“เรียนรู้จักสัญญาณเตือนของร่างกาย”
“น้องเป็นไมเกรนรึเปล่าคะ”
นี่คือคำถามที่เราถามน้องคนหนึ่งในวันแรกที่เค้ามาเรียนโยคะกับเรา
(พอเค้ามาเล่าให้ฟังว่าจำวันแรกของตัวเองได้เพราะพี่กวางทักแบบนี้ เรานี่แบบฮึ้ย จำไม่ได้ว่าตัวเองถามออกไปแบบนั้น แต่น่าจะเพราะเราเห็นช่วงคอบ่าไหล่เค้าตึงเกร็งมาก คิดว่าเค้าน่าจะปวดหัว ปวดคอบ่าไหล่ได้ง่าย แล้วอีกใจนึงก็คงอยากให้เค้ามาฝึกต่อเนื่องจะได้หายจากการปวดด้วย) แล้วน้องก็บอกว่าใช่ค่ะ เป็นไมเกรน
บทสนทนามันเริ่มมาจากว่าเราสงสัยว่าทำไมบางคนถึงปล่อยให้ร่างกายไปถึงจุดที่แย่มากๆ ได้ก่อนที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างกับมัน
โดยเฉพาะในสมัยนี้ที่อาการบาดเจ็บบางอย่างเกิดขึ้นกับคนจำนวนเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราได้ยินได้ฟังกันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งๆ ที่มันไม่ธรรมดาเลย เพราะมันรุนแรงกับร่างกายมาก และอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ในหลายๆ มิติ
อย่างกระดูกหลังทับเส้นประสาท (หรือหลังเคลื่อน หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท) กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท คอเสื่อม ออฟฟิศซินโดรม (อันนี้ยังขั้นต้น) กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (หรือ Myofascial pain syndrome หรือ MPS) ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia ขออนุญาตทับศัพท์เพราะไม่รู้ว่าภาษาไทยใช้คำว่าอะไร) หรือแม้แต่กรดไหลย้อน
เพราะก่อนที่จะบาดเจ็บกันได้ขนาดนี้ ร่างกายส่งสัญญานเตือนมาแล้วแน่ๆ และไม่ได้เตือนแค่ครั้งเดียว แต่เค้าต้องเตือนซ้ำๆ เตือนแบบตะโกน โหวกเหวกและโวยวายประหนึ่งแมวที่ติดคนแต่เจ้าของไม่ยอมให้เข้าห้องนอน ตะโกนร้องซ้ำๆ แต่ทำไมเค้าไม่ได้ยิน เป็นความเง็งและงงงวย
เลยได้คุยถามน้องไปว่าคิดว่าเป็นเพราะอะไรที่เค้าไม่ได้ยินสัญญาณนั้น เพราะน้องเองก็เคยผ่านประสบการณ์การอยู่กับร่างกายแบบนั้นมาระดับนึง
น้องก็ตอบว่าอาจจะเพราะว่าเค้าอดทนเก่ง และอาจจะเพราะว่าเค้าไม่รู้
เราไม่รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้
เราไม่สามารถรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ได้ ถ้าเราไม่เติมความรู้บางอย่างที่ถูกต้องให้กับตัวเอง แล้วความรู้พวกนี้ก็ไม่ได้มีสอนในโรงเรียนหรือหาเรียนได้ทั่วไป เพราะมันเป็นความรู้เกี่ยวกับองค์รวมของร่างกาย ความเป็นอยู่และเป็นไปของร่างกาย
ซึ่งกวางเองเก็บเกี่ยวความรู้พวกนี้มาจากการเรียนเป็นครูโยคะ และการเรียนอายุรเวทในคลาสครูโยคะที่หฐราชาโยคาศรม ที่ช่วยทำให้เรา “เห็น” และเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จากการสอนนักเรียนในคลาสมาตลอดหลายปี
จริงๆ กวางเคยเห็นอะไรแปลกๆ เยอะเลยในการเป็นผู้สอนโยคะ กวางเห็นคนที่ตอนแรกมาฝึกดูเหมือนคุณลุงอายุสัก 45 จากการโหมทำงานหนักมาหลายปี แต่พอฝึกๆ ไปทั้งโยคะทั้งเข้ายิม ร่างกายและฮอร์โมนเปลี่ยนเค้าก็กลับมาดูเด็กเหมือนอายุสามสิบต้นๆ ตามอายุจริงของเค้าในที่สุด
กวางเห็นพี่บางคนสาวขึ้น จากการที่เคยเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังทั่วร่างกายจากการทำงานหนักจนกล้ามเนื้อมีอาการเหมือนใกล้ตายเป็นหย่อมๆ ทำให้ดูแก่กว่าวัยไปมาก แต่เค้าไม่เลิก ทั้งกายภาพบำบัดและโยคะคู่กันจนเจออีกทีเค้าดูสาวขึ้นสักสิบปีได้ อันนี้ตกใจมากจริง
กวางเห็นคนที่มีหนอกที่หลัง และคนที่หลังค่อม แล้วฝึกๆ ไปเค้าดูหล่อ/ สวยขึ้นจากบุคลิกที่มันตรงสวยขึ้น หนอกหายไป และผิวพรรณก็ดูสดใสขึ้น
กวางเจอคนที่เคยต้องใช้สเตียรอยด์จากอาการภูมิแพ้หนักๆ ทุกเดือน แต่พอมาเริ่มฝึกโยคะ (เค้าฝึกคอร์สแรกกับกวาง) แล้วอาการที่เคยเป็นเบาลงจนไม่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์อีก
ที่อยากบอกคือ กีฬาเป็นยาวิเศษจริงๆ นะคะ ❤️
ชวนสังเกตสัญญาณเตือนกัน
กลับมาเรื่องเดิมคือ ก่อนที่เราจะป่วยไปไกล จริงๆ แล้วร่างกายล้วนเริ่มต้นจากการส่งสัญญาณง่ายๆ เพียงแต่เราไม่เคยรู้ เราเลยไม่ทันเอะใจว่านั่นคือสัญญาณ และที่มากกว่านั้นคือเราไม่รู้ว่าสัญญาณนั้นแปลความหมายว่าอะไร
ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณเริ่มแรกของร่างกายที่บอกว่าร่างกายของคุณ “เริ่ม” ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีความผิดปกติบางอย่าง และสามารถพัฒนาไปสู่อาการที่รุนแรงกว่าได้
อย่างเช่น
- อาการหลังค่อม
คนที่เป็น อยากให้ลองสังเกตดูว่าเรามีอาการหายใจไม่อิ่มมั้ย รู้สึกเครียดได้ง่ายมั้ย เพราะอาการหลังค่อมไม่ใช่เกี่ยวกับแค่เรื่องบุคลิกสวยหรือไม่สวย แต่หน้าอกที่เกร็งตึงจากการห่อนานๆ ทำให้เราหายใจได้ลำบากขึ้น เพราะปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้เราเกิดอาการเครียดได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว
รวมถึงมันจะทำให้คุณปวดตึงคอได้บ่อยขึ้น ไวขึ้น และลามไปเป็นไมเกรนได้ง่ายขึ้น
ถ้าปล่อยนานไปกว่านั้นมันสามารถนำไปสู่อาการกระดูกคอเสื่อมได้ และอะไรที่ลงข้อต่อแล้วมักแก้ไขยาก ถ้าเริ่มมีอาการดังกล่าวแล้วอยากเชิญชวนมาฝึกโยคะเพื่อปรับบุคลิกด้วยกันนะคะ ไม่งั้นเราจะปวดตึงคอง่าย และปวดบ่อยตลอดไปเพราะบุคลิกเราไม่ตรง
อีกเรื่องที่เราอาจจะไม่สังเกตคือศีรษะของเรามีน้ำหนักค่ะ ลองถือไม้เท้าตรงๆ กับถือแบบเอียงไปข้างหน้าดูแล้วลองสังเกตว่าอันไหนหนักกว่ากัน ถ้าคอเรายื่นไปข้างหน้าศีรษะของเราก็จะหนักขึ้นไม่ต่างกับไม้เท้า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานี้ก็จะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดอาการคอเสื่อมได้ง่ายขึ้นด้วย
อีกเรื่องที่อยากให้ลองสังเกตคือ อาการหลังค่อม (ส่วนใหญ่จะมาพร้อมไหล่ห่อและคอตึง) จะส่งผลทำให้ผิวพรรณไม่ค่อยสดใสเพราะถ้าเราหายใจได้ไม่อิ่ม ออกซิเจนก็จะเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวกผิวพรรณก็จะหมองตาม
การฝึกโยคะช่วยได้ เพราะโยคะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวกขึ้น ช่วยส่งอาหารเข้าสู่เซลล์ได้เต็มที่ เพราะเลือดคือสารอาหารของเซลล์ ถ้าเลือดไหลเวียนสู่เซลล์ได้เต็มประสิทธิภาพ เซลล์ก็จะมีอายุยืนยาวช่วยเรื่องการชะลอวัย นอกจากนี้ลมหายใจที่เต็มไปด้วยออกซิเจนดีๆ ยังช่วยทำให้ผิวผ่องใสได้ด้วยค่ะ
- นั่งยองไม่ได้
คนที่นั่งยองไม่ได้ อยากให้ลองสังเกตดูว่าเราเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพกบ้างมั้ย บางคนถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรง (อาจจะเพราะเราออกกำลังกายพวกเวท หรือวิ่งอยู่) เราอาจจะไม่รู้สึกปวดมากนักต่อให้กล้ามเนื้อเรากำลังตึงมากๆ อยู่ก็ตาม แต่ถ้าเรานั่งยองแบบเหยียบเต็มฝ่าเท้าไม่ได้แสดงว่ากล้ามเนื้อเราตึงมากค่ะ เส้นด้านหลังลำตัวหรืออาจจะตั้งแต่ข้อเท้า สะโพกขึ้นไปถึงคอด้านหลังของเราตึงมาก
จริงๆ หลังที่ตึงมากเนี่ยนอกจากจะทำให้เราปวดหลังได้ง่ายแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้เรานอนหลับไม่สบายด้วย หลับยาก ถึงหลับก็หลับได้ไม่ลึก ไม่อิ่ม ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะระบบประสาทของเราที่อยู่ตามแนวกระดูกสันหลังนั้นถูกรบกวนจากอาการตึงของกล้ามเนื้อ
การมายืดคลายกล้ามเนื้อหลังเลยมีผลดีช่วยทำให้การนอนหลับของเราดีขึ้นด้วย เพราะมันช่วยผ่อนคลายระบบประสาท หลายคนที่มาฝึกโยคะแล้วพบว่าหลับได้ดีขึ้นสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องนี้ค่ะ
คนที่นั่งยองๆ ไม่ได้ การไหลเวียนเลือดตามข้อต่อก็อาจจะมีอาการติดขัด พอข้อต่อไม่ได้รับเลือดหรือสารอาหารอย่างเต็มที่ การบำรุงหรือสร้างเสริมเซลล์กระดูกข้อต่อก็จะทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ระยะยาวอาการข้อเสื่อมต่างๆ ก็อาจจะตามมา
นอกจากนี้การนั่งยองก็เป็นการเช็คประสิทธิภาพของข้อต่อหัวเข่าและกล้ามเนื้อโคนขา ลองสังเกตดูว่าเราลุกนั่งได้ปกติมั้ย บางคนนั่งได้แต่ลุกยาก แสดงว่ากล้ามเนื้อโคนขาและสะโพกอาจจะเริ่มไม่แข็งแรง ระยะยาวอาจนำไปสู่อาการข้อเข่าเสื่อมได้เพราะเราไม่มีกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงน้ำหนักตัวของเราไม่ให้ลงที่ข้อต่อ
- เหยียดแขนขึ้นฟ้าได้ไม่ตึงเป็นเส้นตรง และแขนไม่ชิดหู
อันนี้จะมาร่วมกับอาการหลังค่อม และบางคนคือหลัง เอว บ่าไหล่ตึงมาก คือช่วงบนของร่างกายเราตึงแต่เราอาจจะไม่รู้ตัว ทำให้แขนเหยียดขึ้นฟ้าสุดแบบกระตุกข้อศอกให้ตึงไม่ได้ (บางคนเหยียดแขนได้แต่ศอกยังติดงอตลอด) อันนี้แสดงว่าสะบักเราไม่ถูกใช้งานเลย ลองสังเกตดูว่าหลังช่วงบนของเราตึงปวดได้ง่ายมั้ย
บางคนถ้าปวดสะบักบ่อย แล้วปล่อยทิ้งไว้นานๆ อันนี้จะไม่ดีมากๆ เพราะกล้ามเนื้อตรงสะบักมันซ้อนกันหลายมัด
ถ้าปวดตรงนี้บ่อยๆ นานๆ แล้วเราไม่หาวิธีแก้มันจะปวดอักเสบเรื้อรัง พอเข้าสู่คำว่าเรื้อรังแล้วตรงนี้เป็นหนึ่งในจุดที่แก้ได้ยากมากเลย ต้องกายภาพบำบัดคู่กับโยคะอย่างเดียว บางคนอาจจะมีฝังเข็ม ครอบแก้ว นวดด้วยก็สุดแล้วแต่เราเลยค่ะ ช่วยกันหลายๆ ทางยังไงก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
แต่ในขั้นต้นถ้าใครเริ่มเป็นแนะนำว่าควรมาออกกำลังกายอย่างโยคะ เพราะช่วยคลายความตึงและสร้างความแข็งแรงให้สะบักกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสะบักและช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นอ่อนนุ่มลงได้
บางคนอาจจะเริ่มมีอาการไหล่ติด ไหล่ติดถ้าเป็นแล้วก็แก้ยากค่ะ กวางไม่เคยเป็นแต่คนที่เคยเป็นหลายๆ คนมักจะบอกว่าทรมาน ต้องอยู่กับกายภาพนาน บางคนก็อาจจะถึงขั้นผ่าตัด แต่จะให้ดีอย่าไปถึงขั้นนั้นเลยค่ะ รีบมาฝึก มาปรับการทำงานของกล้ามเนื้อกันใหม่
ในชีวิตประจำวันบางทีเราอยู่ในท่าเดิมนานๆ มันไม่ดีต่อร่างกายเลยค่ะ เราควรหาการออกกำลังกายมาช่วยเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ใช้งานหลากหลาย เพื่อคงฟังค์ชั่นหรือการใช้งานของร่างกายเราเอาไว้ เพราะถ้าเราไม่ใช้มันนานๆ วันนึงธรรมชาติจะเรียกคืน ดังนั้นฝึกใช้งานร่างกายให้ครบทุกส่วนกันนะคะ
อาการอื่นๆ เช่น ก้มแตะเท้าแบบนั่งเหยียดขาตรงไม่ถึง เป็นไมเกรนบ่อยๆ เหล่านี้ก็เป็นสัญญานคล้ายๆ ข้างบนที่กล่าวมา ลองสังเกตและปรับกันดูนะคะ จริงๆ ถ้าไม่ออกกำลังกายเราปรับเองได้ค่อนข้างยากอยู่ค่ะ อย่างถ้าเราหลังค่อมแล้วจะบอกให้นั่งให้ตรงขึ้น เราจะทำได้แค่แป๊บเดียวเพราะพอกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงสักพักมันก็จะห่อกลับลงไปอีก
กลับมาแก้ที่ต้นเหตุ
วิธีแก้ที่ต้นเหตุคือการมาออกกำลังกาย อย่างในโยคะเราฝึกกล้ามเนื้อหลายมัดทั่วร่างกาย มีท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงด้วย พอกล้ามเนื้อแข็งแรงหลังเค้าก็จะยืดตรงได้เองโดยอัตโนมัติ มันง่ายๆ แค่นั้นเลยค่ะ
แล้วก็อยากชวนฝึกให้ครบ 6 เดือนก่อนนะคะ เพราะกล้ามเนื้อใช้เวลาสร้างอย่างน้อย 3 – 6 เดือน ถ้าเราฝึกไม่ถึง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ไม่ชัดนัก
ท้ายที่สุดแล้ว อะไรที่สร้างได้ก็หายได้ ถ้าเราอยากเคลื่อนไหวได้คล่องตัวเหมือนคนหนุ่มสาวตลอดไป การออกกำลังกายให้ต่อเนื่องตลอดชีวิตไม่ใช่แค่สำคัญแต่ “จำเป็น” ค่ะ
ไม่ได้บอกว่าต้องฝึกโยคะ แต่การออกกำลังกายทุกอย่างควรมีโยคะหรือการยืดเหยียดเป็นส่วนประกอบอย่างน้อยสัก 20% และดีที่สุดคือหาการออกกำลังกายหลักที่เราชอบและรักที่จะทำมันไปเรื่อยๆ ได้ให้เจอ
เพราะถ้าถึงจุดนั้นแล้วอาการทั้งหมดที่เราคุยกันข้างบนจะไม่ย่ำกรายเราเลยค่ะ ขอให้สนุกกับการใช้ชีวิตในทุกๆ วันนะคะ แล้วหากใครสนใจโยคะ คอร์สของพอดีพอโยคะพร้อมเสิร์ฟที่นี่เสมอค่ะ
กวางทำคลาสฝึกแบบออนไลน์ไว้สองคอร์สนะคะ
ก้าวแรกสู่โยคะสำหรับผู้ฝึกมือใหม่ที่ยังไม่เคยมีพื้นฐานเลย จะตัวตึงแค่ไหนก็เริ่มฝึกได้ สมัครได้ที่นี่ค่า
กับ Ultimate Flow คอร์สสำหรับคนที่มีพื้นฐานมาแล้ว เพิ่มความท้าทายและฝึกเพิ่มความแข็งแรงด้วย flow สนุกๆ ดูได้ในลิงก์นี้เลย
ทั้งสองคอร์สมีคลาสตัวอย่างให้ลองฝึกฟรีด้วยค่ะ
หรือลองอ่านรีวิวของนักเรียนที่เคยฝึกกับกวางได้ที่นี่เลย
แล้วเจอกันในคอร์สนะคะ ☺️💪🏻
ปล. ใครสนใจอยากติดตามเพจของกวาง กดติดตามได้ที่นี่นะคะ
ใส่ความเห็น