เมื่อแฟนสั่งให้เขียนรีวิวการทำงานอัดคอร์สโยคะออนไลน์

การอัดคอร์สออนไลน์ช่วงที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่มีค่ากับการทำงานของกวางหลายอย่างเลยค่ะ เมื่อก่อนกวางรู้สึกว่าเราเป็นคนที่เอื่อยเฉื่อย และค่อนข้างขี้เกียจ (แต่มีความทะเยอทะยานนะ) และเพราะเราพอรู้จุดอ่อนว่าเราเป็นแบบนั้น (หรืออย่างน้อยเราก็เคยถูกทำให้เชื่อว่าเราเป็นแบบนั้น) เราถึงได้พยายามอยากจะข้ามพ้นคำนิยามนั้นของตัวเอง

ความยากของมันคือ นิสัยรักความสมบูรณ์แบบหน่อยๆ ของกวางที่ทำให้เราค่อนข้างละเอียดในการทำงาน มันเลยเป็นสาเหตุนึงที่งานเราช้า เพราะเราจะมีข้ออ้างให้กับความ “ยังไม่ดีพอ” ของทุกสิ่ง มันเลยออกจะทำให้กวางขยับตัวช้าในโปรเจ็คที่ใหญ่และต้องใช้พลังใจเยอะ 

มีหลายสิ่งที่เป็นการลองผิดลองถูกจากการทำคอร์สรอบนี้ที่กวางเชื่อว่าน่าจะเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์กับทั้งตัวกวางเองและคนอื่นๆ เลยอยากจะเอามาแชร์ให้ฟังค่ะ

1. ถ้ามันง่ายเกินไปบางทีมันอาจจะผิดก็ได้

ตอนที่กวางถ่ายคอร์สช่วงแรก กวางถ่ายได้ไวมาก แป๊บๆ ถ่ายไปแล้วครึ่งคอร์ส มันเร็วไป ผิดปกติ และมันมีความรู้สึกไม่อิ่มไม่ฟินตอนถ่ายเสร็จด้วย กวางเลยหยุดพักสามสี่วันเพื่อจะได้มีเวลานั่งรีวิวงานของตัวเอง 

มีคนเคยถามเหมือนกันว่ากวางดูงานตัวเองออกมั้ยว่ามันดีหรือไม่ดี กวางว่ากวางดูออกนะคะ เพียงแต่ว่ามันต้องมีจังหวะให้เราได้วางจากมันบ้าง ทิ้งมันไปสักพัก แล้วกลับมาดูใหม่ด้วยใจที่เป็นกลาง แล้วพอทำแบบนั้นกวางก็เห็นข้อบกพร่องของการถ่ายคลิปชุดแรกเต็มเลยค่ะ มันมากมายเสียจนตัดสินใจโยนทิ้งทั้งหมด และทำให้เรากลับมาคิดวางแผนการทำงานใหม่เพื่อให้ได้งานที่ดีขึ้นกว่าเดิม

2. ใจที่สงบจำเป็นมาก

สิ่งที่กวางค้นพบจากการอัดวิดิโอรอบแรกคือกวางกังวลกับสคริปต์มากไป พอใจเราจดจ่ออยู่กับสคริปต์ที่ยังท่องได้ไม่แม่น เราก็พลาดโอกาสที่จะสัมผัสประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกายขณะที่เราฝึก/ สอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะถ้าดูจริงๆ แล้ว กวางเองฝึกโยคะมาสิบปี ประสบการณ์หลายๆ อย่างมันเกิดขึ้นและสะสมอยู่ภายในตัวเราอยู่แล้ว (กวางเชื่อว่าผู้ที่ฝึกโยคะมานานๆ ทุกคนเป็นเหมือนกัน) แต่เราจะดึงประสบการณ์นั้นออกมาเล่า ออกมาสื่อสารไม่ได้เลยถ้าเราไม่สงบพอที่จะเงี่ยหูฟังสิ่งที่ร่างกายต้องการจะบอกเรา

ในรอบที่สองที่กวางถ่ายวิดิโอ กวางเลยกำหนดไว้เลยว่าต้องตื่นมานั่งสมาธิทุกเช้า นั่งสมาธิให้มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วหลังจากนั้นค่อยเคลียร์สคริปต์ออกจากหัว (กวางท่องคร่าวๆ ตั้งแต่คืนก่อนหน้า) และลงรายละเอียดตัวสคริปต์ให้จบว่าต้องหันทางไหน พูดอะไรตรงไหน เพราะมันก็จะมีคำพูดบางอย่างที่กวางอยากล๊อกไว้เลยว่าต้องบอก และอีกบางอย่างที่กวางปล่อยให้คนข้างบนเค้าเซอร์ไพรส์กวาง

3. ทำสคริปต์ 80-20

เทคนิคนี้กวางได้จากตอนไปเข้าคอร์ส public speaking ของครูโอ๋ อจ.สาวสวยสุดแซ่บของคณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ ครูโอ๋สอนไว้ว่า เวลาพูดให้เราทำสคริปต์ให้แน่นแค่ 80% พอ อีก 20% ให้เหลือไว้เซอร์ไพรส์ตัวเอง และสิ่งนี้จะทำให้เราสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย 

รอบนี้กวางก็ใช้เทคนิคนี้ไปโดยไม่รู้ตัว (จริงๆ คือเกือบลืมไปแล้ว) แล้วพอทำแบบนี้กวางก็พบว่า เออ เราเซอร์ไพรส์ตัวเองได้จริงๆ ยิ่งเราเตรียมจิตเตรียมใจตัวเองแต่เช้า ยิ่งทำให้เราฟังเสียงร่างกายตัวเองได้ชัดขึ้น ประสบการณ์ภายในมันก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้ง่ายขึ้น

4. สมาธิ สมาธิ สมาธิ

การสอนโดยที่เราเองเป็นคนพูดด้วยและทำด้วยเป็นรูปแบบที่กวางว่าใช้สมาธิค่อนข้างมาก ยิ่งเราต้องจินตนาการว่านักเรียนที่ดูเราอยู่เค้าต้องการอะไรในช่วงเวลานั้น เราจะสอนอะไร จะซัพพอร์ตอะไรเค้าในช่วงไหน เหมือนเราต้องเข้าใจเค้า มองให้เห็นเค้าด้วยการจินตนาการของเรา กวางพบว่ามันใช้สมาธิมากเลย และเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นกับการอัดวิดิโอรอบแรก

เพื่อนเคยถามว่าถ้ามันยากขนาดนี้หานักเรียนมาเรียนในคลาสด้วยสักคนแล้วสอนคนนั้นแทนไม่ง่ายกว่าเหรอ เหตุผลนึงที่กวางไม่เลือกวิธีนั้นเพราะกวางรู้สึกเองว่าเวลาครูสอนแบบนั้นเหมือนเค้าไม่ได้พูดกับเราแต่เค้าพูดกับนักเรียนคนนั้นแทน แต่อันนี้ก็เป็นความชอบของกวางและทางเลือกของกวางคนเดียว หลักๆ ก็คือกวางก็แค่อยากสอนในแบบที่กวางชอบเรียน มันก็เลยออกมาเป็นรูปแบบนี้เท่านั้นเองค่ะ 😊

5. พักเมื่อต้องพัก

รอบที่แล้วที่โละวิดิโอทิ้งกวางถ่ายได้สองวิดิโอในหนึ่งวันเลย (คลาสยาวด้วย) แล้วก็ถ่ายได้สองสามวันติดกันแบบไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น ซึ่งเนื้องานก็ออกมาไม่ผ่านมาตรฐานไปตามระเบียบ

แต่พอรอบสองที่ตั้งใจมากๆ โฟกัสมากๆ กวางพบว่าถ่ายได้หนึ่งวิดิโอในหนึ่งวันกวางก็แทบจะเป็นลมแล้ว มันไม่ได้เหนื่อยแต่มันล้าที่หัวเหมือนเวลาที่เราจดจ่อมากๆ กับอะไรบางอย่าง เหมือนแบตฯ มันหมดก๊องหายไปเลย แล้วกวางก็พบว่ากวางถ่ายได้มากที่สุดคือสามวันติด หลังจากนั้นแบตฯ มันจะหมดเอาจริงๆ ต้องหยุดพักเพื่อหายใจบ้าง

มันคงมีอีกหลายๆ อย่างที่อยู่ข้างใน ไว้กวางจะค่อยๆ เอามาแบ่งปันให้ฟังนะคะ

มีใครพอเข้าใจรึยังว่าที่มาของคำว่า “พอดี + ดีพอ = พอดีพอโยคะ” มันมาจากอะไร มันคือคำพูดที่กวางใช้ท่องใส่ตัวเองนี่ละค่ะ 😛

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top