รีวิวคลาสโยคะ 7 ประเภทจากประสบการณ์

หลังจากฝึกโยคะมาหลายปี ได้ลองเรียนโยคะหลายสไตล์ วันนี้กวางเลยอยากลองสรุปออกมาว่าโยคะแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้ฝึกใหม่ทุกคน ลองอ่านกันดูนะคะ 💕

ตอนที่เริ่มฝึกโยคะแรกๆ เรารู้จักโยคะอยู่แค่แบบเดียวคือหฐโยคะ เพราะศูนย์โยคะที่เราไปฝึกด้วยชื่อว่า หฐราชาโยคาศรม เราก็พอรู้ว่า อ๋อ โยคะแบบนี้คือหฐนะ พอเราอยู่ในโลกของโยคะไปเรื่อยๆ เริ่มอ่านมากขึ้น ศึกษามากขึ้น เราก็เริ่มได้ยินสายโยคะแบบอื่นๆ ผ่านหูมากขึ้น สุดท้ายเลยตัดสินใจออกไปท่องยุทธจักรโยคะอยู่สองปี ไปลองเรียนดูว่าสายอื่นเค้าเป็นยังไง เค้าเรียนอะไรกัน เพราะกลัวว่าจะพลาดเดี๋ยวเราไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด

วันนี้เลยอยากจะมาเล่าถึงโยคะสายต่างๆ จากประสบการณ์ช่วงที่กวางไปท่องโลกและแบ่งปันคำบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ของโยคะจากอาจารย์ของกวางให้ได้ฟังกันค่ะ

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจก่อนว่า ในสมัยก่อนนั้นโยคะมีแค่โยคะหนึ่งเดียว ไม่ได้แตกแขนงหรือมีการแบ่งแยกสายกันอย่างทุกวันนี้ ไม่มีวินยาสะ ไม่มีหยิน ทุกอย่างคือโยคะเหมือนกันหมด โดยเราเรียกรวมโยคะทุกอย่างว่า “หฐโยคะ (อ่านว่า หะ-ฐะ)” มีความหมายว่าโยคะภาคกาย ซึ่งอันนี้ก็เป็นที่มาของชื่อศูนย์โยคะที่กวางเป็นลูกศิษย์อยู่ที่ชื่อว่า หฐราชาโยคาศรม

หฐ คือโยคะภาคกาย
ราชา คือโยคะภาคจิต

หฐราชาโยคาศรมคือ อาศรมที่ให้ความสำคัญกับการฝึกโยคะทั้งทางภาคกายและภาคจิต (แปลมันซื่อๆ แบบนี้แหละ)
แต่ในยุคของ Modern yoga เมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา โยคะได้เริ่มเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมากขึ้นโดยเริ่มมาจากที่ชนชั้นสูงในยุโรปได้เริ่มฝึกโยคะ จากคำบอกเล่าของอาจารย์ผู้จบแพทย์ศาสตร์จากเยอรมันนี ทางประเทศที่พัฒนาแล้ว

อย่างเยอรมันนีก็ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์โยคะอย่างเป็นระบบมากขึ้นเพียงแต่ว่าไม่ได้รู้กันอย่างแพร่หลายมากนักเพราะทุกอย่างเป็นภาษาเยอรมัน

โยคะมาแพร่หลายขึ้นตอนที่อังกฤษได้นำความรู้ของศาสตร์โยคะมาเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษและมีการกระจายไปทางประเทศอเมริกา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โยคะกลายเป็นการฝึกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างจริงๆ

ทีนี้พอโยคะได้มีการเผยแพร่ไปทางยุโรป สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดสไตล์การสอนแบบไอเยนการ์ขึ้นมา (คำอธิบายเพิ่มเติมที่ด้านล่างค่ะ) คือ คนตะวันตกเค้าไม่ได้เข้าถึงเรื่องของจิตใจได้เหมือนคนตะวันออก ดังนั้นสมัยนั้นเลยต้องใช้การจัดระเบียบร่างกายเข้ามาเพื่อให้เค้ากลับมาโฟกัสอยู่กับร่างกายของตัวเองได้ง่ายขึ้น จึงเกิดคำว่า “การจัดระเบียบร่างกาย” ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ฝึกได้เอาจิตไปโฟกัสอยู่ที่ร่างกายแทน

การเริ่มแตกแขนงของสายโยคะก็น่าจะเริ่มต้นขึ้นจากจุดนั้น คือเมื่อก่อนโยคะเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ เป็นเหมือนของกลางของส่วนรวม แต่ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ฝึกปฏิบัติกันในหมู่ของนักบวช พราหมณ์ มุนี โยคี จะมีก็เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาที่ได้เริ่มมีการเผยแพร่เข้าสู่สาธารณชนคนธรรมดา แต่ก็มีบางส่วนที่ได้รับการสงวนไว้เพื่อถ่ายทอดจากครูสู่ศิษย์เฉพาะกลุ่มอย่างเช่น การฝึกปราณยมะชั้นสูงต่างๆ (ยิ่งชั้นสูงมากยิ่งมีความซับซ้อนและอันตรายมาก – ไม่เคยฝึกเหมือนกันค่ะ ส่วนใหญ่ศาสตร์พวกนี้จะอยู่ในสายของนักบวชฮินดู)

เคยถามอาจารย์เหมือนกันว่าพอโยคะแพร่หลายออกไปมากขึ้น มีการติดแบรนด์ให้โยคะมากมาย บางทีก็มีการบิดเบือนวิธีฝึกปฏิบัติออกไปตามแบบคนสมัยใหม่ที่หลายครั้งก็คิดเองเออเอง ไม่ได้ถูกทดสอบผ่านกาลเวลาเหมือนวิธีการฝึกแบบดั้งเดิม แล้วทำไมโยคีที่เป็นผู้รู้ถึงไม่มีใครออกมาเตือนอะไรบ้าง อาจารย์ตอบมาสั้นๆ แค่คำเดียวว่า “มันเป็นเรื่องของทางโลกไม่ใช่เรื่องของโยคีนี่ลูก” ก็ จบข่าว

ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีโยคะหลายประเภทอย่างในปัจจุบันกวางมองว่าทำให้คนเลือกฝึกได้ง่ายขึ้น เหมือนเราพอจะรู้เลาๆ ว่าคลาสนี้จะฝึกหนักหรือเบา คลาสจะไปในทิศทางไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคลาสโยคะเกือบ 100% ขึ้นอยู่กับจริตของครูผู้สอน ดังนั้นมากกว่าการตามหาประเภท (สำหรับกวาง) สิ่งสำคัญคือการตามหาจริตครูที่ตรงกับจริตของเราค่ะ

1. หฐโยคะ (Hatha yoga)

หฐ คือ โยคะภาคกาย ดังนั้นในสมัยก่อนโยคะทุกประเภทที่ฝึกด้วยร่างกายก็คือหฐทั้งหมด ในคลาสหฐอาจจะมีการสอดแทรกปราณยมะพื้นฐานไปด้วยบางส่วน เพราะก็เป็นการฝึกที่สอดคล้องกันคือ ช่วยเตรียมจิตและเตรียมลมหายใจของเราให้พร้อมก่อนการเริ่มฝึกโยคะ

ในสมัยปัจจุบันเมื่อเอ่ยถึง หฐโยคะ สตูดิโอทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นคลาสพื้นฐานที่เน้นยืดเหยียด เหนื่อยบ้างแต่ไม่หนักหน่วง เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกโยคะ อย่างกวางเองถ้าได้ยินคำว่าหฐ ในสมองก็จะเลือกจัดคลาสสอนแบบทำทีละท่าๆ ไม่ได้มีการร้อยท่าเข้าด้วยกัน ซึ่งมือใหม่ก็จะตามง่ายกว่า ในคอร์สออนไลน์ชุดแรกของกวางเองก็ถือเป็นหฐ และอาจจะมีแทรกวินยาสะนิดหน่อย พอเป็นสีสัน

ทีนี้ในสมัยปัจจุบันคลาสหลายๆ ประเภทนั้นถูกผสมปนเปกันไปหมด มีครั้งหนึ่งกวางไปวิ่งออกกำลังกายหนักๆ มา แล้วก็ตั้งใจว่าวันถัดไปจะไปฝึกโยคะ ตั้งใจเลือกเป็นคลาสหฐเพราะรู้ว่าร่างกายต้องช้ำมาแน่นอน แต่พอไปถึงไม่รู้ทำไมครูสอนหนักมากกก โกรธครูมากพูดเลย แต่ด้วยความเกรงใจก็อยู่ฝึกจนจบแต่ก็ไม่กลับไปที่สตูนั้นอีกเลย

แล้วจริงๆ หลังจากเจอเหตุการณ์ที่ว่ามา กวางก็ลองไปหาข้อมูลของคลาสหฐในต่างประเทศ ก็ได้ความหมายเดียวกับที่เราเข้าใจคือเป็นคลาสพื้นฐาน เหมาะสำหรับมือใหม่ อันนี้ก็เลยคิดว่าบางทีชื่อคลาสก็เชื่อถือไม่ได้เสมอไป อาจจะต้องไปลองเรียนกับครูเป็นรายบุคคลดู เพราะคลาสเบาของครูบางทีก็ไม่ใช่คลาสเบาของเราค่ะ

2. วินยาสะโยคะ/ โฟล์วโยคะ (Vinyasa/ Flow yoga)

วินยาสะ มีความหมายในสายโยคะว่าการเคลื่อนไหวร่างกายผสานกับลมหายใจ จุดเริ่มต้นของคำนี้น่าจะมาจากสายอาชทังก้าโยคะเพราะเป็นโยคะสายที่มีความชัดเจนที่สุดในเรื่องของการกำหนดท่าและลมหายใจที่สอดคล้องกันตลอดชุดท่าอาสนะทั้ง 6 ชุด รวมถึงในสายอาชทังก้าเมื่อครูบอกว่า “ทำวินยาสะ” นักเรียนสายอาชทังก้าก็จะรู้กันว่าหมายถึงให้ทำท่า Chaturangasana – Upward facing dog – Downward facing dog

ในสมัยปัจจุบันเมื่อพูดถึงวินยาสะโยคะ เรามักจะนึกถึงคลาสที่เน้นความต่อเนื่องและร้อยเรียงกันของท่าอาสนะ มีความหลากหลายในชุดท่า ฝึกแล้วสนุก ไม่น่าเบื่อ การที่ท่ามีความต่อเนื่องกันยังมีข้อดีอีกอย่างคือลมหายใจของเราก็จะต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เหมือนคลาสจะไหลไปไม่หยุด ฝึกแล้วได้ทั้งสมาธิและความเพลิดเพลิน

คลาสแบบนี้เป็นที่นิยมของนักเรียนที่ชอบความหลากหลาย ไม่จำเจ ความหนักหรือเบาของคลาสก็ขึ้นอยู่กับการตั้งชื่อเสริมเข้าไป เช่น power vinyasa – หนัก เหงื่อท่วม vinyasa – กลางๆ เน้นเพลิน ได้ออกกำลังกายและได้เหงื่อมากกว่าหฐโยคะ

ส่วนตัวกวางชอบแนว หฐวินยาสะมากกว่ารูปแบบอื่นเพราะเราเป็นคนเบื่อง่าย ไม่ได้ชอบฝึกหนักทุกวัน และส่วนใหญ่ไม่ชอบฝึกหนักเกินไป คือพอฝึกโยคะมาหลายปีเรารู้แล้วว่าเราต้องการอะไรจากการฝึกบ้าง เราขอแค่สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กระฉับกระเฉงจนแก่ (และดูอ่อนวัยด้วยถ้าเป็นไปได้) แต่นอกเหนือจากนั้นพวกท่ายากเป็นผลพลอยได้ที่เราไม่เน้น ขอไปแบบสบายๆ ฝึกได้ไม่เบื่อจนตายก็คือแฮปปี้

ทำให้คลาสส่วนใหญ่ที่กวางสอนก็คือจะเน้นเพื่อคนประเภทเดียวกันคือ อยากสุขภาพแข็งแรง อาจจะมีหนักบ้างในคลาสที่ต้องเปิดส่วนที่เปิดยากจริงๆ อย่างสะโพก หลัง อันนี้ต้องวอร์มเยอะ วอร์มให้ถึงก็จะหนักหน่อย แต่ถ้าโดย 80% ก็คือจะเป็นหฐวินยาสะที่ไม่เน้นว่าฝึกแล้วต้องได้อะไร แค่ได้ออกกำลังกาย และได้พักใจจากการใช้ชีวิต เท่านั้นก็เพียงพอค่ะ

3. อาชทังก้าโยคะ/ อัษฎางคโยคะ (Ashtanga yoga)

กวางเคยเขียนเล่าเกี่ยวกับโยคะสายนี้ไว้ ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

อาชทังก้าโยคะมีต้นสายมาจากท่าน Sri K. Pattabhi Jois (ไม่กล้าอ่านชื่อ ผิดชัว) เป็นผู้เริ่มต้นเอาชุดท่ามาต่อกันจนได้ทั้งหมด 6 ชุดท่า ความยาวในการฝึกของแต่ละชุดคือ 90 นาทีถึงสองชั่วโมง สายนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้ฝึกที่ชอบความท้าทายเพราะชุดท่ามีความหนักหน่วงต่างจากสายอื่นอย่างชัดเจน

นอกจากความยากของชุดท่าแล้วสิ่งที่พิเศษของสายนี้คือเรื่องของสมาธิ เนื่องจากโยคะสายนี้จะล็อกท่าเข้ากับลมหายใจตลอดเวลาที่ฝึก ทำให้ผู้ฝึกได้อยู่กับลมหายใจและร่างกายของตัวเองจริงๆ ยิ่งถ้าฝึกเองที่บ้าน กวางพบว่ามันไม่ต่างอะไรกับการเดินจงกรมเลย และเป็นการฝึกโยคะจงกรมที่หนักหน่วงมากด้วย

โดยส่วนตัวกวางฝึกอาชทังก้าโยคะสลับกับวินยาสะ เพราะกวางพบว่าอาชทังก้าเองก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง ยิ่งถ้าวันไหนเราตัวตึงหรือคอตึงมาจากการทำงาน การมาฝึกอาชทังก้าที่เน้นแข็งแรงมากกว่ายืดหยุ่นก็สามารถทำให้เราบาดเจ็บได้เหมือนกัน (โดนมาแล้ว) นอกจากนี้เนื่องจากสายนี้จะฝึกเฉพาะท่าที่ได้รับจากครู หมายความว่าตราบเท่าที่เรายังไม่ได้รับท่าเพิ่ม บางท่าเราก็อาจจะไม่เคยได้ลองฝึกเลย แล้วจะได้ฝึกเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครบอกได้เสียด้วย

ทั้งนี้สายอาชทังก้าเป็นที่ร่ำลือกันว่าหลายคนเลิกฝึกและกลับไปฝึกวินยาสะแทน เพราะอาชทังก้ามีกฎยิบย่อยคือ ผู้ฝึกควรฝึกตอนเช้าหกวันต่อสัปดาห์ จะหยุดฝึกได้เฉพาะวันพระจันทร์เต็มดวงที่เค้าเรียกว่า Moonday และวันที่มีประจำเดือนสำหรับผู้หญิงที่เรียกว่า Lady’s holiday

ถ้าเป็นคนที่ตึงมากชอบทำตามกฎเป๊ะๆ โอกาสที่จะเลิกฝึกมีสูงมากเพราะมันยากที่เราจะมีวินัยได้ตลอด แต่เนื่องจากกวางเป็นคนชิว ฝึกหลายอย่างควบคู่กันไปอยู่แล้ว ซึ่งลักษณะนี้ก็จะพัฒนายากหน่อย (สงสารครูเราจุง) หลังจากฝึกสายนี้มาสองสามปีกวางเคยหยุดฝึกนานสุด 20 วัน (ล่าสุดนี่เอง) พอกลับมาฝึกใหม่ รู้เลยว่าสายนี้หนักมากเพราะกว่าจะฝึกจบหน้ามืดไป 5 รอบ ทั้งๆ ที่ 20 วันนี้กวางไม่ได้เลิกฝึกโยคะ แค่ไม่ได้ฝึกอาชทังก้าเฉยๆ ส่วนตัวรู้สึกว่ามันไม่ได้เหมาะกับทุกคน และเข้าใจเลยตอนที่เคยได้ยินว่าอาชทังก้านั้นเหมาะกับครูสอนโยคะเป็นหลัก คือถ้าชีวิตจะต้องทำอย่างอื่นด้วย การฝึกโยคะที่ต้องทุ่มเทเลเวลนี้คือยากมากจริงๆ

แต่กวางก็ยังฝึกนะคะ กระดึ๊บไป ไม่ได้อยากไปที่ไหนเป็นพิเศษอยู่แล้วเพียงแค่อยากฝึกอะไรที่ได้สมาธิ ได้ท้าทายร่างกายและจิตใจของเราอยู่เรื่อยๆ ค่ะ

4. พาวเวอร์โยคะ (Power yoga)

พาวเวอร์โยคะนั้นเชื่อกันว่ามีต้นทางมาจากลูกศิษย์ของสายอาชทังก้าโยคะ เหมาะสำหรับผู้ฝึกที่ชื่นชอบความหนักหน่วงของอาชทังก้า แต่ก็ไม่อยากละทิ้งความหลากหลายของสายวินยาสะ พาวเวอร์โยคะหรือพาวเวอร์วินยาสะ เป็นคำที่มักใช้เรียกคลาสลักษณะนี้

สายนี้สำหรับกวางที่ต้นทางเรียนมากับครูสายตะวันออกก็จะเห็นความต่างค่อนข้างชัดเจนอยู่เรื่องหนึ่งคือ การมี peak pose (ท่าเป้าหมาย) หลายครั้งครูอาจจะตั้งชื่อคลาสบอกชัดเจนเลย เช่น คลาสนี้เน้นเปิดสะโพก คลาสเปิดหน้าอก หรือบอกท่าเป้าหมายไปในชื่อคลาสเช่น คลาสนี้ฝึกเพื่อพาเข้าท่าเข็มทิศ ท่าพินชามยุราสนะ ซึ่งก็เป็นข้อดีทำให้ผู้ฝึกที่ต้องการเน้นฝึกเฉพาะจุดสามารถเลือกคลาสได้ง่ายขึ้น

คลาสพาวเวอร์โยคะหรือพาวเวอร์วินยาสะจะมีการฝึกที่ค่อนข้างหนัก มีการวอร์มร่างกายเยอะหน่อยเพื่อเตรียมเปิดร่างกายสำหรับการทำท่าเป้าหมายตอนช่วงท้ายๆ ของคลาส โดยส่วนตัวกวางคิดว่าสายนี้สนุกและท้าทาย แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสฝึกบ่อย สำหรับผู้ฝึกคนไหนที่ชอบฝึกท่ายากสายนี้ก็ตอบโจทย์มากๆ เลยค่ะ

5. หยินโยคะ/ โยคะฟื้นฟู (Yin/ Restorative yoga)

หยินโยคะเป็นคลาสโยคะที่เคลื่อนไหวช้าๆ เน้นการผ่อนคลายและการมีสมาธิอยู่กับร่างกายของตัวเอง โยคะประเภทนี้จะมีการค้างท่านานกว่าแบบอื่นคือราวๆ 1–5 นาทีต่อท่า เพื่อให้แรงโน้มถ่วงค่อยๆ ช่วยเปิดและพาร่างกายของเราให้ยืดหยุ่นได้เพิ่มขึ้น ในคลาสหยินเราอาจจะเห็นการใช้อุปกรณ์จำพวกบล๊อก หมอนอันใหญ่ ผ้าห่ม ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะช่วยเพิ่มความสบายในการค้างท่าให้กับหยิน

การฝึกหยินจะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนเลือดตามข้อต่อ ช่วยยืดเส้นเอ็น พังผืด และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจุดนี้จะต่างจากในคลาสโยคะทั่วไปนิดหน่อยตรงที่โยคะทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ หลายคนจะพบว่าการฝึกหยินนั้นช่วยปรับสมดุล ทำให้ผ่อนคลายและช่วยฟื้นฟูร่างกายได้ดีหลังการฝึกโยคะหรือการออกกำลังกายที่หนักหน่วงกว่ามา

ส่วนตัวกวางเคยลองฝึกหยินครั้งเดียว สำหรับรอบแรกที่ฝึกรู้สึกว่าช้าไป และค้างนานไปหน่อย ในบางท่าที่เน้นผ่อนคลายก็ให้ความรู้สึกเหมือนมานอน แต่หลายท่าที่เน้นยืดก็มีบ้างที่รู้สึกไม่ปลอดภัยเนื่องจากค้างนานไปนิดนึง แต่ก็ไม่ได้ถอดใจจากสายนี้นะคะ มีแพลนว่าจะไปลองครูคนอื่นเพิ่ม เพราะก็คิดว่าน่าจะมีคนที่ถูกจริตเราอยู่ค่ะ

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าหลายๆ สายของโยคะเหล่านี้ถูกคิดค้นโดยชาวตะวันตก ดังนั้นหลายๆ อันอาจจะมีการสอดแทรกในเรื่องของการได้เข้าถึงจิตใจตัวเอง เรื่องสมาธิ จิตวิญญาน ซึ่งสำหรับชาวตะวันตกที่ห่างไกลจากเรื่องของจิตแล้ว โยคะรูปแบบนี้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เค้าเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นด้วย

6. บิแครมโยคะ/ โยคะร้อน (Bikram/ Hot yoga)

บิแครมโยคะเป็นคลาสโยคะที่ป๊อบมากๆ ในอเมริกาช่วง 20–30 ปีที่ผ่านมา เป็นต้นแบบของคลาสโยคะร้อนทั่วโลกก็ว่าได้ คลาสนี้ถูกคิดค้นโดย Bikram Choudhury ประกอบด้วยชุดท่าโยคะ 26 ท่าที่ฝึกให้ห้องที่ถูกทำให้ร้อนเหมือนกับซาวน่ามีอุณหภูมิราวๆ 40 องศาเซลเซียส

การฝึกให้ห้องที่ร้อน (เค้าอ้างว่า) จะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยให้เราเข้าท่าได้ลึกขึ้น รวมถึงหลายคนพบว่าโยคะร้อนช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดี เพราะคลาสมีความหนักหน่วงพอสมควร นักเรียนมักได้รับคำแนะนำให้เตรียมผ้าและกระบอกน้ำเข้าคลาสไปด้วย เพราะการันตีว่าเหงื่อท่วมแน่นอน

ตามต่างจังหวัดที่กวางเคยไปฝึก หลายๆ ที่จะใช้หม้อต้มน้ำให้เดือดและใส่สมุนไพรแทน ห้องฝึกก็จะร้อนชื้นกำลังดีและมีกลิ่นหอมสมุนไพรด้วย

โดยส่วนตัวเวลาฝึกโยคะร้อนจะคำนึงเรื่องเดียวคือสุขอนามัยของห้องฝึก เนื่องจากเป็นห้องที่เหงื่อเยอะมาก ถ้าสถานที่นั้นมีแม่บ้านดูแลประจำก็เบาใจได้ แต่ถ้าดูแล้วว่าไม่น่าจะได้ทำความสะอาดบ่อยก็จะรู้สึกไปเองว่าไม่ค่อยสะอาด ถ้าให้เลือกก็จะชอบคลาสที่มีอากาศโปร่งและลมผ่านมากกว่า

ส่วนชุดท่าที่ใช้ฝึกในห้องโยคะร้อนอันนี้ก็แล้วแต่ครูเลยค่ะ กวางเคยเจอตั้งแต่ฝึกหนักมากจนถึงกลางๆ พอตามได้ อันนี้แล้วแต่จริตของผู้สอนจริงๆ อยากรู้ว่าชอบไม่ชอบก็แนะนำว่าต้องลองค่ะ

ส่วนเรื่องการฝึกในอุณหภูมิห้องที่ร้อน เคยสอบถามกับอาจารย์ ท่านก็เล่าว่าในอินเดียที่ๆ อากาศหนาวเค้าก็มีฝึกโยคะร้อนกันจริงๆ แต่ถ้าในอินเดียใต้ที่อากาศร้อนอยู่แล้วเค้าก็ฝึกในห้องที่มีอุณหภูมิปกติกัน และมักจะเลี่ยงไปฝึกโยคะกันในเวลาเย็นหรือตอนเช้ามืดแทน ไม่นิยมฝึกตอนกลางวันที่อุณหภูมิสูงมากๆ เพราะจะทำให้ความดันเลือดพุ่งสูง อาจจะไม่เป็นผลดีต่อร่างกายค่ะ

7. ไอเยนการ์โยคะ (Iyengar yoga)

ไอเยนการ์โยคะถูกพัฒนาและต่อยอดโดยท่าน B.K.S Iyengar ซึ่งเป็นหนึ่งในครูโยคะที่ทรงอิทธิพลแห่งยุค คลาสนี้จะเน้นการจัดปรับระเบียบร่างกายในแต่ละท่าอาสนะอย่างละเอียด มีการใช้อุปกรณ์พวกเชือก บล๊อก เก้าอี้ ผ้าห่ม หมอน เป็นตัวช่วยให้เข้าท่าได้ดีขึ้น สมดุลมากขึ้น โดยปกติในหนึ่งคลาสอาจจะมีการฝึกอยู่ไม่กี่ท่า แต่ทุกท่าจะไปอย่างถูกต้องและละเอียดยิบ

ทำให้ครูโยคะในสายนี้จะต้องเข้าใจเรื่องสรีรศาสตร์มากกว่าประเภทอื่น เพราะสายนี้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดปรับสมดุลร่างกาย ปรับท่าสำหรับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บเรื้อรังมา

ส่วนตัวเคยเรียนคลาสไอเยนการ์แค่ครั้งเดียว ในคลาสหนึ่งชั่วโมงวันนั้นฝึกกันประมาณสามท่า (ร้องห้ายยย) และมีอุปกรณ์ช่วยจัดปรับท่า รวมถึงครูก็จะช่วยเดินดูและปรับท่าเราอย่างละเอียด แต่ยอมรับว่าเข้าถึงยาก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องละเอียดขนาดนั้น ถ้าจะปรับสมดุลของกล้ามเนื้อระดับนั้นจริงๆ ไปกายภาพบำบัดเลยน่าจะตรงกว่า

ส่วนโยคะอีกสองสายข้างล่างนี้ตัวกวางเองไม่เคยเรียนแต่เอามานำเสนอเพราะเห็นว่ามีการสอนในประเทศไทยค่ะ ใครที่สนใจก็ไปลองดูกันได้ค่ะ

8. อนุสราโยคะ (Anusara yoga)

เป็นสายที่ถูกคิดค้นโดย John Friend เน้นในเรื่องของการจัดระเบียบร่างกาย ควบคู่ไปกับการใช้ภาษาที่ช่วยกระตุ้นให้เราเข้าสู่ท่าอาสนะได้อย่างลื่นไหลและสวยงาม

9. ศิวะนันทะโยคะ (Sivananda yoga)

คิดค้นโดย Swami Sivananda เป็นคลาสที่มีท่าโยคะ 12 ท่า ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกระดูกสันหลัง การสวดมนต์และนั่งสมาธิก็เป็นส่วนหนึ่งของคลาสศิวะนันทะด้วยเช่นกัน

———————

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งจากประสบการณ์การฝึกของกวาง อาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดเพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความเห็นของกวางเพียงคนเดียว และอย่างที่เราพอเข้าใจกันว่าครูทุกคนล้วนมีจริตของตัวเองในการสอน บางทีหากเราเจอครูที่ดีไม่ว่าจะเป็นโยคะสายไหนเราก็อาจจะตกหลุมรักก็ได้ ดังนั้นถ้าใครที่ยังไม่เจอก็อย่าย่อท้อนะคะ หาต่อไปค่ะ สักวันต้องเป็นวันของเรา


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *