ทวงคืนเวลาในชีวิตของตัวเอง | Attention Resistance Movement

ทุกคนจำช่วงเวลาก่อนเรามีสมาร์ทโฟนเครื่องแรกได้มั้ยคะ? ตอนนั้นเวลาว่างเราชอบทำอะไรเป็นพิเศษ? เราสนใจอะไรเป็นพิเศษบ้างพอจะจำกันได้มั้ยคะ?

ส่วนตัวกวางจำได้ว่าเราเป็นคนติดหนังสือการ์ตูนกับนิยายมากๆ ไปไหนมาไหนก็ต้องพกหนังสือติดตัวไปด้วยทุกที่ที่ไป แล้วพอว่างก็จะหยิบขึ้นมาก้มหน้าก้มตาอ่านแบบไม่สนใจใคร (จริงๆ ติดขนาดนั้นก็ไม่ใช่ว่าดีหรอกค่ะ) แต่นั่นก็คือตัวเราในช่วงเวลาก่อนการมีสมาร์ทโฟนที่กวางพอจะนึกออก

กวางตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องแรกในปี 2011 หลังผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น เพราะในปีนั้นเรากำลังไปเรียนภาษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นพอดี

ในช่วงที่กำลังเกิดแผ่นดินไหวและการประกาศสึนามิที่ตามมาหลังจากนั้น กวางจำได้ว่าตอนนั้นเราออกมายืนอยู่นอกสถานีรถไฟ และพยายามที่จะกดโทรศัพท์เพื่อโทรออกพร้อมๆ กับคนนับล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งนั่นก็ทำให้สัญญาณโทรศัพท์ล่มทุกเครือข่ายอยู่นานทีเดียว

แต่ท่ามกลางการโทรออกที่ไม่สำเร็จของเราและคนรอบข้าง มีคนแค่กลุ่มเดียวเท่านั้นที่โทรออกสำเร็จ คือคนที่ใช้สมาร์ทโฟนโทรผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต

และนั่นก็คือเหตุผลหลักที่กวางใช้ตอบตัวเองว่าทำไมเราถึงตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟน (หลังจากบ่ายเบี่ยงอยู่นานหลายปี)

ก่อนที่จะพบว่าในอีกหลายปีต่อมาเราต้องมาต่อสู้กับ “อาการติดมือถือ” ของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า

..

.

ช่วงเวลาสำคัญที่ช่วยให้กวางตระหนักถึงผลกระทบของ “อาการติดมือถือ” คือเมื่อปี 2017 ที่กวางได้อ่านหนังสือเรื่อง Deep work เป็นครั้งแรก

เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้พูดถึงว่า ถ้าเราสามารถฝึกตัวเองให้มีสมาธิจดจ่อที่ดีได้ เราจะสามารถทำงานและเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ไว ได้ลึก แล้วพอเราทำทุกอย่างเสร็จเร็ว (อย่างมีคุณภาพ) เราก็จะเหลือเวลาที่จะไปทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้มากขึ้น

แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้กวางได้เห็นชัดเจนเลยว่า “อาการติดมือถือ” คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อที่ดีได้

🥦 1. ทำไมถึงอยากเลิกติดมือถือ

จากเมื่อก่อนที่เราสามารถอ่านหนังสือแฮร์รี่ พ๊อตเตอร์แบบไม่หลับไม่นอนต่อกันสามวันได้ (เล่ม 5 ใครจำได้มั้ย?) จนตอนนี้เรากลายมาเป็นคนที่อ่านหนังสือไม่ทันครบหนึ่งหน้าก็เผลอหยิบมือถือขึ้นมาแล้ว กวางคิดว่าตัวเองมีปัญหาจริงๆ แล้วละ

นอกจากจะพบว่าตัวเองอ่านหนังสือจบยากขึ้น กวางยังสังเกตเห็นถึงความยากลำบากในการพยายามจดจ่อของตัวเอง

อย่างในเวลาที่เราต้องการสมาธิจดจ่อกับงานบางอย่าง เราพบว่าสมาธิของเราเกิดช้ากว่าเดิม และคงอยู่ได้ไม่ยาวนานนักก่อนที่จะเผลอไปนึกถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วพอรู้ตัวอีกทีก็มีมือถืออยู่ในมือพร้อมกับกำลังเช็กเรื่องอะไรบางอย่างอยู่ และหลายๆ ครั้งเรื่องเหล่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับงานที่อยู่ตรงหน้าเลย

นอกจากความสามารถในการจดจ่อที่ลดลงอย่างมาก ประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดลง รวมถึงในหนังสือที่กวางอ่านหลายๆ เล่ม เค้าก็เริ่มพูดกันถึงเรื่องความพึงพอใจในชีวิตที่ลดน้อยลงจากการใช้โซเชียลมีเดียนานๆ

ซึ่งพอมานั่งคิดดูดีๆ กวางก็เริ่มจะรู้สึกขึ้นมาว่า เอ้อ เราก็เข้าเค้าเหมือนกันนะ

แล้วใครจะไม่เป็นบ้างล่ะ ในเมื่อวิทยาศาสตร์ก็ได้อธิบายแล้วว่า “การเปรียบเทียบ” เป็นสัญชาติญาณที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน (ตั้งแต่ยุคเก็บของป่าล่าสัตว์ การเปรียบเทียบกับมนุษย์คนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่ช่วยให้เราอยู่รอดได้ในฝูง)

ดังนั้นในวันที่เรากำลังรู้สึกแย่จากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต การตอกย้ำตัวเองด้วยการเห็นชีวิตดีๆ ของคนอื่นในโซเชียลมีเดีย ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รวมถึงการที่วันนึงกวางพบว่าความบันเทิงหลักในชีวิตเรามาอัดรวมกันอยู่แค่ในหน้าจอเล็กๆ บนมือถือนี้ พอคิดได้แบบนี้จิตใจภายในมันก็ห่อเหี่ยวกับความแห้งแล้งของชีวิตตัวเอง

ชั้นไม่ได้อยากมีชีวิตแบบนี้!

และด้วยเหตุผลเหล่านี้ (และอีกมากมายที่สาธยายไม่หมด) กวางจึงตัดสินใจที่จะสู้กับอาการติดมือถือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะมันได้

🥦 2. ชีวิตที่เราต้องการหน้าตาเป็นแบบไหน?

ตลอดหลายปีที่ผ่านมากวางก็ได้ลองมาแล้วสารพัดวิธี ทั้งที่ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ซึ่งก็จะขอยกยอดเอาไปเขียนรวมกันในคราวหน้า เพราะคราวนี้กวางจะขอแบ่งปันวิธีที่กวางใช้ล่าสุดที่ได้ผลดีกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา (วิธีก่อนหน้านี้ได้ผลอยู่ไม่กี่สัปดาห์ก็กลับไปติดใหม่ค่ะ)

สำหรับวิธีนี้เรื่องแรกที่เราต้องคิด คือ ถ้าเราได้เวลาคืนมาเราจะเอามันไปทำอะไร?

เพราะเวลาที่เราจะได้คืนมาจากการเลิกติดมือถือต้องมี “ที่ไป” ที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นมันง่ายมากที่จะตกหลุมกลับลงไปติดมือถือแบบเดิมอีก เพราะเราไม่มี “สิ่งที่ดีกว่า” ให้ทำ นอกจากการเล่นมือถือ

ดังนั้นเราจึงต้องคิดถึงหน้าตาของชีวิตที่เราต้องการก่อน แล้วเราจะได้เอาเวลาเหล่านี้ไปค่อยๆ สร้างชีวิตแบบที่เราต้องการ หรือทำบางสิ่งบางอย่างที่ตอบโจทย์ชีวิตที่เราต้องการ

เช่น ของกวางเอง กวางอยากมีชีวิตที่มีคุณค่า(ในความหมายของเรา) อยากทุ่มเทใส่ใจเต็มที่กับงาน และเวลาที่เหลือก็อยากทำงานอดิเรกที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่เราต้องการ รวมถึงมีเวลาได้ทำกิจกรรมที่เติมเต็มจิตวิญญาณภายใน

โดยรวมๆ ก็คืออยาก “ตื่น” ขึ้นมาใช้ชีวิตด้วยความใส่ใจในทุกๆ วัน

ถ้ากวางตรงไปตรงมากับตัวเอง กวางก็ต้องยอมรับว่าสำหรับกวางในช่วงเวลาที่ผ่านมา Facebook Youtube และ IG คือเครื่องมือที่ช่วยให้กวางได้หลบหนีจากช่วงเวลาที่ว่างเปล่าในชีวิต

และหลายๆ ครั้งก็ใช้มันเป็นข้ออ้างในการหลบหนีจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เวลาต้องเผชิญหน้ากับคนแปลกๆ เวลาเศร้า เวลาเครียด เวลาขี้เกียจ เป็นต้น

ในช่วงเวลาเหล่านั้นการไถมือถือไปเรื่อยๆ ดูจะช่วยเติมเต็มช่องว่างบางอย่างในใจเรา แต่ทุกครั้งมันก็มักจะจบลงด้วยความรู้สึกที่ว่างเปล่ายิ่งกว่าเดิม

รอบหลังสุดที่กวางกลับไปติดมือถืออีก กวางเลยตั้งใจและคุยกับตัวเองจริงจังว่า เราต้องการที่จะมีชีวิตแบบไหนกันแน่? (นอกเหนือจากงาน) และเราอยากทุ่มเทเวลากับงานอดิเรกแบบไหนที่ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหน้าจอมือถือบ้าง?

🥦 3. มีงานอดิเรกที่เราจริงจัง

กวางเลือกที่จะสร้างงานอดิเรกให้กับตัวเอง เพราะกวางได้ประสบการณ์ตรงจากอาการ burn out ของตัวเองเมื่อต้นปี 2022 ทำให้กวางรู้ว่าคนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานอย่างเดียวได้ เพราะเราไม่ใช่เครื่องจักร

อย่างในหนังสือ Deep work ก็มีเขียนว่าคนส่วนใหญ่ทำงานที่ใช้สมองหนักๆ (แบบที่เรียกว่า Deep work) ได้แค่วันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น และถ้าเกินกว่านั้นคุณภาพของงานก็จะเริ่มด้อยลง

แล้วเวลาที่เหลือนอกจากงาน 4 ชั่วโมงนั้นเราจะเอาไปทำอะไรล่ะ?

เลยทำให้กวางคิดขึ้นมาได้ว่าเราควรต้องมีกิจกรรมบางอย่าง (ที่อยู่นอกจอมือถือ) ที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย เป็นการพักหัวสมอง และเติมพลังให้กับร่างกายและจิตใจของเราเอง เพื่อที่เราจะได้มีแรงไปต่อที่ดีขึ้นกว่าเดิม

แล้วก็ประจวบกับในหนังสือ Digital Minimalism ที่กำลังอ่านอยู่ก็พูดถึงว่ากลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในการ ”เลิกติดมือถือได้” คือกลุ่มที่สร้างงานอดิเรกคุณภาพสูงให้ตัวเองได้

ซึ่งความหมายของงานอดิเรก คือเราไม่ได้ต้องทำได้ดี หรือได้เก่ง แค่มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำและมันตอบโจทย์คุณค่าบางอย่างในชีวิตของเรา ทำให้เรารู้สึกเติมเต็มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านความคิด ชีวิต หรือจิตวิญญาณ (หรืออาจจะเป็นฝีมือที่ดีขึ้น)

อย่างกวางเองเลือกงานอดิเรกเอาไว้ให้ตัวเองคร่าวๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่าปีนี้เราจะเริ่มจริงจังกับการทำอาหารทานเองแล้วนะ จะได้ลดการซื้ออาหารนอกบ้านลง แล้วเผื่อสุขภาพจะดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ก็มีปลูกผักสวนครัว หัดวาดรูปวันละนิดละหน่อย อ่านหนังสือ และจัดสรรเวลาไปเดินป่าอย่างน้อยที่สุดสองสัปดาห์ครั้งนึง

กวางเลือกทำสิ่งเหล่านี้เพราะมันเป็นสิ่งที่กวางมองว่ามีประโยชน์กับทั้งชีวิตและจิตใจของตัวเอง

การทำอาหารช่วยให้กวางได้หัดใช้มือทำงาน หัดสังเกต ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการทั้งเตรียมและทำ

การปลูกผักสวนครัวบังคับให้กวางต้องมีความใส่ใจคอยลงไปดูแปลงผักว่าหนอนมากินรึยัง อันไหนตัดได้ ตัดไม่ได้และจะเอาผักที่มีมาใช้ทำอาหารอะไรได้บ้าง เป็นการฝึกความกล้าในการทดลองเมนูใหม่ๆ 😆

การวาดรูปฝึกให้กวางหัดคิดให้เป็นภาพ หัดที่จะสื่อสารให้ชัดเจนผ่านรูปที่มีขนาดเล็ก ได้ใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และได้ผ่อนคลายไปในตัว

การไปเดินป่านอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอแล้ว ยังช่วยให้กวางได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลผ่านสิ่งมีชีวิต และธรรมชาติโดยรอบที่เปลี่ยนไปในทุกๆ ครั้งที่กวางไปเดิน

และการอ่านหนังสือช่วยเปิดโลกของกวางให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

🥦 4. ความพยายาม = ความพึงพอใจ

ทั้งหมดทั้งมวลแม้จะเป็นไปเพื่อการเติมเวลาว่างของตัวเอง เพื่อไม่ให้เรากลับไปเล่นมือถืออีก แต่กิจกรรมเหล่านี้เองก็ตอบโจทย์คุณค่า และความหมายของชีวิตที่กวางตั้งไว้ให้กับตัวเอง

แม้งานอดิเรกหลายๆ อย่างอาจดูเป็นเรื่องน่ารำคาญใจ

ทำไมต้องมานั่งปอกกระเทียมกลีบเล็กๆ ในเมื่อเราสั่งอาหารผ่านทางแกรปได้?

ทำไมต้องมาคอยรดน้ำผักทุกเช้าในเมื่อซื้อเอาอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ?

ทำไมต้องมานั่งวาดรูปที่หาเงินให้เราไม่ได้ด้วย?

แต่ว่าความพึงพอใจในชีวิตคนเราล้วนเกิดได้จากความพยายาม การที่เราได้ลงทุนเวลาและความพยายามไปกับบางสิ่งจะทำให้สิ่งนั้นมีคุณค่ามากขึ้น แล้วความพึงพอใจในชีวิตเราก็จะสูงขึ้นด้วย

นึกถึงความรู้สึกที่เราอยากจะปรบมือให้ตัวเองดังๆ หลังเล่นคลาสออกกำลังกายที่แสนหนักหน่วงจบ

ความรู้สึกหลังการจัดและทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เสร็จ หลังจากที่เราปล่อยรกๆ ไว้เป็นแรมปี

ความรู้สึกของการทำบางสิ่งบางอย่างที่ยากและต้องใช้ความพยายามได้สำเร็จ

ความสะดวกสบายหลายๆ อย่างก็เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งความพยายามที่เพิ่มขึ้นอีกนิด ก็สามารถทำให้ชีวิตเรารู้สึกรุ่มรวยขึ้นได้มหาศาล

อาหารที่กวางทำทานเอง ไม่ได้ทำให้แค่อิ่มท้องแต่กวางรู้สึกอิ่มไปถึงจิตวิญญาน แม้บางครั้งมันจะออกมารสชาติแปลกๆ ก็ตาม

งานอดิเรกคุณภาพสูงจึงมีความจำเป็นกับ “ความเป็นมนุษย์” ในตัวเรา และมันทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่เต็มอิ่มมากขึ้น

🥦 5. คุณค่าที่จับต้องได้

ความพยายามในการลดการใช้มือถือรอบนี้สิ่งที่ต่างออกไป แล้วได้ผลมากกับกวางคือ

“กวางเลือกสร้างงานอดิเรกให้ตัวเองอย่างจริงจังก่อน คือลงมือทำบางสิ่งบางอย่างจริงๆ แล้วพอเราชอบ เราสนุก งานอดิเรกของเรามันเริ่มเต็มอิ่มมากขึ้น เราก็พบว่า – โลกของชีวิตจริงที่เรากำลังสร้างมันให้ความรู้สึกอิ่มเอมมากกว่าโลกในหน้าจอมือถือ – พอเป็นแบบนั้นความอยากเล่นมือถือของเราก็เริ่มค่อยๆ ลดลง”

แล้วทุกวันนี้กวางก็เริ่มเรียนรู้ที่จะใช้มือถือเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยซัพพอร์ตงานอดิเรกของเรามากขึ้น เช่น เราเสิร์ชวิธีทำอาหารจากยูทูป เราเสิร์ชหารูปเพื่อจะวาดจาก Pinterest และเราเก็บบันทึกรูปอาหารที่เราทำเอาไว้ใน IG (ลับ) อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สร้างความพึงพอใจให้เราได้พอๆ กันหรือมากกว่าการเล่นมือถือ โดยที่ไม่ทำให้เราเสียสมาธิด้วย เพียงแต่เราต้องตั้งใจคิด และวางแผนการใช้เวลาของเราอย่างใส่ใจ

เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้เรากำลังต่อสู้กับกองทัพของนักสังคมศาสตร์ นักจิตวิทยา โปรแกรมเมอร์ (นับพันนับหมื่นคน) และเงินอีกนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างแอปมือถือที่ทำให้เราเสพย์ติด

ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องว่าเราขี้เกียจ หรือความมุ่งมั่นของเรายังไม่มากพอ แต่พวกเค้าตั้งใจออกแบบทุกมิลลิเมตรบนหน้าจอมือถือให้มันเสพย์ติดจริงๆ เพราะทุกครั้งที่คุณไถมือถือ เท่ากับคุณกำลังเติมเงินเข้ากระเป๋าให้กับบริษัทพวกเค้าอยู่

เค้าจึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะดึงความสนใจของคุณไว้ให้ได้มากที่สุด แม้จะต้องใช้วิธีที่เลวร้ายที่สุดคือการเล่นกับกิเลสในใจคน (ดราม่า การเปรียบเทียบ จุดอ่อนในใจ)

แต่ถึงพูดขนาดนี้ก็ไม่ได้แปลว่ากวางเชื่อว่ามือถือจะมีแต่เรื่องไม่ดีอย่างเดียว เพียงแต่กวางคิดว่าถ้าเราไม่คิดให้ดีๆ ถึงเรื่องวิธีการใช้งานที่เหมาะสมกับตัวเราเอง เราอาจจะพบว่าเมื่อเรารู้ตัวอีกทีชีวิตก็จะลอยผ่านเราไปโดยที่เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่จริงๆ เลย และนั่นคือความน่ากลัวของมัน

..

.

Tim Cook CEO คนปัจจุบันของบริษัทแอปเปิ้ล เคยพูดว่า

“ผมไม่ได้มีลูก แต่ผมมีหลานที่ดูแลและสั่งสอนอยู่ และผมไม่ให้เค้าเล่นโซเชียลมีเดีย”

และอีกคำพูดที่โดนใจกวางที่สุดคือของ George Packer นักเขียนของนิตยสาร New Yorker ที่บอกว่า

“ผมกลัว Twitter ไม่ใช่เพราะผมคิดว่าผมดีกว่าใคร แต่เพราะคิดว่าผมคงรับมือมันไม่ไหว แล้วปล่อยให้ลูกของตัวเองอดตาย”

บทความที่กวางเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทำยังไงให้เลิกติดมือถือ
วันที่กวางตัดสินใจพักและเข้าป่า
ตามหาชีวิตในแบบของเรา

บทความที่พูดถึงเหล่า CEO บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่ไม่อนุญาตให้ลูกตัวเองเล่นมือถือ

https://www.cnbc.com/2018/06/05/how-bill-gates-mark-cuban-and-others-limit-their-kids-tech-use.html

https://www.businessinsider.com/screen-time-limits-bill-gates-steve-jobs-red-flag-2017-10

https://www.independent.ie/life/family/parenting/the-tech-moguls-who-invented-social-media-have-banned-their-children-from-it-37494367.html

https://www.cnbc.com/2018/01/23/apple-ceo-tim-cook-dont-let-your-kids-use-social-media.html

1 thought on “ทวงคืนเวลาในชีวิตของตัวเอง | Attention Resistance Movement”

  1. แตนนี่

    สวัสดีค่ะครูกวาง
    ขอบคุณที่แชร์เรื่องนี้ค่ะ กำลังหาทางออกเหมือนกัน สมาธิที่เหมือนจะมีแต่ไม่มีเลยค่ะ แถมอีกหนึ่งนิสัยที่มากับอาการติดมือถือสำหรับแตนคือ “ผัดวันประกันพรุ่ง” พร้อมอ้างเหตุผลนั่นนี่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรากลัวที่จะไม่ได้เล่นมือถือมากพอต่างหาก (อันนี้สังเกตตัวเอง)

    ส่วนตัวแล้วเรื่องอาหารนั้นชอบทำเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ ปัญหาการติดมือถือของแตนคือ ติดจนไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำและควรทำ (ร้ายแรงอยู่นะคะ) ขอเอาไอเดียครูกวางไปปรับใช้กับตัวเองหน่อยนะคะ

    ได้ผลยังไง จะมาแชร์ค่า

    แตน

ส่งความเห็นที่ แตนนี่ Cancel Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top