การศึกษาด้านโยคะของกวางมีอะไรบ้าง – หฐราชาโยคาศรม

หายไปทำอะไรวันเสาร์ — อาทิตย์? เป็นคำถามที่คนใกล้ตัวจะไม่ค่อยถามเพราะรู้อยู่เต็มอกว่ากวางมีเรียน และกวางไม่ค่อยยอมแลกวันเสาร์ — อาทิตย์กับกิจกรรมใดๆ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่คนที่ไกลออกไปหน่อยมักไม่เข้าใจ และเบื่อกับคำปฏิเสธว่า “ติดเรียน” ของกวางเรื่อยมา

จริงๆ กวางก็พอมีเวลาว่างวันเสาร์ — อาทิตย์บ้างคือช่วงสิ้นปีหลังพิธีไหว้ครูที่ศูนย์โยคะหฐราชาโยคาศรมจบ จนถึงประมาณหลังตรุษจีนที่อาจารย์จะกลับจากอินเดียมาเปิดคลาสเรียนใหม่ (อาจารย์เดินทางไปเรียนที่อินเดียทุกปี) กวางไม่ได้รู้สึกเหนื่อยที่วันเสาร์ — อาทิตย์ต้องมาเรียน เพราะกวางทำแบบนี้มาตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานบริษัทแล้ว แต่กลับมีความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ติดก็แค่กวางจะไปไหนไม่ได้ตราบเท่าที่อาจารย์ยังไม่โดดสอนเท่านั้นเอง

สำหรับกวางการเรียนสำคัญมาก ถ้าคิดดูว่ากว่าคนๆ หนึ่งจะเป็นครูสอนตามโรงเรียนได้เค้าต้องเรียนมหาวิทยาลัยตั้งสี่ปี ยังไม่นับรวมการหาความรู้เพิ่มเติมในคอร์สอบรมต่างๆ แล้วนับประสาอะไรกับการเป็นครูสอนโยคะ การเรียนคลาสครูโยคะแค่ 200 ชั่วโมงแล้วออกมาสอนเลยกวางว่ามันยังไม่เพียงพอ อาจารย์กวางเคยพูดไว้ว่าสิ่งที่เราเรียนในคลาส 200 ชั่วโมงเป็นแค่เพียงไม่ถึง 1% ของความรู้ทั้งหมดของโยคะ แต่ส่วนที่เหลือนั้นคุณจะหาได้ก็ต่อเมื่อคุณต้องออกไปสอนก่อน ถ้าคุณไม่สอนความรู้ของคุณจะไม่กระจายออก ไม่ต่อยอด เพราะประสบการณ์ข้างนอกจะกลายเป็นความรู้ให้กับเรา เวลาเราสอนเราจะเริ่มเกิดคำถามมากมาย ทำให้เราต้องออกไปค้นหาคำตอบ และเมื่อนั้นถ้าหาคำตอบไม่ได้ก็ให้กลับมาถามอาจารย์

ในการเรียนของที่ศูนย์กวางอาจารย์ให้ความสำคัญกับคำถามมากกว่าคำตอบ คำพูดติดปากของท่านคือ คุณจะได้ความรู้มากแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าคุณถามอะไร ถ้าถามได้ตรงจุด ชัดเจน ท่านก็จะตอบอธิบายได้ตรงและชัดเจนมากขึ้นด้วย เพราะความรู้ของอาจารย์มีอยู่แล้ว แต่เราจะเค้นออกมาจากท่านได้แค่ไหนก็อยู่ที่การถามของเรา

การเรียนวันเสาร์ — อาทิตย์เวลาคนถามกวางก็จะบอกปัดไปแค่ว่ากวางไปเรียนโยคะ เพราะกวางขี้เกียจอธิบาย แต่จริงๆ แล้วการเรียนที่นี่ครอบคลุมศาสตร์หลายๆ อย่างมันคงคล้ายๆ กับการที่คนสมัยก่อนไปอาศัยอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วก็ได้เรียนรู้ศาสตร์หลากหลายจากการอยู่ใกล้ชิดท่าน ถ้าแบ่งคร่าวๆ คงได้สามหัวข้อใหญ่ๆ

1. ทางกาย

หลักๆ ก็คือศาสตร์โยคะตั้งแต่การเรียนซีรีส์มาตรฐาน 32 ท่าจนถึงการเรียนในระดับสูงและซับซ้อนขึ้นไปด้วยคลาสร่ายที่จะสอนท่าโยคะที่อยู่ในกลุ่ม 84,000 ท่า รวมถึงเรียนวิธีการร้อยเรียงท่าแบบต่อเนื่องที่มีรูปแบบชัดเจน คือ เป็นทวิลีลา (ลีลาสองชั้น) ไตรลีลา เบญจลีลา ลีลาย้อนกลับ ลีลาย้อนกลับทอนกำลัง ซึ่งที่นี่จะเน้นโยคะแบบตะวันออก คือด้านจิตและสมาธิ (แบบตะวันตกคือเน้นด้านกาย) ดังนั้นลีลาพวกนี้ที่มีความซับซ้อนผู้สอนต้องใช้สมาธิเยอะมากๆ ในการร้อยเรียงท่าให้สวยงาม สอดคล้อง รวมถึงต้องจำอีกข้างเวลากลับได้ด้วย (คือจำทั้งข้างซ้ายและข้างขวา)

อาจารย์เคยพูดว่าการสอนโยคะมันก็เหมือนการด้นกลอนสด เราจะด้นกลอนได้สละสลวยมากแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าเรามีคำศัพท์อยู่ในมือมากแค่ไหน ดังนั้นการเรียนท่าโยคะเยอะๆ จึงมีความจำเป็น เพื่อให้การสอนของเราสวยงาม เพลิดเพลิน และไม่จำเจ เพราะถ้าเราเล่นแต่ท่าเดิมๆ จนสมาชิกจับทางได้หมดก็คงไม่ดีแน่

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาจารย์ถึงให้ความสำคัญกับ 32 ท่ามาตรฐานมาก เพราะ 84,000 ท่าที่เราเรียนล้วนกระจายออกมาจาก 32 ท่านี้ แล้วถ้าเราไปเล่นแต่ท่าระดับสูงมันเหมือนเป็นหัวเชื้อที่สกัดมาแล้ว สกัดต่ออีกไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราเริ่มเรียนจาก 32 ท่าเราจะพบว่ามันกระจายออกได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันต่อท่าได้ไม่รู้จบ เหมือนเวลาที่เรียนภาษาญี่ปุ่น อักษรคันจิหนึ่งตัวประกอบด้วยรากคันจิหลายตัว ถ้าเราจับรากคันจิตัวนู้นมาบวกกับตัวนี้มันสามารถกลายเป็นคำศัพย์อีกเป็นล้านคำ แต่ถ้าเขียนคันจิที่เป็นคำ เป็นความหมายออกมาแล้วมันก็จบที่ตรงนั้น ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นเหมือนกัน การเรียนรากคันจิก็คือการเรียน 32 ท่ามาตรฐานนั่นเอง

วิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทางกายที่กวางได้เรียนก็มีเยอะ คร่าวๆ ก็มี

  • คีตะลีลา เป็นวิชาเพิ่มความแข็งแรงของข้อต่อ และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
  • บัณยันกะโยคะ หรือโยคะเก้าอี้
  • กัลยลีลา เป็นวิชาปรับโครงสร้าง
  • สเตป คือเครื่องเหยียบๆ ที่ขายทางทีวีไดเรคก์ อาจารย์สอนท่าออกกำลังกายที่ถือดัมเบลเล่นขณะที่เหยียบสเตปไปด้วย เป็นคลาสคาร์ดิโอ ทุกวันนี้ยังจำสเตปแขนไม่ได้ เพราะเยอะมาก ไว้อนาคตถ้ามีโอกาสสอนค่อยมาท่องละกัน
  • เชฟอัพ คือแอโรบิกรุ่นเมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว (รุ่นอาจารย์) เป็นคลาสคาร์ดิโอเหมือนกัน ใช้ทั้งแขนและขา ไม่เหมือนแอโรบิกสมัยนี้ที่ขามั่วมาก อาจารย์เคยบ่นว่ามันเอาไปบวกแจ๊สบวกอะไรจนเละไปหมด เสียของดั้งเดิม และยังทำให้เสียเข่าด้วย อันนี้อาจารย์สอนแม่บทขาทั้ง 8 แม่บทหลักๆ และสอนให้กระจายท่าแขนแบบอิสระเลย คลาสนี้เป็นคลาสโปรดของกวาง เพราะมันเปิดเพลงเต้นไปด้วย ไว้สตูมีพื้นที่เมื่อไหร่อยากจะเปิดคลาสนี้เพิ่มก่อนเลย
  • โยคะบอล ทั้งแบบโยคะนิ่ง โยคะไดนามิก และแบบแอโรบิกเชิงกายภาพฯ
  • โยคะเชือก อันนี้กวางจำแทบไม่ได้เลยเพราะครูที่สอนประจำไม่อยู่ที่ศูนย์อาจารย์แล้ว และอาจารย์ก็ไม่เคยมีเวลาได้สอนคลาสนี้เลย
  • โยคะกระบอง
  • โยคะทูนหม้อ ทำให้โครงสร้างสวย กระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กทั่วร่างกายรวมถึงใบหน้า ทำให้ใบหน้ากระชับและร่างกายไม่เหี่ยวย่น
  • รำสหจักรเทวะ หรือรำทูนหม้อ อาจารย์สอนโครงของท่ารำมาแล้ว แต่ยังไม่สอนการยักย้ายส่ายเอวหันหัวของการรำถวายเทพเจ้าอันนี้ อาจารย์สัญญาไว้ว่าจะถ่ายทอดทิ้งไว้ให้
  • ลีลาบรรพ คือท่าโยคะต่อเนื่องเหมือนบทสวด เปลี่ยนท่าตามจังหวะลมหายใจเข้าออก บรรพสั้นๆ ก็พวกเดวาสักการ สุริยนมัสการ นาควารี บรรพยาวๆ ที่เรียนกันเป็นคลาสจริงจังมีทั้งหมด 5 บรรพ บรรพนึงยาวเกือบ 10 นาที ทุกวันนี้ยังจำไม่ได้สักบรรพเลย เพราะมันยาวและเยอะมาก
  • กาลจักร เป็นวิชาย้อนวัย จะมีท่ากลุ่มธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ คล้ายๆ กับยิมนาสติกผสมโยคะ เมื่อก่อนตอนที่เรียนกวางเคยกระโดดตบเบาะม้วนหน้า (front handspring flip) ได้เพราะฝึกคลาสนี้ เป็นอะไรที่คิดว่าเจ๋งมาก

คลาสนึงเราเรียนกันประมาณสามเดือนถึงครึ่งปี บางอันก็เป็นปี เพราะเราไม่ได้เรียนทุกวัน แล้วก็ต้องสลับการสอนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายมันได้ใช้ทุกๆ ส่วนให้สมดุล จะสังเกตได้ว่าท่านให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลักๆ ไม่กี่อย่างคือ ความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงหัวใจ (คาร์ดิโอ) บุคลิกภาพ และสมดุลโดยรวมของการใช้กล้ามเนื้อ ท่านจะไม่ล็อกไปเลยว่าเราฝึกแค่โยคะแบบนี้ๆๆ นะ แต่ท่านจะสอนทุกแบบเท่าที่ท่านสอนได้ แล้วที่เหลือท่านเคยบอกว่าให้เราไปเลือกสอนเอาตามจริตของเรา

เมื่อก่อนเคยเดินเสียงเครือไปหาท่านว่าอาจารย์หนูกลัวเสียความเป็นตัวเอง เพราะกวางพยายามไปสอนให้ได้ทุกอย่าง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ สมองเราไม่ได้ขี้ผงอาจารย์เลย อาจารย์ตอบกลับมาง่ายๆ ว่า “เอ้า หนูก็เลือกแบบที่หนูชอบสิลูก” ทุกวันนี้กวางก็เลยสอนแบบนั้น

สำหรับกวางทุกคลาสที่ท่านสอนจะเป็นเหมือนความรู้ที่ไม่ได้ใส่สีลงไปตั้งแต่แรก เป็นความรู้เน้นๆ ไม่เติมบุคลิก ไม่เติมลักษณะนิสัยของผู้สอนลงไป ทำให้เวลาเราเอาไปสอนต่อเราสามารถเลือกเติมสี (ลักษณะเฉพาะตัว) ของเราลงไปได้ง่าย กวางเรียกมันว่าโยคะที่ไม่ใส่สี

2. ทางลมหายใจ

หลักๆ เลยคือคลาสปราณยมะ หรือคลาสที่ฝึกควบคุมลมหายใจ ซึ่งเป็นคลาสที่มีขั้นตอนปฏิบัติชัดเจน ใครที่อยากเรียนปราณยมะจริงๆ ไม่ควรเรียนไปเรื่อยเปื่อย ครูหลายๆ คนสอนได้แค่กระพี้แต่ไม่เข้าใจแก่นซึ่งทำให้เสียเวลาในการศึกษาและทำให้เกิดความสับสน ถ้าเป็นไปได้ควรหาครูที่รู้ภาพรวมและสามารถแจกแจงให้เข้าใจได้ชัดเจนจะต่อยอดได้ง่ายกว่า

ที่นี่เราจะเรียนจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วอาจารย์ก็จะสอดแทรกทฤษฎีไปตลอดทาง การปฏิบัติก็เรียนตั้งแต่การเตรียมร่างกายทุกส่วนพร้อมปรับปราณเชิงบวก — ลบ เตรียมลมหายใจทุกส่วนตั้งแต่อก กระบังลม ท้องน้อย ฝึกหายใจให้ได้ทุกส่วนอย่างเต็มที่ เตรียมปราณเปิดเส้นนาดี (เส้นทางลมหายใจ) แล้วจึงจะเข้าคลาสปราณแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งก็จะแบ่งเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มกระตุ้นการเผาผลาญ ขับท็อกซิก กลุ่มปรับดุลยภาพ กลุ่มชะลอความชรา กลุ่มมุทรา กลุ่มกษิณ และกลุ่มอภิญญา (สองกลุ่มหลังนี่ท่านไม่ได้สอน ท่านว่าจะเรียนได้ต้องฝึกท่ากระแทกไหล่ที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้ได้สักหนึ่งพันครั้งแบบต่อเนื่องก่อน เพราะสองกลุ่มนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือร่างกายขึ้นไปอีก ถ้าร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่จะเป็นอันตรายได้)

ในคลาสอาจารย์ก็ยังคงกระตุ้นให้ถามในจุดที่สงสัยเพราะปราณเป็นการฝึกที่เราไม่ได้เห็นชัดเจน ถ้าไม่เข้าใจจุดไหนต้องรีบถาม คนอื่นจะได้เข้าใจด้วย แต่ต้องระมัดระวังไม่ถามคำถามที่มันชัดเจนเกินไป (คำถามที่ไม่ฉลาด) จะเสียเวลาคนอื่นได้เพราะคลาสมีครั้งละชั่วโมงเดียว

คลาสปราณเป็นคลาสที่เปลี่ยนร่างกายกวางชัดเจนมากๆ อีกคลาสหนึ่ง เมื่อก่อนกวางขี้หนาวขนาดที่แอร์ในห้องนอนกวางก็เปิดแทบไม่ได้เลย ต้องเปิดพัดลมนอนเอา ทุกวันนี้แอร์ทำอะไรกวางไม่ได้แล้ว หลังการเรียนแค่สามสี่คลาส ร่างกายกวางสันดาปออกซิเจนได้ดีขึ้น ตอนนี้กวางกลายเป็นคนที่รับรู้อุณหภูมิได้ปกติเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ แล้วค่ะ (ออกจะขี้ร้อนด้วยซ้ำ)

3. ทางจิต

การศึกษาทางจิต หลักๆก็คือคลาสบรรยายวันเสาร์ของท่าน อาจารย์ไม่เคยมาสอนให้เรานั่งสมาธิ หรือสอนปรัชญานู่นนี่ เพราะท่านว่าสิ่งเหล่านั้นมีสอนอยู่แล้วในพระพุทธศาสนา และท่านเชื่อว่าถ้าคนที่ถึงเวลาก็จะเจอเส้นทางนี้เอง นานๆ ทีท่านก็มีพูดบ้าง แต่เวลาพูดทีทั้งคลาสก็จะมึนไปเลยเพราะบางทีภูมิหลังความเข้าใจในปรัชญาพุทธของเรายังไม่กว้างพอ

หลักๆของการเรียนคลาสบรรยายก็มีหลายอย่าง ตั้งแต่ปรัชญาโยคะที่เป็นสากล วิชาอยุรเวท คือเรียนเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เรื่องของการกำเนิด องค์ประกอบของมนุษย์พวกกายหยาบ กายละเอียด ตรีภพพวกนรก สวรรค์ โลกบาดาล ยมโลก (ซึ่งน่าจะมาจากวิชาตาราวาลัย ซึ่งเกี่ยวกับแผนที่สวรรค์ที่ท่านเรียนที่อินเดีย) ธาตุกำเนิด ธาตุเจ้าเรือน รวมถึงการเรียนอาสนะวิเคราะห์ พวกประโยชน์ของท่าก็เป็นส่วนหนึ่งของคลาสบรรยายด้วย หลายๆ อย่างกวางจะชอบมาก คือเวลาเรียนเราไม่ได้เรียนแค่ว่าเค้าเชื่อกันมาแบบนี้ๆๆ แต่ท่านจะอธิบายว่าที่มาของความเชื่อนี้คืออะไร เช่น ทำไมคนเกิดเดือนตุลาถึงมีนิสัยรักความยุติธรรม ท่านก็จะบอกว่ามันมาจากการศึกษาเรื่องสถิตินิสัยคนเกิดเดือนนี้ตั้งแต่โบราณ เค้าถึงได้กำหนดสัญลักษณ์เดือนเกิดเป็นรูปตาชั่ง และมันเป็นการศึกษาอิทธิพลของดวงดาว ที่เข้าใกล้ไกลโลก ทำให้คลื่นคอสมิกในบรรยากาศส่งผลต่อพฤติกรรม และอารมณ์ของคนราศีนี้

และเพราะนิสัยที่ท่านจบแพทย์ศาสตร์ เป็นคนสายวิทยาศาสตร์เต็มตัวเลยทำให้ท่านตั้งคำถามและหาคำตอบของทุกเรื่องที่ท่านสงสัย และถ้าไม่รู้ก็จะบอกตรงๆ ว่าไม่รู้ ไม่มีมามโน

มีคนเคยถามท่านว่าเรื่องนี้แพทย์แผนไทยบอกว่าอย่างนี้ แล้วทำไมมันไม่เหมือนกัน ท่านก็แจกแจงให้ฟังว่าแต่ละที่ก็มีความเชื่อของตัวเอง แต่ที่ท่านสอนคือศาสตร์ที่เป็นเรื่องสากลที่เค้ามีการศึกษากันมาแล้วว่ามีความเป็นไปได้ ท่านว่าหลายๆ เรื่องมันพิสูจน์ได้ยากเพราะไม่ใช่เรื่องที่จับต้องได้ แต่ก็ขอให้รู้ไว้ว่าในระดับสากลความเข้าใจมันคือแบบนี้ ระหว่างบรรยายท่านก็จะแทรกวิชาแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนปัจจุบันเป็นระยะๆ เราก็คุยกันไปเรื่อยเปื่อย เช่นป่วยในเชิงอายุรเวทมองว่าเกิดจากอะไร แพทย์ศาสตร์ว่ายังไง แล้วก็มีเรื่องของประวัติศาสตร์รวมถึงความรู้รอบตัวซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านสนใจศึกษาในระดับลึกอยู่แล้ว อย่างเช่น คุยกันเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาด้านในที่มีผลต่อมดลูก เยื่อบุมดลูก และช่องคลอดของผู้หญิงอยู่ดีๆ ท่านก็แทรกเรื่องเล่าว่าที่มองโกลเค้าจะทดสอบลูกสะใภ้ด้วยการให้หนีบไหที่ทาน้ำมันลื่นๆ ถ้าหนีบอยู่หรือบางคนถ้าขาด้านในแข็งแรงมากนี่หนีบไหแตกได้เลย นี่ถือว่าแข็งแรงมากมีลูกง่ายแน่นอน ส่วนผู้ชายกล้ามเนื้อส่วนนี้ก็ส่งผลต่อต่อมลูกหมาก

การศึกษาพวกนี้เป็นการศึกษาแบบองค์รวมที่กวางว่าหาเรียนที่ไหนไม่ได้ถ้าคนสอนไม่มีความรู้ที่ครอบคลุมจริงๆ และท่านว่าการเรียนเรื่องพวกนี้มันเหมือนการที่เราเตรียมดินก่อนที่เราจะไปลงเมล็ด (เรียนโยคะ) ยิ่งดินเราดีเท่าไหร่ เราปลูกพืชอะไรไปมันก็จะงอกงาม จากประสบการณ์ของกวางเอง ทุกอย่างที่กวางได้เรียนในคลาสพอถึงจุดที่เราพร้อมออกไปหาความรู้เพิ่มเติมต่อยอดเอง กวางค้นพบว่าความรู้เหล่านี้ช่วยกวางมากในการทำความเข้าใจองค์รวมของเรื่องต่างๆ มันเกิดเป็นความเข้าใจ ต่อยอด กระจายออกภายในที่ก็คงอธิบายให้คนอื่นฟังไม่ได้ แต่อาจารย์เคยสรุปไว้ให้ว่าเราเรียนเรื่องพวกนี้เพื่อให้เข้าใจตัวเราเอง เมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้วเราก็จะสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเส้นทางที่กวางพยายามจะเดินไป

สรุป

ร่ายมายาวขนาดนี้ก็คิดว่าคงพออธิบายได้แล้วว่าจริงๆ แล้วเสาร์ — อาทิตย์ของชีวิตกวางหายไปไหน กวางคิดว่ากวางเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีมากที่เจอเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างจริงจัง และโชคดียิ่งกว่านั้นคือการได้เจอครูบาอาจารย์ผู้ชี้เส้นทางเดินให้กับเรา แม้ว่ากวางจะอยู่คนละจังหวัดกับอาจารย์ก็ยังถือว่าโชคดีที่ไม่ได้ไกลเกินการขับรถไปเรียน ดังนั้นกวางก็คงจะขอเก็บเกี่ยวความรู้เต็มที่ให้สมกับที่รอคอยการศึกษานี้มาทั้งชีวิต เพราะกวางเป็นคนที่หลงทางด้านการเรียนมาตั้งแต่เด็ก เรียนสายวิทย์ก็ไม่ชอบ เปลี่ยนไปเรียนสายศิลป์ก็ไม่ใช่ เรียนเศรษฐศาสตร์ก็ผิด เรียนภาษาญี่ปุ่นก็ยังไม่ถูก สุดท้ายก็หาจนเจอ ดังนั้นจะบอกให้กวางเลิกเรียนแล้วทำงานอย่างเดียวมันคงทำได้ยากจริงๆ ค่ะ ขอเรียนไปทำงานไปแบบนี้จนกว่าอาจารย์จะเลิกสอนละกันนะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top