ฝึกหม้อทูนหัวครั้งแรก

โยคะแบบมีหม้อทูนหัวเป็นหนึ่งในคลาสที่กวางไม่เคยสอนมาก่อน แม้เราจะเป็นนักเรียนที่เรียนโยคะแบบมีหม้อทูนหัวเป็นระยะๆ มาเกือบสิบปี แต่ครั้งแรกที่เอามาสอนในฐานะครู ประสบการณ์มันแตกต่างจากตอนเราเป็นนักเรียนลิบลับ

เราเข้าใจวินาทีนั้นเลยว่าอาจารย์เราต้องจิตแข็งแค่ไหน เพราะตอนจังหวะที่นักเรียนทำหม้อหล่น ใจอิชั้นก็หล่นวูบไปกับนักเรียนด้วย 🤣

สังเกตเห็นว่าการที่จะฝึกแบบมีหม้อทูนหัวได้ดี ความสามารถในการเชื่อมโยงกับร่างกายอย่างเดียวไม่พอ แต่ผู้ฝึกต้องมีความยืดหยุ่นระดับนึง ระดับนึงในที่นี้หมายถึงยืดหยุ่นมากพอจนบุคลิกเค้ากลับมาอยู่ใกล้เคียงกับจุดศูนย์ถ่วงพอสมควร

เพราะหม้อจะบังคับให้เรายืดหลังตรง เก็บท้อง และหน้ามองตรงโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าร่างกายยังคงตึงมาก จุดศูนย์ถ่วงยังไม่ตรง มีหลังค่อม มีก้นแอ่น มีก้นแฟบ (Lordosis, Kyphosis) การฝึกทูนหม้อจะกลายเป็นความทรมานทันทีเพราะร่างกายยังไม่พร้อมทำให้หาจุดศูนย์ถ่วงไม่ค่อยเจอ

การเป็นครูผู้สอนโยคะในพาร์ทนึงก็เป็นช่วงเวลาของการชดใช้กรรม อะไรที่เราเคยทำตอนเด็กๆ หม้อหล่นกลางคลาสอาจารย์อยู่เป็นปีๆ ใจเราคิดว่าเราไม่เก่งทำอาจารย์รำคาญ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าอาจารย์เราเองก็คงลุ้นในใจให้เราทำได้ไปด้วยเหมือนกัน (หรือแกไม่คิดหว่า?) หรือเราเคยไปฝึกคลาสต่างๆ แล้วร่างไม่ไหว ใจไม่พร้อมเดินออกจากคลาสกลางคันหลายครั้ง พอเป็นครูที่มีนักเรียนทำแบบนั้นบ้างก็ต้องฝึกใจให้ปล่อยวาง เพราะทำกับครูคนอื่นไว้เยอะ 🤣

ทุกอย่างก็เป็นการฝึกตัวเรา ฝึกใจของเราอีกที

หากมองว่าชีวิตนี้ทุกอย่างคือการเรียนรู้ ปล่อยวาง และเติบโต เราก็จะไม่ทุกข์กับมันมาก ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนบทเรียนที่เข้ามาเพื่อฝึกเรา และหลายๆ ครั้งเราก็ต้องพาตัวเองออกจาก comfort zone บ้างเพื่อฝึกตัวเอง ถ้าอยู่ในพื้นที่เดิมจนเชี่ยวชาญ ก็พาตัวเองออกมาในพื้นที่ใหม่เพื่อกลับไปเป็นผู้ไม่เชี่ยวชาญบ้าง เป็นการฝึกฝนและพัฒนาต่อยอดตัวเองต่อไป

ใจพร้อมก็ไป ใจไม่ไหวก็นอน คิดอะไรมากมาย 🙃

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top