New Year Resolution Planing 101

วางแผนเป้าหมายปีใหม่ 101

ช่วงใกล้สิ้นปีจะมีหนังสือเล่มนึงที่กวางจะหยิบมาอ่าน (ปีนี้ทำเป็นปีที่สอง) คือ #Doitall เป็นหนังสือของ Mitchell Harper ผู้ชายที่สร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จห้าบริษัท และมีความคลั่งไคล้ในเรื่องวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเค้าเสาะหาและทดลองใช้มาแล้วเกือบทุกวิธีในโลก (เค้าบอกว่างั้นนะ) แล้วก็รวบรวมวิธีที่ได้ผลที่สุดสำหรับเค้ามาใส่ไว้ในเล่มนี้

กวางก็ถือโอกาสต้นปีแบ่งปันเทคนิคง่ายๆ ในการวางแผนเป้าหมายปีใหม่หรือ New Year Resolution ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ โดยจะขอแชร์วิธีที่กวางใช้เองจริงๆ และทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ยากค่ะ

1. ตั้งเป้าหมายโดยแยกตามหัวข้อ
ใช้เวลาสักหนึ่งหรือสองสัปดาห์ต้นปีค่อยๆ เขียนออกมาว่าเรามีเป้าหมายอะไรบ้างที่เราต้องการจะไปให้ถึงในปีนี้ เขียนออกมาก่อนให้หมดก่อนว่าเป้านั้นคืออะไร แล้วค่อยมาจับเข้าหัวข้อทีหลัง เช่น เรื่องงาน การศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ การเงิน ประกัน การลงทุน สุขภาพ การออกกำลังกาย การท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ งานอดิเรก การปฏิบัติธรรม เป็นต้น

สมมติอยากลดน้ำหนักจาก 58 เหลือ 54 กิโลกรัม/ ออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี/ลงแข่งวิ่งมาราธอนตอนสิ้นปี ก็จะอยู่ในหัวข้อ “การออกกำลังกาย”

เก็บเงินให้ได้หนึ่งหมื่นบาททุกเดือนอย่างน้อยหกเดือน/กระจายซื้อ LTF RMF ทุกเดือนตลอดปี/ วางแผนประกันจนถึงหลังเกษียณให้เรียบร้อยภายในปีนี้ อาจจะรวมเป็นหัวข้อเดียวกันใน “การเงิน & การลงทุน”

2. เขียนเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังของปี 2018
ข้อนี้เป็นข้อที่ได้ผลกับกวางมากในปีที่ผ่านมา คือหลังจากที่เราแยกเป้าหมายออกเป็นข้อๆ แล้ว เค้าก็ให้เราเขียนเล่าเกี่ยวกับความสำเร็จตามเป้าหมายของเราในปี 2018 ราวกับว่าเรื่องนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้วจริงๆ แล้วเรากำลังเขียนเล่าเรื่องในอดีตอยู่ (คือให้สมมติว่าเรากำลังเขียนเรื่องนี้ตอนสิ้นปี 2018 นู่น)

โดยแรกเริ่มให้จัดลำดับความสำคัญก่อนว่าเป้าหมายไหนมีความสำคัญกับเรามากที่สุด ให้เอาเป้าหมายนั้นไว้บนสุดแล้วค่อยๆ ไล่ลำดับความสำคัญลงมา ให้เขียนเป้าหมายละหนึ่งย่อหน้า บอกเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับความสำเร็จในเป้าหมายนั้นๆ และให้เขียนว่าการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้มีความสำคัญยังไงกับชีวิตเรา (อย่าลืมเขียนเป็นรูปอดีต!)

ในหนังสือเขียนว่าการทำแบบนี้จะเป็นการหลอกสมองและจิตใต้สำนึกของเราให้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และสุดท้ายสมองจะพยายามทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา

3. วางแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ
หัวข้อนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของตัวเราเลย เช่น เป้าหมายว่าอยากลดน้ำหนักจาก 58 เหลือ 54 กิโลกรัม พร้อมกับได้สุขภาพที่แข็งแรง ร่างกายกระชับสวยงาม และบุคลิกที่ดูดี

พอได้เป้าหมายมาแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการวางแผน ส่วนตัวกวางวางแผนทีละไตรมาสเพราะถ้าไกลไปมันทำให้ชัดเจนได้ยาก ทำทีละไตรมาสแล้วแบ่งซอยเป็นรายวัน ทำทุกวันให้ดีที่สุดจะเป็นรูปธรรมกว่า ขั้นตอนการวางแผนก็มีดังนี้

3.1 ตอบคำถามตัวเองก่อนว่าเราจะทำทำไม? WHY?
เราควรจะคิดข้อนี้อย่างจริงจัง จนมันตกผลึกว่าทำไมเราต้องทำมันจริงๆ มันสำคัญกับชีวิตเราถึงขั้นที่ต้องทุ่มเทขนาดไหน ถ้า “ทำไม” ของเรามันหนักแน่นพอ เราจะใช้มันเตือนตัวเองเพื่อพาเราไปสู่เป้าหมายได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ถ้ามันไม่หนักแน่นพอสุดท้ายเราก็อาจจะล้มเลิกเป้าหมายนี้ไปในที่สุด

3.2 เข้าใจพื้นฐาน
เราต้องเข้าใจสิ่งที่เราจะทำก่อน เช่น ถ้าอยากแค่ลดน้ำหนักเฉยๆ ลองลดอาหารดูน้ำหนักก็ลงแล้ว แต่ถ้าอยากแข็งแรง กระชับ และบุคลิกดีด้วย ก็ต้องวางแผนการออกกำลังกายเพิ่มเข้าไป

อาจจะเริ่มจากศึกษาคนอื่นๆ ก่อนว่าเค้าเริ่มกันยังไง ส่วนตัวกวางมองว่าการวิ่งควบคู่กับโยคะจะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ดี ทีนี้ก็ต้องมาดูก่อนว่าจะโยคะที่ไหน จะวิ่งที่ไหน วิ่งแบบไหน ลองอ่านพันทิพ ลองค้นหาในยูทูป ดูเรื่องอาหารไว้บ้างว่าออกกำลังกายแล้วต้องกินอะไรที่จะทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่เพลียง่าย กินตอนไหน นอนประมาณไหน

ทำความเข้าใจเส้นทางคร่าวๆ เท่าที่เราจะพอทำได้ ข้อมูลหาได้มากมายในอินเตอร์เน็ต เพราะถ้าเรามีแผนการคร่าวๆ ว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เราจะไม่หลงทาง ไม่เสียเวลา และโอกาสที่จะทำสำเร็จก็จะสูงขึ้นมาก

แต่ถ้าเราเริ่มโดยไม่หาข้อมูลเลย บางทีเราอาจจะมีช่วงที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเพลียจัง ควรพักหรือควรซ้อมต่อ ทำไมวิ่งแล้วขาโตขึ้นแทนที่มันจะลดลง ทำไมอย่างงู้นอย่างงี้ แล้วเราก็อาจจะท้อใจจนเลิกทำไปในที่สุด แต่ถ้าเราเคยอ่านมาแล้วว่ามันจะประมาณนี้ๆ เราจะมั่นใจขึ้นและจะสามารถทำต่อไปได้โดยไม่ลังเลสงสัย

3.3 สร้างกิจวัตรใหม่
ลงมือทำบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้แผนการเป็นรูปธรรมขึ้นมา เราสามารถทำได้หลายอย่างเพื่อบังคับตัวเอง เช่น ใส่ลงไปในตารางรายเดือนเลยว่าวันไหนซ้อมอะไร (จะเป็นตารางรายเดือน หรือรายสัปดาห์ก็ได้ เอาที่มันใช้ได้ผลสำหรับเรา บางคนชอบเห็นแผนการระยะสั้น บางคนชอบเห็นภาพรวมกว้างๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องทดลองทำก่อนถึงจะพอรู้ว่าแบบไหนเหมาะกับเรา)

ส่วนตัวกวางใช้สมุดที่เป็นตารางรายเดือนแบบสองหน้าคู่กัน เขียนตั้งแต่วันที่ 1–31 เลยว่าจะซ้อมอะไรบ้าง พักวันไหนช่วงไหน วันไหนวันกินขนม(cheat day) แต่ว่าลงเป็นดินสอไว้เพื่อให้ปรับแก้ได้ตามสถานการณ์

บางคนอาจจะลงทุนซื้อคอร์สโยคะระยะยาว พนันกับเพื่อนเรื่องลดน้ำหนัก จ่ายเงินซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ สารพัดวิธีที่เราจะใช้บังคับตัวเองได้ เลือกที่สบายใจค่ะ

3.4 ใส่ใจเรื่องที่รายรอบเป้าหมายเรา
พอเราจะออกกำลังกายเพิ่ม เราก็ต้องมองภาพรวมควบคู่กับตารางชีวิตเราด้วยว่ามันเหมาะสมมั้ย อย่างบางคนที่ทำงานทั้งวัน ถ้าวิ่งตอนเช้าก่อนทำงานอาจทำให้ง่วงตอนบ่ายได้ ก็ควรเลือกวิ่งตอนเย็นแทน อย่างวันไหนเป็นวันพักก็ควรเลือกกินอาหารดีๆ เน้นผัก โปรตีน ไข่ เพราะร่างกายต้องการของดีๆ ไปช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่ใช้งานไป อย่าเอาวันพักไปเป็นวันกินขนมจะดีกว่า

ควรวางตารางแบบยืดหยุ่นได้เพื่อที่เราจะได้คอยปรับให้เหมาะกับชีวิตเราในช่วงนั้นๆ ด้วย เช่น ถ้าซ้อมเยอะแล้วร่างกายหายระบมไม่เร็วเท่าที่คิดก็ต้องสามารถปรับไปเดินแทนมั้ย หรือไปโยคะเบาๆ ว่ายน้ำเบาๆ เพื่อช่วยคลายระบมให้เร็วขึ้นมั้ย ดูแลเรื่องอาหาร และการพักผ่อนให้ดี เพราะช่วงเวลาพักผ่อนคือช่วงที่กล้ามเนื้อจะฟื้นฟูและทำให้เราแข็งแรงขึ้น

3.5 จิตใจที่เข้มแข็ง
เป้าหมายเรื่องการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่เกือบทุกคนเข้าถึงได้ แต่ถ้าถามว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงยังไม่บรรลุเป้าหมายเรื่องนี้สักที คำตอบก็คงมีเรื่องเดียวคือ “ใจ”

ระหว่างทางที่เดินสู่เป้าหมายของเราย่อมมีมารเกิดขึ้นตลอดทาง ส่วนตัวกวางใช้การปฏิบัติธรรมสร้างความเข้มแข็งให้จิตตัวเอง บางคนอาจจะใช้วิธีให้รางวัลตัวเองตามทาง เช่น รางวัลรายเดือน รางวัลรายสัปดาห์ ถ้าทำได้จะได้ซื้ออันนี้ ถ้าทำได้จะได้กินนั่นนี่

3.6 อย่าว่าตัวเอง
ข้อนี้กวางเติมให้ เพราะหลายคนจะมีนิสัยชอบกดดันตัวเองเวลาที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ถ้าเป็นเป้าหมายเรื่องงานที่มีความรับผิดชอบเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งไว้ว่าควรทำได้สัก 70% แล้ววางใจไปเลย (นั่นหมายความว่าเราควรตั้งเป้าให้สูงๆ ไว้นะ ถ้าทำได้ 100% แสดงว่าเป้าอาจต่ำไป)

แล้วส่วนที่เหลือที่เรายังทำไม่ได้เราก็มาจัดการวางแผนให้มันรัดกุมมากขึ้น เพื่อค่อยๆ เพิ่มความสามารถในการทำงานของเราในไตรมาสต่อๆ ไป (ข้อนี้แนะนำว่าควรวัดผลตัวเองว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนทีละไตรมาส อย่าวัดผลถี่เกินไป เดี๋ยวจะเครียดเกิน)

ถ้าเป็นเป้าหมายเรื่องส่วนตัวก็ค่อยๆ ปรับไป เพราะพฤติกรรมหรือความเคยชินเก่าๆ ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหกเดือนถึงจะแก้ได้ (ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของใจคนนั้น บางคนเปลี่ยนได้ทันทีก็มี) ดังนั้นให้เวลาตัวเอง ไม่ตึงเกินไป แต่ก็อย่าหย่อนจนไม่ได้พัฒนาเลย

เป้าหมายเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ก็ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ วางตารางไปเท่าที่จะทำได้ เพราะเรื่องที่สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ กวางเชื่อว่ามีไม่มาก แต่เพราะมันสำคัญมากเราจึงควรใส่ใจในการจัดสรรเวลาของเราเพื่อทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง

3.7 แปะรูปแสดงเป้าหมาย

ปี 2019 นี้มีพี่คนนึงแนะนำว่าให้ลองวาดรูปหรือเอารูปมาแปะ ที่จะบ่งบอกถึงเป้าหมายของเราในแต่ละหัวข้อด้วย เพราะการมีรูปจะทำให้ภาพความสำเร็จ (ตามเป้า) ของเราชัดเจนมากขึ้น คิดว่าน่าสนใจดี ปีนี้เลยว่าจะลองดู

— — — — — — — — — — — — — — -
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังบอกเทคนิคหลายๆ เรื่องที่จะปรับมุมมองการทำงานของเรา และช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น

– เรื่องสิบปี
ให้รู้ไว้เลยว่ากิจการส่วนมากกว่าจะมั่นคงได้อย่างที่เราเห็นนั้น ใช้เวลาอย่างน้อยห้าปี และส่วนใหญ่ใช้เวลา 7–10 ปี ทุกความสำเร็จต้องผ่านการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องด้วยกันทั้งนั้น

– เรื่องการจัดลำดับความสำคัญ
แยกให้ออกระหว่างสิ่งที่ “ด่วน” กับสิ่งที่ “สำคัญ” เลือกทำสิ่งที่สำคัญก่อนเพราะมันคือสิ่งที่จะพาเราเข้าใกล้เป้าหมายของเรามากขึ้น

– เรื่องเวลาสำหรับการคิด
แบ่งเวลาตัวเองให้ได้นั่งทอดหุ่ยเพื่อ “คิด” อย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายใหญ่ๆ สักข้อ หรือเรื่องบางอย่างที่เราต้องการการตกผลึกภายใน เช่น เจ้าของหนังสือเค้าให้เวลาตัวเอง 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับการคิดเกี่ยวกับการสร้างบริษัทใหม่ของเค้า

– เรื่องความวิตกกังวล
ถ้าช่วงไหนรู้สึกแย่กับตัวเองให้ใช้เวลาสัก 1–2 วันทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เช่น ต่อเลโก้ใหญ่ๆ สักอันให้เสร็จ ฝึกทำอาหารที่อยากลองทำให้แฟนกินมานานแล้ว ปั่นจักรยานรอบสวนสักสิบรอบ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ให้มันเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับงาน หรือชีวิตส่วนตัวเราด้านใดด้านหนึ่งที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เพราะความก้าวหน้า(แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย) มีพลังที่จะพาเราออกจากความกังวลสับสนทุกครั้งไป

Progress beats the crap out of fear. Every. Single. Time.

สวัสดีปีใหม่ 2019 ค่ะ

ปล. โพสต์นี้จะอัพเดตทุกปีตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาค่ะ (ดังนั้นมันอาจจะยาวขึ้นทีละนิดละหน่อยทุกปี)

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top