โยคะคือการปฎิบัติธรรมแบบเคลื่อนไหว

Yoga is a Moving Meditation

ยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่ฝึกโยคะมาหลายปีแต่พัฒนาการทางด้านจิตค่อนข้างเชื่องช้าเหมือนเต่า ด้วยความที่มองว่าโยคะและการปฏิบัติธรรมแยกส่วนกันมาตลอด แต่เพราะเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเรียนคอร์สครูสมาธิของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโรและได้ฟังธรรมของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชโชมากขึ้น รวมทั้งขยันปฏิบัติเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้เริ่มรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันของโยคะและการปฏิบัติธรรม

สิ่งที่จุดประกายความเข้าใจบางทีมันก็ผ่านมาโดยที่เราไม่ได้นึกถึง เมื่อเช้านึกอยากตื่นเช้าขึ้นมาอ่านหนังสือเล่มนึง ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของเรื่องนี้

หนังสือจากวัยเยาว์

ในศูนย์หฐราชาโยคาศรมที่เรียนอยู่(ตั้งแต่อายุ 25 จนถึงปัจจุบัน) บนชั้นวางของมีอยู่ชั้นนึงที่วางหนังสือกองใหญ่เกี่ยวกับโยคะเอาไว้ ทั้งหมดเป็นหนังสือของอาจารย์คริสซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่เจ้าของศูนย์และอาจารย์ของกวาง ส่วนใหญ่เป็นแนวปรัชญาที่เข้าใจยาก เล่มหนาบ้างบางบ้างแต่ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เห็นหนังสือกองนั้นครั้งแรกกวางก็ฝันไว้ว่าวันนึงจะมีโอกาสได้อ่านบ้างเพราะกวางเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และรู้ดีว่าหนังสือหลายเล่มอาจารย์เก็บมาตั้งแต่สมัยเรียนซึ่งคงจะหายากแล้วในยุคนี้ ตอนที่ไปขออาจารย์เมื่อตอนอายุ 26 แกยื่นหนังสือเล่มบางๆมาให้ ชื่อว่า Philosophy of Hatha Yoga พร้อมกับบอกว่าอ่านเล่มนี้ให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยมาเอาเล่มอื่น ซึ่งแน่นอนว่าจนบัดนี้กวางก็ยังไม่ได้ไปเอาเล่มอื่น 555

จากการจัดชั้นหนังสือเมื่อวันก่อนทำให้ได้พบเจอกับหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง แล้วพอเปิดอ่านหน้าแรกก็ถึงกับแปลกใจเลยค่ะ เพราะจากที่เคยอ่านไม่รู้เรื่องเลย วันนี้กลับอ่านเข้าใจมากขึ้น จึงได้กลับมาอ่านจริงจังอีกครั้งนึง

Hatha Yoga is a path toward Raja Yoga

หฐโยคะในความหมายตามตำราไม่ใช่หฐโยคะอย่างที่เราเข้าใจในทุกวันนี้ หฐโยคะแท้จริงแล้วคือโยคะภาคกาย ซึ่งเมื่อฝึกฝนอย่างถูกต้องจะนำไปสู่การพัฒนาของจิต ซึ่งก็คือราชาโยคะ หรือโยคะภาคจิต ซึ่งสองคำนี้ก็เป็นที่มาของชื่อศูนย์หฐราชาโยคาศรมด้วย

หลังอ่านหนังสือจบกวางก็ฝึกโยคะต่ออย่างที่ตั้งใจ แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิม อาจจะเพราะเข้าใจความหมายของโยคะลึกซึ้งมากขึ้นอีกซักหน่อย ทำให้มองเห็นตัวเองกำลังฝึกโยคะอย่างแจ่มชัดเป็นครั้งแรก จิตใจสงบเย็น พร้อมบรรยากาศหลังฝนตกยามเช้า ที่มองออกไปเห็นต้นไม้สีเขียวล้อมรอบ พอเปิดหน้าต่างออกรับอากาศธรรมชาติ ห้องฝึกวันนี้ก็สดชื่นขึ้นมาเลย

มองเห็นเท้าของตัวเองขยับก้าวไปข้างหน้า เห็นแผ่นหลังยืดยาวขึ้นสู่ฟ้า เห็นแขนที่เหยียดตามไป เห็นจิตตัวเองที่เฝ้ามองร่างกายค่อยๆโค้งลงนอบน้อมให้กับธรรมชาติเบื้องหน้า ลมหายใจทุกจังหวะแจ่มชัดในความรู้สึก รับรู้ร่างกายอย่างผ่อนคลาย คลายทั้งกาย คลายทั้งใจ มีความสุขจนเผลอยิ้มให้กับต้นไม้เลยละ

เห็นกายเห็นใจ

ในการฝึกแต่ละครั้ง นอกจากท่ามาตรฐานแล้ว เวลาที่ฝึกส่วนตัวกวางมักจะมีการต่อท่าเป็นทวิลีลาและไตรลีลา(2 และ 3ท่าต่อเนื่อง) นอกจากนี้ในการฝึกหลายๆครั้งก็มีที่เผลอตัวปล่อยตามใจไปฝึกท่ายากๆที่อยากลอง วันนี้ก็เช่นกัน ระหว่างทำท่ายืนเกิดอยากลองท่ายากที่ไม่ได้ฝึกมานาน ทั้งขณะที่เข้าท่าได้ไม่สมบูรณ์และขณะที่ลองเสร็จแล้ว มองเห็นจิตที่สั่นคลอนไปด้วยความโลภของตนเองเป็นครั้งแรก จิตที่อยากได้ อยากทำ เห็นความอึดอัดไม่สบายของใจ จนต้องหยุดเพื่อดูจิตที่กระสับกระส่ายจนใบไม้ที่อยู่ตรงหน้าแทบจะไหวตาม แตกต่างจากตอนที่ฝึกเคลื่อนไหวตามลมหายใจแบบปกติมากทีเดียว

การลองท่ายากทำให้ได้รับรู้ถึงความไม่พร้อมของกายและจิต หากจิตยังคงกระสับกระส่าย คงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าท่าได้อย่างมั่นคง หรือหากฝืนก็คงนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บต่างๆ เพราะแท้จริงแล้วโยคะไม่มีทางลัด อาจจะมีก็เพียงเทคนิคเล็กๆน้อยๆที่พอสอนให้คนได้รู้สึกตัวมากขึ้นในขณะฝึก แต่ทางลัดนั้นไม่มี โยคะไม่มีการแข่งขัน ทางที่เร็วและตรงที่สุดของโยคะคือฝึกเปิดไปเรื่อยๆ ทีละจุดๆ อย่างปล่อยวาง อย่างไม่เร่งรีบ เพราะเราไม่มีความจำเป็นต้องแข่งกับใคร แม้แต่กับตัวเราเอง

ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ไม่มีเริ่ม ไม่มีจบ มีแต่ทางที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น

คำพูดที่ครูทุกคนพร่ำบอกว่าให้ฝึกอย่างปล่อยวาง ให้อยู่กับร่างกาย อยู่กับลมหายใจ ณ ปัจจุบันขณะ เป็นคำสอนที่พูดง่าย แต่ทำยากกว่าเป็นร้อยเท่า

ศาสตร์อื่นๆยิ่งทำ ยิ่งเก่ง แต่กับโยคะที่เป็นการฝึกร่างกายและจิตใจของเรา ยิ่งเรามีความอยากเรายิ่งไม่ได้ ยิ่งเราขยันฝึกร่างกายแต่หากเราละเลยการฝึกใจ เรายิ่งห่างไกลจากความก้าวหน้าในโยคะไปทุกที และสิ่งที่เราได้คงเป็นเพียงความเก่งในอาสนะ แต่คงไม่ใช่โยคะในความหมายที่แท้จริง

ส่งท้ายด้วยกลอนเบาๆจากวันแสนสุข

อยากได้อยากเอา ก็รู้และวาง

อยากเก่งอยากดี ก็รู้และวาง

ความตึง ก็รู้ ความกระสับกระส่าย ก็รู้

รู้และวาง วางที่จิต วางที่กาย

สบายที่กาย สบายที่ใจ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top