Ever-changing Alignment

การจัดระเบียบท่าที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เวลาที่ไปลองฝึกกับครูหลายๆ คนบางทีก็จะเจอการจัดระเบียบท่าใหม่ๆ ที่เรารู้สึกว่าดี เราก็จะเก็บเอามาใช้ บางทีก็รู้สึกเหมือนกันว่าการจัดระเบียบท่าเนี่ย มันเป็นสิ่งที่เติบโตขึ้นตามประสบการณ์ของเรา มันไม่ใช่อะไรที่ตายตัวซะทีเดียว

อย่างท่ายืนแอ่นไปด้านหลัง ช่วงที่ฝึกแรกๆ คนจะติดชอบเกร็งสะโพกแล้วก็แอ่นหักหลังไปโดยไม่ได้ใช้แรงจากกล้ามเนื้อขาช่วยพยุง (ส่วนหนึ่งเพราะกล้ามเนื้อขายังไม่แข็งแรง และท้องกับหลังก็ยังไม่แข็งแรงด้วย) ก็จะทำให้เจ็บหลังได้ คนที่ฝึกแรกๆ จึงไม่ควรเกร็งสะโพกช่วย แต่ควรเน้นที่การใช้แรงจากขาและการแอ่นเปิดหน้าอกเยอะๆ มากกว่า

แต่พอฝึกไปสักระยะหนึ่งที่กล้ามเนื้อขาเริ่มมีแรง หลังเริ่มเปิดและสามารถแอ่นเปิดอกลงไปได้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้กลับต้องเริ่มใช้การเกร็งสะโพกช่วยในการพยุงตัวด้วย เพราะเราเริ่มแอ่นได้ลึกแล้ว ซึ่งถึงตอนนี้ทั้งท้องและหลังก็จะมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะเกร็งสะโพกแล้วไม่เจ็บ แถมยังมีขาช่วยพยุงอีกแรงด้วย

ดังนั้นจะเห็นว่าสิ่งที่สอนออกไปมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะระดับกล้ามเนื้อนักเรียนเองก็แตกต่างกันในแต่ละคน และในคนเดียวกันก็แตกต่างกันในแต่ละวันด้วย บางทีการสอนที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่การพูดบอกแต่เป็นการไกด์ในส่วนที่สำคัญ น้อมเค้าให้เข้าสู่การสังเกตตัวเองและค่อยๆ ฝึกด้วยใจที่ปล่อยวาง เพราะหลายครั้งอาการบาดเจ็บก็เกิดจากใจที่อยากจะได้อยากจะเอา และฝึกอย่างรีบร้อนจนลัดขั้นตอนไป

แม้แต่ตัวกวางเองทุกวันนี้ก็ยังพบเจอการจัดระเบียบท่าใหม่ๆ ตลอดเวลา แล้วก็จะเลือกเก็บมาแต่อันที่คิดว่าเหมาะสมกับการฝึกและการสอนของเรา ซึ่งก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน อย่างการจัดระเบียบท่าที่ใช้ในวันนี้ พอถึงวันพรุ่งนี้มันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป การรับรู้และเข้าใจถึงความจริงข้อนี้จะทำให้การฝึกของเรากลมกลืนมากขึ้น

เพราะสุดท้ายเราจะรู้ว่าไม่ว่าหลักการใดๆ ที่เรียนมาก็เป็นเพียงความรู้จำ และไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับสิ่งที่เกิดอยู่บนร่างกายของเราซึ่งก็คือความรู้จริง แต่สิ่งนี้เองก็ไม่ใช่ความจริงที่ตายตัว เป็นความจริง ณ ขณะนั้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอค่ะ

*พอรู้แบบนี้แล้วก็อย่ายึดกับคำพูดกวางตายตัวนะคะ สังเกตตัวเองไปด้วยเวลาฝึกดีที่สุดค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top