แนวคิดในการฝึกโยคะฉบับกวางๆ 🦌

แด่ทุกคนที่เคยสับสนเหมือนกับเรา…

สำหรับคนที่เริ่มฝึกโยคะมาได้สักสองสามปี เริ่มถึงจุดที่สับสนกันรึยังคะ

ว่าทำไมโยคะมีหลายสายจัง?

ที่เราฝึกอยู่นี่เรียกว่าอะไรหนอ แล้วเราฝึกสายที่ถูกต้องแล้วรึเปล่า?

เราควรต้องไปต่อสายไหน?

ต้องเดินต่อไปในสายท่ายากเท่านั้นถึงจะเรียกว่าเป็นผู้ฝึกโยคะในระดับที่สูงขึ้นรึเปล่า?

เราต้องเรียนอะไรเพิ่ม ต้องรู้อะไรเพิ่มในการฝึกโยคะกันบ้าง?

มันมีอะไรที่ดีกว่านี้มั้ย ที่เราควรต้องไปต่อ?

เราทำพอแล้วรึยัง เรารู้พอแล้วรึยัง?

สำหรับใครที่กำลังผ่านช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยคำถามเหล่านี้อยู่ อยากบอกว่าคุณไม่ใช่คนแรกและไม่ใช่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นครูสอนโยคะ หรือเป็นผู้ฝึกโยคะ กวางเชื่อว่าถ้าเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย ก็จะต้องผ่านช่วงเวลาแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น

ความไม่มั่นใจ สงสัยในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ เป็นพลังชั้นดีที่ช่วยผลักดันเราให้ออกเดินทางเพื่อค้นหา ทำความรู้จัก เพื่อให้เราเข้าใจศาสตร์ๆ นี้ในมุมมองที่ลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงทำให้เราเข้าใจและรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย

ช่วงปีที่ 3-4 ของการเรียนโยคะเป็นปีที่กวางรู้สึกสับสน และเกิดคำถามข้างต้นบ่อยเสียจนทนไม่ไหว คิดกลับไปกลับมาว่าเอายังไงดีนะ จะไปทางไหนดี คือไม่มีความมั่นใจในทางที่กำลังยืนอยู่ แต่ก็ไม่ได้อยากจะไปในทางที่คนส่วนใหญ่เค้าไปกัน

แต่ตอนแรกเราก็ยังไม่ได้ไว้ใจตัวเองขนาดนั้น ก็ยังเผื่อใจไว้ว่า เออ ที่เราไม่เลือกไปตามทางที่คนเค้าไปกันเพราะว่าเราขี้เกียจรึเปล่า เราไม่ขยัน ไม่มีความอดทนในการฝึกรึเปล่า

กวางเลยลองบังคับตัวเองให้ไปฝึกแบบนั้นดู ไปในที่ๆ เค้าชอบไปกัน ไปเรียนกับครูที่ดังๆ ที่เค้าพูดถึงกัน คือโดยนิสัยตั้งแต่เด็กเราเป็นคนไม่ได้สนใจกระแส แต่คราวนี้เราเริ่มลังเลว่าเราอาจจะผิดก็ได้ มันอาจจะเป็นอคติของเราเอง เดี๋ยวเราจะพลาดสิ่งดีๆ ลองไปดูดีกว่า กลัวพลาด แล้วก็คิดว่าเราอาจจะได้เจอครูที่เราชอบในบางสายที่เค้าฮิตๆ กันก็เป็นได้

กวางก็เลยออกเดินทางเพื่อเรียนกับครูคนนู้นคนนี้อยู่ประมาณสองปี กวางว่ากวางผ่านครูมาประมาณ 30-40 คนได้ตลอดชีวิตการเรียนโยคะของตัวเอง และในหลากหลายสายมากๆ (ไม่รวมครูทางออนไลน์นะ อันนั้นอีกเยอะ)

จนสุดท้ายเรากลับมาจบที่ครูคนเดิม แล้วค้นพบในที่สุดว่า เรารักวิธีการฝึกแบบนี้มากที่สุดจริงๆ
ก่อนหน้านั้นก็รู้อยู่แล้วว่าชอบการฝึกแบบนี้แต่ตอนนั้นยังไม่มั่นใจ คิดแต่ว่ากลัวพลาด กลัวเราไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่มันเป็นความโง่แบบเด็กๆ คือเราตั้งคำถามผิด เราถามหาโยคะที่ดีที่สุด แต่เราไม่ได้ถามหาโยคะที่เราชอบที่สุด

เพราะแท้จริงแล้ว การฝึกโยคะทุกรูปแบบมีข้อดีทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการฝึกสายไหนคือ ทำอย่างไรจะพาตัวเองกลับมาฝึกได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะเราจะฝึกต่อเนื่องตลอดชีวิตได้ก็ต่อเมื่อเราฝึกในสิ่งที่เราชอบและตรงกับจริตของเรา

ดังนั้นการออกเดินทางไกลและวนกลับมาเป็นวงกลม เพื่อกลับมาฝึกกับอาจารย์คนเดิมจึงไม่เหมือนเดิมสำหรับกวาง เพราะรอบนี้เรามั่นใจแล้ว เราไม่หลงทางอีกแล้ว มันหมดซึ่งคำถามและความสงสัย เพราะเราได้ลองมาหมดทุกอย่างจนมั่นใจแล้วว่านี่คือทางที่เราชอบที่สุดจริงๆ ที่เหลือคือการมุ่งปฏิบัติ (แบบทำไปเรื่อยๆ)

“อ่อนช้อยแต่แข็งแรง”

เป็นรูปแบบการฝึกโยคะที่กวางชอบที่สุด ทั้งในฐานะนักเรียนและครูสอนโยคะ นี่คือรูปแบบที่กวางสนใจอยากฝึกและอยากพัฒนาการสอนของตัวเองไปในแนวทางนี้อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบนี้คลาสจะประกอบด้วยความยืดหยุ่น 70% และความแข็งแรง 30% และสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของคลาสแบบนี้คือการร้อยเรียงท่าที่ต่อเนื่อง อ่อนช้อย(แต่ก็แข็งแรง) และมีความลื่นไหล

เพราะกวางค้นพบจากประสบการณ์ว่าถ้าการเคลื่อนไหวในการฝึกโยคะมีความลื่นไหล ต่อเนื่อง ใจเราจะรู้สึกเบาสบาย ดังนั้นกวางจะเน้นมากว่าให้เราเคลื่อนไหวไปกับลมหายใจจริงๆ ให้ทุกการเคลื่อนไหวมีลมหายใจกำกับ เพื่อให้การฝึกของเราราบรื่นที่สุด และช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อกับการฝึกได้ดี

จากเมื่อก่อนที่เราสับสนมากว่าทางที่สูงที่สุดของสายโยคะต้องเป็นท่ายากเท่านั้นรึเปล่า แล้วตัวเราเองก็ดันขี้เกียจและขาดความสนใจที่จะฝึกไปในทิศทางนั้น คือทะเลาะกับตัวเองอยู่นานมากเรื่องนี้ เพราะเคยคิดว่ามันเป็นทางสายเดียวที่ทุกคนต้องเดิน ในใจมันเลยเหมือนเด็กที่กำลังถูกแม่ลากไปโรงเรียน แล้วเราก็ร้องตะโกนบอกว่า “หนูไม่อยากไปๆๆ” อารมณ์ประมาณนั้นเลย ย้อนแย้งมาก

จนสุดท้ายหลังจากทะเลาะกับตัวเองอยู่หลายปีเราตอบตัวเองได้ในที่สุดว่า อ้อ เราไม่ได้ขี้เกียจนี่หว่า แต่เราแค่สนใจศึกษาทางอื่นๆ มากกว่า เพราะเราเองก็มีความจริงจังกับการฝึกร้อยเรียงท่า การขัดเกลาคำพูดและกิริยาท่าทางในการสอน การฝึกปราณยมะ การเรียนรู้เรื่องประโยชน์ของโยคะ การศึกษาเรื่องอนาโทมี่ (เท่าที่) เกี่ยวข้องกับโยคะ และอีกหลายๆ อย่างที่เราตั้งใจเรียนและศึกษาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เพราะสำหรับเรา เราค้นพบว่ามันมีอีกหลายอย่างมากที่สนุกและน่าเรียนในสายโยคะ โดยไม่ต้องไปทางสายท่ายากอย่างเดียว ซึ่งวิธีคิดนี้มันอาจจะต่างกับคนอื่น รวมถึงไม่ค่อยมีใครออกมาพูดถึงกันในเรื่องนี้ แล้วพอมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เป็นกระแสหลัก มันเลยทำให้เราสงสัยและไม่มั่นใจในตอนแรก

แล้วก็เป็นความโชคดีด้วยส่วนหนึ่งที่เราเจออาจารย์โยคะของเราที่สอนกว้างมาก ทำให้ได้รู้ว่ามันมีทางให้เลือกเดินอีกหลายทาง และเราไม่ได้ต้องเป็นทุกอย่าง แต่ให้เลือกเป็น เลือกสอน “ในแบบที่หนูชอบ” อย่างที่อาจารย์ก็บอกเรามาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจ จนกว่าจะผ่านและตระหนักมันได้ด้วยตัวเอง แล้วก็กลับมาจบที่ประโยคเดิมที่อาจารย์เคยบอกเรา คือตอนนี้เราก็เลือกอย่างที่เราชอบจริงๆ

แต่ถ้าใครที่ชอบสายท่ายากก็ไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดีอะไรนะคะ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรารู้ตัวเองว่าเราชอบทางไหน เพราะเมื่อเรารู้ เราสนุก เราก็จะมีความพยายาม มีแรงใจที่จะฝึกฝนและพัฒนาต่อยอดความรู้ของตัวเอง และในท้ายที่สุดเราก็จะทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเลือกทำสิ่งที่เราชอบก่อนเป็นคำตอบที่กวางค้นพบกับตัวเองในเรื่องนี้ค่ะ

หนึ่งในความหลากหลายของศาสตร์โยคะที่กวางพูดถึง ก็คือศาสตร์การร้อยเรียงท่าซึ่งสำหรับกวางเป็นอะไรที่ลึกซึ้งมาก

อาจารย์ของกวางท่านเคยเล่าว่าในอาศรมที่อาจารย์เคยอยู่ในอินเดียเค้าฝึกแบบนี้กันเป็นปกติ ยิ่งการร้อยเรียงท่าชั้นสูงยิ่งต้องใช้สมาธิมาก ผู้นำฝึกต้องนิ่งและมีสมาธิตลอดเวลาที่สอน เพราะไม่งั้นจะงงและหลุดแน่นอน มันเลยเป็นเหมือนการทำสมาธิรูปแบบนึง ซึ่งในฐานะผู้เรียนและผู้สอนกวางสนใจศาสตร์นี้เป็นอันดับต้นๆ ก็เลยตั้งใจว่าจะพัฒนาต่อยอดการเรียนของตัวเองไปในทางนี้ให้ลึกขึ้นค่ะ

อีกอย่างนึงคือกวางค่อนข้างชัดเจนกับตัวเองว่าเราต้องการอะไรจากการฝึกโยคะ คือเราเป็นคนรักสวยรักงาม แต่เราก็เป็นคนขี้เกียจแต่งหน้าแต่งตัว ดังนั้นเราเลยคิดว่าทำยังไงเราจะดูดีได้ ก็ต้องทำให้หน้าสดเราสวยที่สุด ให้ผิวเราดีโดยไม่ต้องแต่งหน้าหนา ให้บุคลิกเราดี เพราะถ้าทุกอย่างที่ว่ามาดีจะใส่อะไรมันก็ดูดี แล้วทำยังไงให้ได้อย่างที่ว่ามา ก็ฝึกโยคะไง ช่วยให้ผิวดี บุคลิกดี (แล้วก็ฝึกตามใจปากแค่พองาม)

แล้วโยคะที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายนั้นต้องเป็นโยคะแบบไหน เราก็คิดพิจารณา ทดลอง ศึกษาและดูจากตัวอย่าง (ก็จากอาจารย์ของเราเองนี่แหละ) สุดท้ายเราก็รู้ว่า อ้อ ไม่ได้ต้องฝึกท่ายากนี่นา ถ้าอยากจะแข็งแรงสุขภาพดี ดูดีไปจนแก่ ฝึกแค่ประมาณนี้ที่เราชอบก็สามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้แล้ว

งั้นก็พอแล้วแหละ เท่านี้แหละ พอ 😆

ปล. ไม่ได้แนะนำให้ใครทำตาม แต่แนะนำว่าให้หาทางของตัวเองให้เจอนะคะ
where there’s a will, there’s a way โชคดีค่ะทุกคน
——
ถ้าอยากลองฝึกโยคะแบบกวางๆ มาเรียนด้วยกันในคอร์สออนไลน์ได้นะคะ สนใจดูเพิ่มเติมได้ที่ www.pordiporyoga.com หรือ inbox มาคุยกันได้เลยค่า 🌿😊

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top