ทำยังไงให้เลิกติดมือถือ

(ยาวมากโปรดเตรียมใจ)

ช่วงเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่กวางตกหล่มวังวนความคิดบางอย่างแล้วก็พาลให้จิตตกทำงานสร้างสรรค์ไม่ได้ไประยะนึง พอช่วงที่เป็นแบบนั้นทีไรนิสัยดั้งเดิมในการ “ไถมือถือไปเรื่อยๆ” ก็จะกลับมาอีกครั้ง

เป็นพฤติกรรมที่กวางไม่ชอบเอาซะเลย เพราะมันดูเลื่อนลอย ไร้เป้าหมายชีวิตยังไงชอบกล
พอเดือนนี้ที่เริ่มกลับมามีสติอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น เข้มแข็งกลับขึ้นมาทำงานต่างๆ ได้เป็นปกติ ก็ได้กลับมาอ่านหนังสือที่เคยอ่านทิ้งไว้เมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว ชื่อ Digital Minimalism: Choosing a focused life in a noisy world เป็นหนังสือเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าด้วยเทคโนโลยีที่น้อยลง

เรื่องนี้เป็นความพยายามส่วนตัวของกวางมาหลายปีแล้วที่จะจัดการกับอาการติดมือถือของตัวเอง นิสัยที่ว่างก็ไถ ว่างก็รูดมือถือไปเรื่อยจนมันเริ่มเข้ามามีผลกับชีวิตส่วนตัวและการงานของเรามากขึ้น แต่จนแล้วจนรอดกวางก็ไม่เคยจัดการกับมันได้อย่างจริงจังสักที จนกระทั่งมาเจอยาแรงอยู่ท้ายเล่มของหนังสือเรื่องนี้ (เดี๋ยวจะค่อยๆ เล่าให้ฟังนะคะ)

หนังสือเปิดเรื่องมาด้วยการเล่าว่า “อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนสมัยนี้เสพติดมือถือกันมากมายขนาดนี้?”

เหตุผลหลักอย่างหนึ่งก็คือโซเชี่ยลมีเดียเช่น เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูป และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนถูกคิดและออกแบบมาอย่างชาญฉลาดเพื่อที่จะขโมยเวลาจากเรา

เพราะ 🕐 ของเรา = 💲 ของเค้า

ดังนั้นทุกตารางมิลลิเมตรบนหน้าจอของเราเป็นสิ่งที่ผ่านการทดลองมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อทำยังไงก็ได้ให้เราวนเวียนอยู่ในแอปของเค้าให้นานที่สุด
ตัวอย่างเทคนิคที่แอปเหล่านี้ใช้ก็เช่น:

ทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนให้เป็นสีแดง เพราะสีแดงให้ความรู้สึกเร่งด่วนช่วยกระตุ้นให้คนอยากรีบกดเข้ามาดูมากขึ้น

คิดค้นปุ่ม “ไลค์” เพื่อทำให้เกิดฟีดแบ๊คระหว่างคนที่โพสต์ข้อความกับคนอ่าน เป็นการกระตุ้นให้คนที่โพสต์เกิดอาการเสพติดอยากกลับมาดูบ่อยๆ ว่าใครจะมาโพสต์ตอบหรือไลค์เพิ่มบ้าง

ทำหน้าฟีดให้ไถเลื่อนลงไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งไถลงไปยิ่งมีอะไรใหม่ๆ โผล่มา และบางทีก็เป็นเรื่องที่เราสนใจ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้วเรื่องที่เราสนใจอาจจะมีสักหนึ่งหรือสองเรื่องจากที่เราไถผ่านไปสิบเรื่อง มีคนนิยามสิ่งนี้ว่าเป็นเหมือน “เครื่องสล๊อตแมชชีน” เพราะนานๆ ทีก็จะมีรางวัลดีๆ โผล่มาให้เราดีใจเล่น เราก็เลยติดใจรูดไปเรื่อยๆ เผื่อจะเจอรางวัลที่ถูกใจ

สิ่งเหล่านี้ผ่านการคิดค้น อ้างอิงจากหลักการทางจิตวิทยา และทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูดเวลาและความสนใจจากเรา ยิ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใหม่มากเพราะพวกเราเพิ่งเข้าถึงมือถือที่มีอินเตอร์เน็ตแค่ประมาณสิบปีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้ความสามารถในการจัดการกับเทคโนโลยีพวกนี้ให้ไม่มารบกวนชีวิตเรายังเป็นเรื่องยาก และถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ด้วย

แต่ผลกระทบจากเทคโนโลยีก็เริ่มจะได้รับความสนใจขึ้นมาบ้างแล้ว อย่างในการเก็บสถิติเกี่ยวกับความแตกต่างของวัยรุ่นอเมริกาในแต่ละยุคสมัยก็พบว่าเด็กที่เกิดในช่วงปี 1995 -2012 มีสถิติการเป็นโรคเครียดและการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นกว่าเด็กในยุคก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด

แม้แต่ในมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ผู้เขียนอ้างถึงก็พบว่าเด็กวัยรุ่นยุคนี้มาขอคำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตด้วยปัญหาที่แตกต่างจากเด็กรุ่นก่อน เช่นเมื่อก่อนเด็กมักจะไปปรึกษาด้วยเรื่องความผิดปกติในเรื่องการกิน อาการคิดถึงบ้าน โรคเครียดบ้าง แต่ในสมัยนี้เด็กไปปรึกษาด้วยเรื่อง “ความวิตกกังวล” ซึ่งเคยเป็นปัญหาที่พบได้น้อยมากในเด็กยุคก่อน

และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นก็คาดว่าน่าจะมีที่มาจาก “พฤติกรรมการใช้มือถือที่เปลี่ยนไป” ของเด็กยุคนี้

ทั้งหมดทั้งมวลหนังสือเล่มนี้เลยบอกว่าการจะต่อสู้กับเทคโนโลยีที่มีเงินนับแสนล้านดอลลาร์อยู่เบื้องหลังได้นั้นไม่ง่ายเลย เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่ดีพอในการที่จะจัดการกับมัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะแพ้อยู่ร่ำไป เพราะเค้ามีนักรบโปรแกรมเมอร์อยู่ในมือตั้งไม่รู้กี่พันคนนะเออ จะปราบยักษ์ทั้งทีเอาก้อนหินมาแค่ก้อนเดียวมันคงไม่พอ (แต่ยาแรงสักสองสามขนานก็พอไหวอยู่นะ)

ต้องบอกก่อนว่าช่วงที่ผ่านมาหลายปีกวางก็ได้ลองมาหลายวิธีแล้ว ลองกำหนดเวลาเล่นมือถือ ลองลบแอปบางแอปออกไปจากหน้าจอ (แต่เราก็ไปเข้าเวปผ่านทางเบราว์เซอร์อื่นอยู่ดี ใครเป็นบ้างยกมือขึ้น ✋🏻) ลองใช้แอปบางแอปที่ช่วยล๊อกมือถือเราไม่ให้เปิดใช้งานได้เวลาที่เราทำงานที่ต้องใช้การโฟกัสมากๆ ลองแทร็คเวลาในการใช้มือถือในแต่ละวันและจำนวนครั้งการกดเปิดหน้าจอของเรา สารพัดสารเพที่จะลอง ทั้งหมดที่ว่ามา “ไม่เวิร์คจ้ะ”

วิธีที่จะพูดถึงต่อไปคือยาแรงที่กวางใช้แล้ว “ได้ผลดี” ในการจัดการกับเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็มีทั้งวิธีคิดและเทคนิคที่ได้จากหนังสือหรือเป็นเทคนิคที่เอามาจากคนใกล้ตัวบ้าง บางอย่างก็เริ่มทำมานานแล้ว บางอย่างก็เพิ่งเริ่มทำแต่เพราะเป็นยาแรงที่ได้ผลชะงัด (แต่ต้องเสียเงินนะ) เลยจะขอเอามาแชร์เผื่อใครจะเอาไปลองทำบ้างค่ะ

1. ตั้งคำถามว่าคุณค่าของชีวิตเราคืออะไร

หนังสือสอนให้เราตั้งคำถามว่าชีวิตที่มีคุณภาพในความหมายของเราคืออะไร เราต้องการสร้างชีวิตแบบไหน เป้าหมายของเราคืออะไร ให้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อที่เราจะสามารถวางแผนการใช้เทคโนโลยีของเราให้มันตอบโจทย์เป้าหมายของเราได้ ให้เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

เพราะถ้าทิศทางของเรายังไม่ชัดเจนมันก็ง่ายมากที่จะถูกชักจูงให้ติดกับเทคโนโลยี แล้วสุดท้ายเราก็จะเข้าไปใช้งานมันแบบงงๆ ไถไปเรื่อยๆ โดยไร้เป้าหมายไปวันๆ ดังนั้นคุยกับตัวเองให้จบว่าชีวิตที่ดีในความหมายของเราคืออะไร และเราจะสร้างมันได้ยังไง

ข้อนี้ส่วนตัวกวางตอบได้ว่ากวางชอบเจอคนจริงๆ มากกว่าในอินเตอร์เน็ต แล้วเราก็ชอบแชร์ความคิดและประสบการณ์ร่วมกัน โดยเราก็จะเน้นไปบุ๊คคลับกับไปเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อให้เราได้เจอคนและเปิดมุมมองความคิดใหม่ๆ แล้วถ้าจะไปบุ๊คคลับเราก็ต้องอ่านหนังสืออย่างน้อยเดือนละหนึ่งเล่ม เราก็เอาเวลามาอ่านหนังสือแทน

อีกอย่างนึงที่กวางทำคือตั้งคำถามกับตัวเองว่าเฟซบุ๊คให้อะไรกับเรา? (นอกเหนือจากการทำเพจที่นับเป็นงานแล้ว) คำตอบที่ได้คือเอาไว้อ่านเพจที่เราชอบหรือดูไอดอลที่ให้แรงบันดาลใจ พอคิดได้แบบนั้นก็คิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องดูทุกวันหรือดูถี่ๆ ก็ได้ ก็เลยนำไปสู่การลดเวลาการใช้งานต่อไป
ซึ่งกวางก็ใช้การตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับแอปอื่นๆ เช่นยูทูปด้วยเช่นกัน เพราะในเมื่อเราจะเค้นประโยชน์ออกมาจากเครื่องมือเหล่านี้แล้วเราก็ต้องรู้ว่าเราต้องการอะไรและจำเป็นต้องดูบ่อยแค่ไหน

เพราะสำหรับกวางเองที่ทำงานเป็นคนสร้างสื่อด้วยแล้ว การมาติดอยู่กับการเสพที่มากเกินไปทำให้พลังสร้างสรรค์ลดลงด้วย ดังนั้นกวางก็ต้องเลือกที่จะเสพเพื่อให้เรามีแรงมีพลังพอที่จะไปสร้าง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นอย่างช่วงที่ผ่านมาค่ะ

2. หากิจกรรมทำในเวลาว่าง

เป็นอีกเรื่องที่หนังสือแนะนำให้คิดวางแผนอย่างจริงจัง คนส่วนใหญ่ตกหลุมพรางหวนกลับไปติดมือถือรอบแล้วรอบเล่าเพราะไม่คิดถึงเรื่องนี้ให้จบว่า “เวลาที่เราได้คืนมาเราจะเอาไปทำอะไร?”
คิดและวางแผนไว้เลย ลงตารางไว้แบบมีเดดไลน์ด้วย เช่น จะอ่านหนังสือ XXX หลังสี่ทุ่มทุกวัน จะฝึกเล่นกีตาร์เพลงนี้ทุกวันเพื่อเอาไปแสดงที่งาน ZZZ ที่จะจัดในอีกสองเดือนข้างหน้า ไปงานอีเว้นท์ทุกวันเสาร์บ่ายเพื่อพบปะคนใหม่ๆ ในวงการของเรา ฝึกโยคะช่วงเย็นหลังเลิกงานสี่วันต่อสัปดาห์ (วันอะไรบ้างก็กำหนดไปเลย)

พยายามวางตารางให้ละเอียด ลงเป็นตารางรายสัปดาห์ได้ยิ่งดีว่าวันไหนทำอะไรตอนกี่โมง จะได้คอยกำกับตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วย

ข้อนี้ถ้าใครที่ใช้สมุดแพลนเนอร์แบบรายสัปดาห์อยู่แล้วก็จะง่ายหน่อย ส่วนใครที่ยังไม่เคยใช้ก็เป็นอีกอย่างนึงที่อยากแนะนำให้ลองค่ะเพราะกวางเองใช้แล้วชีวิตทำงานเสร็จเยอะขึ้นมาก
กวางเคยเขียนถึงสมุดรายสัปดาห์นี้ไปแล้ว ลองอ่านดูใน 👉🏻 ลิงค์นี้นะคะ

3. ลบแอปที่ไม่จำเป็นออกให้หมด เหลือไว้แค่แอปที่ส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานเท่านั้น

ข้อนี้ในหนังสือเค้าสอนให้เราทำฟาสติ้งเทคโนโลยี 30 วัน โดยการให้ลบทุกแอปที่ไม่เกี่ยวกับงานและชีวิตส่วนตัวออกให้หมด เหมือนเป็นช่วงดีท๊อกซ์จิตใจ แล้วพอหลัง 30 วันก็ค่อยเริ่มกลับมาโหลดคืนสิ่งที่เราเห็นว่าจำเป็น

กวางเองใช้วิธีนี้เลยทำให้สามารถจัดการหน้าจอมือถือได้ค่อนข้างสะอาดคือเปิดมามีแอปทั้งหมดแค่หน้าเดียว (แต่กวางจัดแอปแบบรวมกลุ่มประเภทด้วยนะคะ เช่น แอปเกี่ยวกับการงานก็รวมไว้ด้วยกัน ไลฟ์สไตล์กินช้อปใช้ การเงินและธนาคารก็รวมเป็นกลุ่มๆ ไว้ ถ้าอันไหนใช้บ่อยก็เป็นแอปเดี่ยวๆ ไว้ที่หน้าจอเลย) แต่ทำยังไงก็ได้ให้มันอยู่ในหน้าเดียวและจัดกลุ่มมันให้ได้มากที่สุด
เพราะหนังสือสอนว่า “clutter is costly” – ความไม่มีระเบียบทำให้เสียเวลา

4. ปิดการแจ้งเตือนของแอปทุกแอป (notification)

ทั้งไม่ให้เด้งขึ้นมาเตือนและปิดเสียงด้วย ยกเว้นเฉพาะอันที่เกี่ยวข้องกับงาน วิธีนี้กวางได้จากเพื่อน มันช่วยให้จิตใจสงบและสบายขึ้นมากเพราะไม่ต้องมีตัวเลขสีแดงเด้งขึ้นมาเร่งเร้าหรือกระตุ้นเราให้กดเปิดแอปใดๆ อีกแล้ว

ก่อนหน้านี้เคยใช้อีกเทคนิคนึงคล้ายๆ กัน คือทำให้ทุกอย่างบนหน้าจอหลายเป็นสีขาวดำทั้งหมด (โดยการกดปุ่มโฮมสามครั้งต่อกัน) แต่วิธีนี้กวางใช้แล้วไม่เวิร์ค เพราะโดยส่วนตัวชอบอะไรที่มีสีสัน พอมือถือไม่มีสีแล้วรู้สึกชีวิตขาดรสชาติอย่างมาก เลยเลิกไป แต่บางคนใช้แล้วอาจจะชอบก็ลองดูได้ค่ะ

5. Unfollow เกือบทุกคนในเฟซบุ๊คของเรา

ฟอลโลว์แค่เพจที่เราสนใจหรือคนที่เราต้องการติดตามเค้าจริงๆ เท่านั้น วิธีนี้จะทำให้ทุกครั้งที่เราเข้าเฟซบุ๊คเราแทบจะไม่มีอะไรให้ดู เวลากวางไถฟีดของกวางลงไป ไถได้ไม่เท่าไหร่ก็จะหมดหน้าแล้วไม่มีอะไรให้ดูต่อเพราะเราอันฟอลโลว์ไปเกือบหมด เหลือไว้แค่ที่อยากรู้จริงๆ เท่านั้น

6. ใช้แอป Freedom

อันนี้เป็นยาแรงแบบที่ต้องเสียเงินแต่ได้ผลดีมากสำหรับกวางเพราะมันปรับพฤติกรรมจริงๆ แอปนี้เป็นแอปที่เราตั้งเวลาไว้ล่วงหน้าว่าเราต้องการให้มือถือเราล๊อกในช่วงเวลาไหน ในวันไหนบ้าง ให้เข้าแอปอะไรหรือเวปไซต์อะไรไม่ได้บ้าง แล้วมันดีมากกกกกก เพราะพอถึงช่วงเวลานั้นที่มันล๊อกแล้วเราจะกดดูอะไรไม่ได้เลย แคนเซิลก็ไม่ได้ด้วยจนกว่าจะหมดช่วงเวลาของมันถึงจะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงได้

อย่างเช่นกวางตั้งล๊อกมือถือตัวเองเป็นสามช่วง อย่างตอนเช้ากวางอยากมี Productive Morning กวางก็ล๊อกมือถือตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสิบเอ็ดโมง ไม่ให้ตัวเองเข้าโซเชี่ยลมีเดียได้เลย แต่ยังสามารถตอบไลน์และแมสเสจเรื่องงานได้ เพียงแต่จะไม่เฉไฉไปเล่นมือถือเรื่อยเปื่อยนอกจากเรื่องงาน

Productive Afternoon จะเริ่มตั้งแต่บ่ายโมงถึงหกโมงเย็นจะได้โฟกัสช่วงบ่ายได้ดี แล้วหลังจากนั้นก็จะเล่นมือถือได้ช่วงหกโมงเย็นถึงสี่ทุ่ม (แต่ปกติกวางสอนโยคะถึงสองทุ่มกว่า จะเล่นมือถือจริงๆ ก็แค่ชั่วโมงนิดๆ)

หลังจากนั้นช่วง Quality Sleep มือถือกวางก็จะล๊อกอีกครั้งตั้งแต่สี่ทุ่มถึงหกโมงเช้า ซึ่งหลังจากใช้มือถือไม่ได้กวางก็เอาช่วงเวลานั้นมาอ่านหนังสือ ฟังเพลง อยู่กับตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับการเข้านอน ส่วนในวันหยุดกวางก็จะตั้งไว้อีกแบบเพราะเราจะสบายๆ กับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นหน่อยนึง

ยาแรงขนานนี้สำหรับกวางได้ผลดีมากกว่าที่คิด แรกๆ เราก็จะชินยกมือถือขึ้นมาดูเรื่อยๆ แต่พอกดเปิดแอปแล้วมันเปิดไม่ได้ก็ต้องวางมือถือลงแล้วหันกลับไปทำงานในที่สุด

ในเวปไซต์ Freedom เองเค้าบอกไว้ว่าคนที่ใช้งานแอปนี้ได้เวลาคืนมาเฉลี่ย 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ซึ่งสำหรับกวางคิดว่าเกินสองชั่วโมงแน่นอน แล้วส่วนตัวกวางรู้สึกสงบขึ้นมาก ทำงานเสร็จเยอะกว่าเดิมมาก (ดีใจ) แล้วก็มีพลังที่จะไปเรียนรู้หรือทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย

ช่วงเดือนที่แล้วที่กวางมีปรับตารางการใช้ชีวิตใหม่ก็มีแอปที่กวางยอมจ่ายเงินซื้อเพื่อให้เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การใช้ชีวิต และการนอนของตัวเองมากขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับสิ่งที่ได้แล้วสำหรับกวางเองถือว่าคุ้ม ฝากทิ้งไว้เผื่อใครสนใจอยากไปศึกษาเพิ่มดูค่ะ

  • Sleep cycle เอาไว้แทร็คคุณภาพการนอนหลับ
  • Productive เอาไว้แทร๊คนิสัยที่เราอยากทำให้เป็นกิจวัตร เช่น การนอนเร็ว การทำสมาธิ การฝึกโยคะช่วงเช้า ซึ่งกวางเคยลองแบบจดลงสมุดแล้วแต่ไม่ได้ผล พอมาอยู่ในมือถือที่เปิดดูและจดแก้ได้ทันทีแล้วมันสะดวกกว่าค่ะ
  • Freedom เอาไว้ล๊อกมือถือไม่ให้เข้าใช้งานได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ในแอปหรือเวปไซต์ที่เรากำหนด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่กวางทดลองมาด้วยตัวเองในช่วงที่ผ่านมาแล้วอยากจะเอามาแบ่งปันกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ง่ายเลยที่จะปรับพฤติกรรมการใช้มือถือของตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้และมันเริ่มตั้งแต่แนวคิดการใช้ชีวิตของเรา ตอบตัวเองให้ได้ คุยกับตัวเองให้จบว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการชีวิตแบบไหนแล้วสำคัญที่สุดคือลงมือทำเพื่อสร้างชีวิตแบบที่เราต้องการขึ้นมาค่ะ


ขอตัดเข้าสู่ช่วงโฆษณา ฟิ้วววววว

คอร์สโยคะออนไลน์ก้าวแรกสู่โยคะ คอร์สที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่สนใจอยากเริ่มต้นฝึกโยคะอย่างถูกต้องและเป็นระบบ สอนตั้งแต่วิธีการหายใจจนสามารถฝึกเองได้เป็น แม้ไม่เคยมีประสบการณ์การเรียนโยคะมาก่อนก็สามารถฝึกได้

สอนโดยกวางเอง เจ้าของสตูดิโอพอดีพอโยคะ จังหวัดสระบุรี และช่องยูทูปพอดีพอโยคะ (pordipor yoga) ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 168,000 คน มีประสบการณ์การสอนและการฝึกโยคะ 9 ปี (อีกนิดๆ จะสิบปีละน้าา 😆)

คอร์สนี้ประกอบไปด้วย
✅วิดิโอแนะนำการเตรียมตัวก่อนการเริ่มฝึกโยคะ 6 วิดิโอ
✅วิดิโอสอนการฝึกโยคะระดับพื้นฐาน 6 วิดิโอ
✅วิดิโอคลาสโยคะรูปแบบต่างๆ อีก 4 วิดิโอ
✅ไฟล์ PDF ภาพประกอบชุดท่าโยคะพื้นฐานเพื่อเก็บไว้ฝึกเอง
✅กวางและทีมงานที่คอยตอบคำถามตลอดการใช้งาน ทั้งคำถามเรื่องโยคะ และคำถามเรื่องเทคนิคอุปกรณ์การใช้งานต่างๆ
✅คอร์สเรียนดูได้ตลอดชีพ

รวมเวลาการฝึกในคอร์สกว่า 11 ชั่วโมง เรียนจบคอร์สรับรองว่าสามารถฝึกโยคะเองได้อย่างเข้าใจและมั่นใจค่ะ นอกจากนี้ยังสามารถส่งวิดิโอมาให้ช่วยเช็ก ส่งคำถามหรือพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับการฝึก (หรือเรื่องอื่นๆ ก็ได้นะจ๊ะ)

🔥 ทั้งหมดนี้ในราคา 2,499- จ่ายครั้งเดียวดูได้ตลอดชีพ

ถ้าสนใจสามารถแมสเสจหรือแอดไลน์มาพูดคุยสอบถามได้ที่ @pordiporyoga (คลิ๊กลิงค์ได้เลยที่นี่ → https://lin.ee/2HxBgL2)

สนใจสั่งซื้อหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ https://www.pordiporyoga.com/

อ่านรีวิวคอร์สได้ที่นี่ https://www.pordiporyoga.com/course-review-page/
ซื้อก่อนสวยแถมสุขภาพดีก่อนใคร ฝึกเองมาแล้วเก้าปี ของดีบอกต่อเลยจ้าา 🥳

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top