เทคนิคอ่านให้ไม่ลืมที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ  —  คะบะซะวะ ชิอง

ก่อนจะไปเที่ยวช่วงสงกรานต์กวางมีโอกาสได้ไปเดินซื้อของเพื่อเตรียมตัวเดินทางที่ห้าง หลวมตัวเข้าร้านหนังสือเพราะคิดว่าคงไม่ได้อะไรหรอก สรุปได้ออกมาสี่เล่มแน่ะ

หนังสือกับของกินเป็นสองอย่างที่กวางไม่ได้ตั้งงบจริงจัง เพราะหนึ่งหนังสือดีๆ ที่เสียเงินซื้อไม่ได้มีบ่อย ยิ่งเดี๋ยวนี้ช่างเลือกหนังสือมากขึ้น รู้จักอ่านรีวิว รู้จักสแกนเนื้อหา ยิ่งทำให้พอเจอเล่มที่ชอบแล้วต้องรีบซื้อเก็บไว้ก่อน ส่วนของกินเพราะกวางเป็นคนชอบอาหารบ้านๆ ยังไงก็ไม่แพงอยู่แล้ว ก็เต็มที่เลยจ้ะ

หนังสือเล่มนี้เอาไปอ่านในทริปด้วยสลับกับอีกเล่มนึงที่ดีพอๆ กัน ปกติเวลาไปเที่ยวกวางจะพกหนังสือไปอย่างน้อยสองเล่ม เล่มที่เนื้อหาหนักหน่อยเล่มนึง กับเล่มที่อ่านง่ายกว่าอีกเล่ม ยังไม่รวมหนังสือเสียงที่อยู่ในมือถือ (ซึ่งปกติเอาไว้ฟังตอนนั่ง/ ขับรถนานๆ) แต่ถ้าไปเที่ยวก็จะพยายามอยู่กับเพื่อนมากกว่าเว้นแต่ว่ามีบางจังหวะที่กำลังรอเบื่อๆ เหนื่อยอยากพักเงียบๆ หรือตอนนั่งเครื่องบินนานๆ ก็จะหยิบขึ้นมาอ่านทีละนิดละหน่อย ส่วนมากทริปนึงก็อ่านจบเล่มนึงพอดี

– แทงใจดำ –

หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะอ่านปกหลังแล้วมันกระแทกใจ คือเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กแต่จำเนื้อหาไม่ค่อยได้ และคิดว่ามันก็คงเป็นเรื่องปกติมั้ง แต่พอคนเขียนทักว่าถ้าอ่านแล้วจำอะไรไม่ได้เลยจะอ่านไปทำไมให้เสียเวลาแต่แรก และที่เป็นแบบนี้เพราะเรายังอ่านหนังสือผิดวิธีอยู่ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เค้าก็จะมาสอนวิธีการอ่านที่ถูกต้องเพื่อให้เราสามารถจำเนื้อหาได้ไม่ลืมนั่นเอง

โดยปกติกวางจะเป็นคนชอบอ่านแบบบริโภคตัวอักษรทีละตัว ทำให้อ่านได้ค่อนข้างช้า แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่า “การตั้งใจอ่านทุกตัวอักษรทำให้คุณจำเนื้อหาได้น้อยลง” แล้วไม่รู้คนเขียนตั้งใจรึเปล่าคือช่วงแรกของหนังสือเค้าบรรยายถึงประโยชน์ทั้งหลายที่เราได้จากการอ่าน ซึ่งสำหรับนักอ่านมันก็เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว ก็เลยลองอ่านข้ามๆ ดู (skim&scan ครั้งแรกในชีวิตเลยมั้ง) สรุปก็ทำได้แล้วก็ทำให้อ่านได้ไวขึ้นเยอะเลย

หลักการสแกนที่เค้าให้ไว้ก็น่าสนใจ เราสแกนเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมหนังสือ → กำหนดเป้าหมายการอ่าน → ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายว่าจะ “อ่านแบบคร่าวๆ” หรือ “อ่านแบบละเอียด” ซึ่งถ้าแก้เรื่องนี้ได้คงจะอ่านหนังสือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก เพราะเราอ่านเพื่อให้เกิดการ “เรียนรู้” และ “ฉุกคิด” ถ้าได้สองอย่างนี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว

เทคนิคที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ก็มีหลายอย่าง แต่ที่ชอบมากคือคำแนะนำเรื่องการส่งออกข้อมูล เค้าบอกว่าข้อมูลใดก็ตามถ้าเรารับเข้ามาสู่สมองแล้ว ควรหาทางส่งออกข้อมูลนั้นให้ได้ 3–4 ครั้งภายใน 7–10 วันเพราะเมื่อทำแบบนั้นแล้ว ข้อมูลที่ถูกเรียกใช้บ่อยชุดนั้นจะถูกตัดสินว่า “สำคัญ” และจะถูกย้ายจากที่จัดเก็บข้อมูลชั่วคราวไปอยู่ในคลังเก็บข้อมูลในสมองกลีบขมับที่ลืมได้ยากขึ้น

การส่งออกข้อมูลก็อย่างเช่น ขีดหนังสือหรือจดโน๊ตตอนอ่านไปด้วย เล่าหรือแนะนำหนังสือให้เพื่อนฟัง แชร์คำคมจากหนังสือ เขียนแบ่งปันหนังสือเล่มนั้นให้คนอื่น เป็นต้น

เค้ายังสอนให้เขียน “สิ่งที่ฉุกคิด” หรือ “ความเห็น” ของตัวเองลงบนหน้ากระดาษที่ว่างด้วย ซึ่งการอ่าน คิด เขียน พูดเนี่ยใช้สมองคนละส่วนกัน ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้จำได้มากขึ้น ซึ่งของกวางเรื่องที่ฉุกคิดขึ้นมาหลักๆ เลยคือเรื่องการอ่านข้ามเพื่อเน้นเอาเนื้อหา ไม่เน้นบริโภคตัวอักษรเอามันแบบที่เคยทำมานี่แหละ

นอกจากนี้เค้ายังแนะนำให้อ่านหนังสือตอนที่มีจังหวะว่างสัก 15 นาทีเช่นอยู่บนรถไฟฟ้า หรือนั่งรออะไรสักอย่างหนึ่งเพราะสมองจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวในช่วง 5 นาทีแรก และ 5 นาทีสุดท้ายทำให้จำได้แม่นขึ้น แต่ถ้ามีเวลาแค่ 5 นาทีก็เล่นมือถือเช็กอีเมล์ไปเถอะเพราะเวลามันน้อยไป พอกำลังจะมีสมาธิก็ต้องรีบไปเสียแล้ว

– อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่เคยเข้าใจนี่หน่า –

หนังสือเล่มนี้ยังสอนสิ่งที่ผิดไปจากความเข้าใจเดิมของกวางหลายอย่าง เช่น ให้พับให้ขีดหนังสือได้ตามใจแบบว่าปู้ยี่ปู้ยำหนังสือได้เต็มที่ ซึ่งบางทีคนปกติก็จะอ่านแบบถนอมนิดนึงเผื่อส่งต่อให้คนอื่น แต่คนเขียนบอกว่าการขีดเขียนหนังสือช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น

นอกจากนี้เค้ายังแนะนำให้เปิดข้ามไปอ่านส่วนที่เราอยากรู้แบบทันที ไม่ต้องรออ่านไล่ไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งเราสนองความอยากรู้อยากเห็นของเราได้เร็วเท่าไหร่ โดปามีนหรือสารความสุขก็จะหลั่งออกมาทำให้จำเนื้อหาได้ดีขึ้นด้วย

เค้ายังสอนให้เลือกอ่านหนังสือให้หลากหลาย โดยเปรียบหนังสือแต่ละประเภทเป็นการลงทุนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

การลงทุนระยะสั้น คือหนังสือประเภทที่เอาไปใช้งานได้ทันที เช่นพวกคู่มือต่างๆ การลงทุนระยะกลาง คือหนังสือที่ช่วยพัฒนาการเรียนหรือการทำงานของเรา และสุดท้ายการลงทุนระยะยาว คือหนังสือพวกวิธีคิด ปรัชญาการดำเนินชีวิต ซึ่งเราควรมีการลงทุนทุกแบบในพอร์ตของเรา เพราะการอ่านหนังสือหลายประเภทนี้ช่วยให้เรามีโอกาสพัฒนาทั้งในงานของเราและช่วยให้เราเติบโตภายในได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายเรื่องที่กวางคิดว่ามีประโยชน์มากๆ สำหรับคนชอบอ่านหนังสือคือเรื่องของการจัดหนังสือแยกตามประเภท โดยเค้าแบ่งหนังสือเป็นสามกลุ่ม คือ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับงาน (หนังสือที่ใช้ในงานของเรา)/ หนังสือที่ควรอ่านสองครั้งขึ้นไป/ หนังสือที่อ่านครั้งเดียวได้ ซึ่งพอแบ่งแบบนี้แล้วตาสว่างเลยว่าเออ น่าจะคิดแบบนี้ได้ตั้งนานแล้ว เพราะพอจัดแบบนี้เวลาจะโละทิ้งก็โละประเภทที่อ่านครั้งเดียวก็พอแล้วได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลามานั่งคัดทีละเล่มอีก

– เป้าหมายที่แท้จริง –

จิตแพทย์ที่เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่าภารกิจหนึ่งในฐานะจิตแพทย์ของเค้าคือ การทำให้คนฆ่าตัวตายน้อยลง แม้ว่าจะมีหนังสือมากมายที่ออกมาบอกถึงแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจ หรือการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่เพราะคนไม่ค่อยอ่านหนังสือกัน หรือคนที่อ่านหนังสือแนวนี้แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ป่วยก็มักจะเป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษไม่ใช่คนทั่วๆ ไป ทำให้เค้าออกมาเขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะอยากเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้คนออกมาอ่านหนังสือกันเยอะขึ้น

เพราะคนเราจะสามารถเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตได้ก็จำเป็นต้องรู้วิธีการเสียก่อน แล้วเมื่อเรามองเห็นความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นจากมุมมองที่ได้รับจากการอ่านแล้ว สุดท้ายอนาคตของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องที่กวางได้รับจากหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือดีๆ ที่อยากแนะนำอีกหนึ่งเล่ม ใครสนใจก็ลองไปหาอ่านกันดูนะคะ 🌸

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top