บาดเจ็บจากโยคะ ต้องรักษายังไง?

กวางสังเกตว่าในแวดวงของโยคะคนมักไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของอาการบาดเจ็บกัน ไม่รู้เป็นเพราะว่าเค้าไม่ค่อยบาดเจ็บกันหรือเพราะกลัวว่าจะถูกมองไม่ดี เพราะหลายๆ ครั้งในการฝึกสายนี้การบาดเจ็บมักถูกผูกโยงเข้ากับความโลภของตัวผู้ฝึกเอง หรือความอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลา 

แล้วการที่เราเคยบาดเจ็บมาก่อน พอมาได้ยินคำพูดที่ดูจะกล่าวโทษคนที่บาดเจ็บว่าเป็นเพราะความโลภ มันก็ทำให้ไม่อยากพูดคุยถึงเรื่องอาการบาดเจ็บของเราเหมือนกัน เพราะไม่อยากถูกมองว่าไม่ดี ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่เคยมีตอนที่เรายังมีมุมมองที่แคบเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

แต่พอเราอยู่กับโยคะและการออกกำลังกายหลายปีเข้า กวางก็ได้เห็นว่าคำกล่าวนี้ไม่จริงเสมอไป แล้วพอเราหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงอาการบาดเจ็บกัน แนวทางการรักษาที่ถูกต้องก็ไม่ถูกพูดถึงไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

 — — — — 

การบาดเจ็บครั้งแรกของกวางเกิดขึ้นเมื่อห้าปีก่อนตอนที่โดนรุ่นพี่คนหนึ่งมาช่วยดันเข้าท่าหนุมานแบบยืนเกาะราว (เป็นท่าในวิชาคีตะลีลาค่ะ ลองนึกภาพตามเอาเนอะ) แล้วจังหวะลมหายใจมันไม่ได้ พอจังหวะที่พี่เค้าดันเรายังไม่ได้อยู่ในจังหวะที่กล้ามเนื้อผ่อนคลาย พอเค้าดันมามันก็เลยเกิดอาการกล้ามเนื้อฉีก จริงๆ กวางไม่โทษพี่คนนั้นเลยเพราะเรื่องจังหวะในการช่วยจัดท่าเป็นเรื่องยาก เราเองยังเคยพลาด ทุกวันนี้ดีที่สุดคือถ้าไม่ชัวร์ไม่จับค่ะ

ทีนี้พอร่างกายเคยบาดเจ็บมาแล้ว ร่างกายก็เหมือนมีรอยแผลเป็นที่ไม่หาย เหตุที่ไม่หายหลักๆ เลยก็มาจากการที่เราไม่เคยหยุดสอนเวลาที่บาดเจ็บ และตอนนั้นเรายังไม่รู้จักกายภาพบำบัด เลยไม่รู้ว่าจะดูแลรักษาร่างกายตัวเองเวลาที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ยังไง อาการบาดเจ็บก็เลยทั้งลุกลามไปกล้ามเนื้อส่วนอื่น และเรื้อรังเพราะไม่เคยรู้วิธีจัดการที่ต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริงสักที

พออาการเริ่มดีขึ้นประมาณนึงเราก็กลับไปฝึกต่อ ทีนี้พอฝึกมันก็เริ่มบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ บาดเจ็บแบบกระจัดกระจายแต่ก็จะจำกัดบริเวณอยู่ทางร่างกายด้านซ้ายตั้งแต่สะโพกลงไปถึงเท้า หรือบางครั้งไม่ได้บาดเจ็บจากการออกกำลังกายโดยตรงก็มี 

อย่างมีครั้งนึงที่เราไปออกกำลังกายพวก Weight training มาแล้วกล้ามเนื้อตึงมากๆ พอเดินก้าวขึ้นบันไดเท่านั้นแหละ ได้ยินเสียง “ปึ้ด” ในกล้ามเนื้อตัวเองเบาๆ ก็รู้แล้วว่าอักเสบอีกจนได้ หรือบางครั้งที่ตึงเพราะไปเล่นเครื่องในฟิตเนสแล้วมาฝึกโยคะในท่าที่ออกแรงต่อ ก็เกิดอาการเดียวกันคือกล้ามเนื้อมันยังไม่ทันคลายตัว แล้วพอเราไปเคลื่อนไหวเร็วๆ โดยไม่ระวังก็ “ปึ้ด” เหมือนเดิม ถึงแม้ท่านั้นจะเป็นท่าที่เราเคยฝึกอยู่เป็นประจำก็ตาม

ซึ่งพอมาสังเกตดูกวางก็รู้สึกว่าอาการบาดเจ็บของเรามันเกิดง่ายและเรื่อยเปื่อยจนผิดปกติ ที่ผิดปกติเพราะมันเป็นแค่ข้างเดียว ส่วนอีกข้างไม่เป็นอะไรเลย เราเลยคิดว่ามันไม่น่าจะใช่ว่าเราซุ่มซ่ามอย่างเดียวแล้วละ 

แล้วอีกอย่างที่สังเกตได้คือกวางรู้สึกว่ากล้ามเนื้อขาด้านใน และสะโพกของข้างซ้ายไม่มีแรงเลย อย่างเวลาออกกำลังกายในท่าต่างๆ กวางแทบจะไม่รู้สึกถึงกำลังที่ส่งมาจากกล้ามเนื้อส่วนนั้นเลย ทั้งๆ ที่เราพยายามออกแรงแล้ว เหมือนกล้ามเนื้อสองส่วนนี้มันหลับอยู่ตลอดเวลา 

อาการพวกนี้เราสังเกตและรับรู้มาตลอดหลายปี แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือจะเริ่มแก้จากตรงไหน และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

จริงๆ ถ้ากวางเป็นคนที่ใช้ชีวิตปกติอาการพวกนี้ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไรในชีวิตประจำวันเลย แต่สำหรับร่างกายที่ฝึกโยคะและออกกำลังกายเฉลี่ย 7- 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความผิดปกติแค่เพียงเล็กน้อยก็สามารถรู้สึกได้ และรู้สึกได้ทุกวันทุกครั้งที่เรามาออกกำลังกาย 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการตามหาความช่วยเหลือ ใครสักคนที่จะมาตอบคำถามเราได้ถึงกล้ามเนื้อที่เรารู้สึกว่า “โคตรก่งก๊ง” คือเราไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เหมือนเราหลงทาง เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรที่จะทำให้มันดีขึ้น และอะไรที่อาจจะทำให้มันแย่ลง

พอได้ลองตามหาความช่วยเหลือกวางก็ค้นพบว่ามันมีสาขาวิชาหนึ่งที่เค้าเรียนจริงจังเกี่ยวกับเรื่องกล้ามเนื้อ ทั้งการทำงานและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อเส้นประสาท และเรื่องการฟื้นฟูอาการหลังการป่วยหรือบาดเจ็บ ซึ่งถ้าดูเนื้อหาสิ่งที่เค้าเรียนแล้วจะพบว่าสาขานี้เค้าเรียนกันกว้างมากและทำงานได้หลากหลาย กวางเองก็คงบอกได้ไม่ละเอียดทั้งหมด แต่ถ้าบอกว่าบาดเจ็บจากการออกกำลังกายแล้ว ละก็ยังไงก็ต้องหาหมอสายนี้ก่อนสายอื่น นั่นเป็นที่มาให้กวางได้รู้จักกับสาขากายภาพบำบัดค่ะ

 — — — — 

ในเคสกวางหมอวิเคราะห์มาว่าเป็น Swayed back คือบุคลิกภาพชอบยืนแอ่นไปข้างหน้า บวกกับมีปัญหาที่ SI joints และสะโพกซ้ายไม่มีกำลังเลย จริงๆ กล้ามเนื้อฝั่งซ้ายไม่มีกำลังหลายส่วน แต่การบ้านที่หมอให้คือปรับบุคลิกให้กลับมายืนตรงปกติให้ได้ สร้างความแข็งแรงแกนกลางลำตัว และความแข็งแรงกล้ามเนื้อก้นมัดกลาง (Gluteus Medius) เป็นหลักก่อน 

ซึ่งเอาจริงๆ แค่ก้นอย่างเดียวก็มีกล้ามเนื้อตั้งสามมัด การจะบังคับให้เราออกกำลังกายแค่หนึ่งมัดนี้แบบตรงๆ ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่ทั้งวินิจฉัยอาการ หาต้นตอของปัญหา และจัดชุดท่าออกกำลังกายที่ตรงจุดเพื่อการรักษาให้เราได้ก็คือนักกายภาพบำบัดนั่นเองค่ะ ยิ่งกล้ามเนื้อที่เคยบาดเจ็บมาก่อนจะอ่อนแอลง เพราะตอนที่บาดเจ็บเราหลีกเลี่ยงที่จะใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นเป็นเวลานาน ทำให้ต้องกลับมาฟื้นฟูความแข็งแรงเพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพดังเดิม 

ของกวางเองตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการรักษา หลักๆ ก็คือให้ออกกำลังกายท่าที่หมอจัดให้ค่ะ ซึ่งกวางฝึกมาประมาณอาทิตย์กว่า (ทำเกือบทุกวัน) ก็รู้สึกเลยว่ากล้ามเนื้อก้นแข็งแรงขึ้น ฝึกท่าโยคะบางท่าที่เคยไม่รู้สึกถึงกำลังของกล้ามเนื้อ วันนี้มันรู้สึกแล้ว! ก็หวังว่ารอบนี้จะเป็นการรักษาที่ถูกทางสักที 

ไว้เป็นยังไงจะมาอัพเดตเป็นความรู้ให้อ่านกันนะคะ 🌿 (หวังว่าจะหายทันสิ้นปี เพี้ยง!)


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *