอ่านดูแล้วเริ่มสนใจสายนี้ ก็แนะนำว่าควรไปลองค่ะ ไปลองจะได้รู้ว่าใช่ไม่ใช่สำหรับเรา ข้อดีของอาชทังก้าอีกอย่างนึงคือคุณไม่ได้ต้องไปชาลาทุกวัน ถ้าคุณมีซีรีส์อยู่ในมือแล้ว รู้จังหวะลมหายใจแล้ว คุณก็สามารถฝึกเองได้ ที่ไหนก็ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ควรจะต้องไปชาลาบ้าง เพื่อให้ครูดูให้เผื่อออกนอกลู่นอกทาง

อย่างกวางมีโอกาสไปแค่อาทิตย์ละครั้ง เพราะชาลาอยู่กรุงเทพฯ แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะนี่คือระยะเวลาที่พอดีในการเช็กตัวเองว่ายังอยู่ในร่องในรอยดีมั้ย อาทิตย์ไหนยุ่งก็ไม่ได้ไปค่ะ ฝึกที่บ้านเอา

อีกอย่างหนึ่งที่ขอตอบไว้ก่อนเผื่อมีคนถามว่าฝึกที่ไหนดี คำตอบคือไม่รู้ค่ะ เพราะจริตแต่ละคนต่างกัน หาข้อมูลและลองคิดพิจารณาดูว่าครูท่านไหนที่เราน่าจะชอบ แล้วถ้าลองไปเรียนแล้วไม่ชอบครูคนนี้ อย่าเพิ่งเลิกค่ะ เพราะมันมีครูที่ถูกจริตกับเราอยู่แน่นอน ตราบเท่าที่เราไม่ล้มเลิกความพยายามในการหา ดังนั้นหาต่อไปค่ะ เพราะคุณจะรู้เองว่าความพยายาม (และเงิน) ทั้งหมดที่เสียไปช่างคุ้มค่าเหลือเกินเมื่อเราเจอครูของเรา

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top