ฝึกโยคะเวลาไหนดีที่สุด?

สมัยก่อนที่กวางเข้าไปเรียนโยคะกับอาจารย์ช่วงวันเสาร์บ่อยๆ คลาสเรียนมักจะมีเกือบตลอดทั้งวัน ช่วงเช้าเป็นคลาสโยคาจารย์ ช่วงบ่ายหลังข้าวเที่ยงเป็นคลาสวินยาสะโยคะ บางครั้งบ่ายแก่ๆ ก็มีคลาสบรรยายต่อ ตอนนั้นมักจะได้ยินอาจารย์พูดอยู่เนืองๆ ว่าบ่ายๆ อย่างนี้ปกติเค้าไม่ฝึกโยคะกันหรอก ถ้าเค้า(ครูบาอาจารย์ของท่าน) รู้นี่โดนด่าแน่

แต่ถึงอย่างนั้นเนื่องจากเวลาเรียนเราไม่ค่อยมีเหลือ (เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ว่างแค่วันเสาร์) อาจารย์ก็ต้องยอมสอนโยคะตอนบ่ายไปโดยปริยาย

เรื่องเวลาที่เหมาะสมในการฝึกโยคะ จริงๆ แล้วตามแบบดั้งเดิมก็มีพูดถึงกันอยู่ เวลาใครถามกวางก็มักจะตอบโดยอ้างอิงจากที่ได้เรียนมาและได้ศึกษามา แต่ถ้าถามว่ามันจำเป็นต้องถูกต้องตามนั้นเลยมั้ย อันนี้กวางก็คงตอบไม่ได้เหมือนกัน รู้เพียงว่านี่คือสิ่งที่ถูกสอนกันมา ถ้าทำตามได้ก็คงดี แต่ถ้าไม่ได้ก็คงต้องลองปรับให้เข้ากับตารางชีวิตของเราดูค่ะ


การฝึกโยคะเริ่มต้นที่อินเดีย และอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าอินเดียเป็นประเทศที่อากาศร้อน ดังนั้นในอินเดียก็จะถูกสอนกันว่าให้ฝึกโยคะในช่วงเช้า และช่วงเย็นที่แดดร่มลมตก

ถ้าถามว่าเช้าขนาดไหน อาจารย์ท่านว่าได้ตั้งแต่เวลาศิวะยาม (ตีสี่) ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติสมาธิภาวนาและเป็นช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ เรื่อยไปจนถึงช่วงเช้าที่อากาศยังไม่ค่อยร้อนมาก (ไม่ได้กำหนดตายตัว)

ส่วนตอนเย็นอาจารย์ว่าให้ฝึกได้ตั้งแต่ช่วงที่อากาศไม่ค่อยร้อนแล้ว (ราวสี่โมง ห้าโมงเย็น) เรื่อยไปจนถึงก่อนสองทุ่มจะดีที่สุด แม้แต่ที่ศูนย์โยคะของอาจารย์คลาสเรียนสุดท้ายก็จบที่เวลาสองทุ่มเช่นกัน

เหตุที่อาจารย์ไม่แนะนำให้ฝึกหลังสองทุ่ม กวางมองว่ามันเป็นคำแนะนำมาตรฐานมากกว่า เพราะการฝึกโยคะจริงๆ แล้วมีหลายรูปแบบ ซึ่งคำแนะนำนี้กวางคิดว่าน่าจะหมายถึงการฝึกในคลาสเรียนที่มีความยาว 1 ชั่วโมงโดยทั่วไป

เพราะถ้าเป็นคลาส 1 ชั่วโมงทั่วไป เราฝึกทั้งท่าก้ม แอ่น เอียง บิด และหลายครั้งก็เป็นการฝึกที่หนักหน่วง ซึ่งภายหลังการฝึกแบบนั้นร่างกายของเราต้องการเวลาสัก 2-3 ชั่วโมงในการระบายความร้อนที่สะสมอยู่ระหว่างการฝึกให้ออกไปจากร่างกาย รวมถึงจิตใจของเราที่ตื่นตัวขึ้นจากการฝึกโยคะก็ต้องการเวลาในการผ่อนคลายลงเช่นกัน เพื่อที่เราจะได้นอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ดังนั้นถ้ามองในมุมนี้ การฝึกโยคะช่วงก่อนสองทุ่มก็ฟังดูสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการฝึกคลาสที่มีท่าแอ่นหลังเยอะๆ ซึ่งจะทำให้จิตใจเกิดความฮึกเหิม กระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว ช่วยลดอาการซึมเศร้าทางจิต ซึ่งแม้จะมีข้อดีแต่ถ้าฝึกมากๆ ในช่วงก่อนนอนก็อาจจะทำให้นอนหลับยากขึ้นในผู้ฝึกบางคนได้

ซึ่งคำแนะนำนี้ก็จะครอบคลุมถึงผลกระทบที่มีต่อภาคจิตที่มาจากการฝึกโยคะด้วย ไม่ใช่แค่ภาคกายอย่างเดียวค่ะ

แต่ทั้งนี้สำหรับการฝึกโยคะคลาสที่สั้นกว่า 1 ชั่วโมง หรือคลาสที่เน้นฝึกเฉพาะท่าที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายและนอนหลับง่ายขึ้นจริงๆ คำแนะนำนี้ก็อาจจะไม่ตรงเท่าไหร่ ดังนั้นเราควรดูและพิจารณาเอาตามความเหมาะสมมากกว่า

นอกจากนี้เวลาที่อาจารย์ไม่แนะนำให้ฝึกเลยคือช่วงเที่ยงวัน เพราะท่านว่าเที่ยงวันเป็นเวลาที่อากาศร้อนที่สุด และความดันในร่างกายของเราก็ขึ้นสูงที่สุดด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการฝึกในช่วงเวลานั้นค่ะ

จากประสบการณ์ของตัวกวางเองก็ต้องบอกว่ามีบางครั้งที่เราฝึกในช่วงเที่ยงเหมือนกันค่ะ เพราะสะดวกแค่ช่วงเวลานั้นพอดี ซึ่งพอเป็นแบบนั้นกวางก็อาศัยเปิดแอร์เอา เพื่อไม่ให้อากาศในห้องฝึกร้อนจนเกินไป แต่จะเน้นว่าไม่ให้แอร์โดนตัว ให้แอร์พัดไปทางอื่นแทน เอาแค่ให้ห้องไม่ร้อนไปมากกว่า รวมถึงถ้าเป็นพัดลมก็จะไม่พัดโดนตัวเช่นกันค่ะ

ส่วนประเภทของโยคะนั้น ถ้าตามแบบดั้งเดิมช่วงเช้าสามารถฝึกคลาสที่หนักหน่วงได้ และช่วงเย็นมักนิยมให้ฝึกคลาสที่เบาลงมาหน่อย เพื่อเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการเข้านอน แต่สำหรับกวางเองเนื่องจากเราสอนแค่ช่วงเย็น ก็เลยจะมีทั้งคลาสหนักและคลาสเบาผสมๆ กัน แต่จะเน้นไม่ให้คลาสเลิกเกินสองทุ่มแทน

อย่างไรก็ดีคำแนะนำเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว เพราะที่ดีที่สุดคือการสังเกตร่างกายของเราเอง ถ้าอันไหนทำแล้วร่างกายรู้สึกว่าดี ก็ทำ อันไหนไม่ใช่ก็ปรับ ลองและปรับไปเรื่อยๆ เราจะเจอสิ่งที่ใช่และเหมาะกับตัวเราที่สุดค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top