มองเรื่องเดิมในมุมใหม่

กวางชอบฟัง podcast (เป็นรายการวิทยุที่ฟังผ่านแอปพลิเคชั่น Podcasts ของ iphone ซึ่งมีมาให้อยู่แล้วในเครื่อง ส่วนของ Android เห็นว่ามีหลายอัน เช่น Podcast Addict, BeyondPod, CastBox) เพราะมีสาระดีๆ เยอะ ฟังตั้งแต่ธรรมะ โยคะ ธุรกิจ แล้วก็เรื่องแนวสังคมทั่วๆ ไป สลับๆ กันตามแต่อารมณ์ช่วงนั้น

อันนึงที่ชอบคือ Yogaland ซึ่งบางทีเค้าก็จะเชิญครูโยคะชื่อดังๆ มาคุยเกี่ยวกับหลายๆ เรื่องที่น่าสนใจ มีครั้งนึงเค้าชวน Jason Crandell มาออก (เค้าเป็นสามีภรรยากัน) แล้วก็คุยกันถึงเรื่องสุริยนมัสการหรือท่าไหว้พระอาทิตย์

สุริยนมัสการแบบที่คนส่วนใหญ่ฝึกเนี่ยจะเรียกว่า Sun Salutation A หรือ Surya Namaskar A (สุริยนมัสการแบบ a) ซึ่งเป็นชุดท่าต่อเนื่องที่ใช้วอร์มร่างกายตอนต้นคลาสก่อนที่จะไปฝึกท่าโยคะอื่นๆ แล้วสุริยนมัสการตัวนี้ก็มีข้อด้อยอยู่นิดนึงตรงที่มันเป็นชุดท่าที่เน้นการก้มเกือบทั้งหมด

ถ้านับทั้งชุด ท่าก้มจะมีสี่ท่า ในขณะที่ท่าแอ่นจะมีท่าเดียว (จากรูปด้านบน กวางเอามาจากเว็ปของ Jason Crandell เค้าวาดตกท่า อรรถโถมุขสวาสนะหรือ Downward facing dog ไปท่านึงตรงระหว่างท่า 4 กับ 5 กวางไม่แน่ใจว่าทำไม) แล้วเค้าก็เปรียบเทียบว่าอัตราส่วนของก้มกับแอ่นเนี่ยมันเป็น 4:1 ซึ่งอาจดูไม่เยอะ แต่ถ้าเล่นต่อเนื่องกันสิบครั้งก็จะกลายเป็น 40:10

แล้วถ้าเล่นทั้งชีวิตมันจะต่างกันมากมายขนาดไหน?

ทั้งที่โยคะเป็นการฝึกที่เน้นเรื่องสมดุลของร่างกาย แต่ชุดท่านี้กลับไม่สร้างความสมดุลของการก้มและการแอ่นให้เท่าๆ กัน เค้าเลยแนะนำว่าในท่าโยคะที่เราฝึกต่อจากชุดท่านี้ควรจะมีท่าแอ่นผสมเข้าไปด้วยเพื่อช่วยปรับสมดุลร่างกาย

กวางได้ฟังถึงตรงนี้ก็เลยหยุดวิทยุแล้วนั่งนับในหัวว่า เออ แล้วสุริยนมัสการแบบของเรามันก้มกับแอ่นเท่าไหร่หนอ ก็ปรากฏว่าก้มกับแอ่นมันเท่ากันค่ะ 555

แล้วตอนนั้นมันก็เหมือนหลอดไฟสว่างขึ้นมาในหัวว่า อ๋อ ที่อาจารย์เราเรียกสุริยนมัสการแบบที่เราเรียน (และที่กวางใช้สอนอยู่) ว่าแบบปาริปุนามันเพราะอย่างนี้นี่เอง

สุริยนมัสการ กว้างๆ เลยจะมีสองสายค่ะ (แต่คนจะไม่รู้จักสายกวางเท่าไหร่เพราะจะสอนกันอยู่แค่ในอาชรามหรือวัดฮินดูค่ะ ไม่ได้แพร่หลายออกมาข้างนอกมากนัก กวางแค่โชคดีมาเจออาจารย์เลยได้เรียนของสายนี้ค่ะ) คือ

  1. แบบปาริปุนา(สมบูรณ์, บริบูรณ์) สำหรับวณปรัชญ์หรือนักบวช มี 12 ท่า 18 ขั้นตอน เน้นสร้างความยืดหยุ่นมากกว่า
  2. แบบอรรถปาริปุนา(กึ่งสมบูรณ์) สำหรับคฤหัสถ์หรือคนทั่วไป เช่น สุริยนมัสการ A มี 8 ท่า 12 ขั้นตอน และสุริยนมัสการ B ซึ่งเน้นสร้างความแข็งแรงมากกว่า

ของบางอย่างเรียนๆ จำๆ มาก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ทันทีนะคะ แต่พอถึงช่วงเวลาหนึ่งมันก็อาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มา ซึ่งส่วนตัวกวางคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดได้ไวขึ้นถ้าเราขยันออกไปหาไปเรียนไปฟังมุมมองที่แตกต่างกันกับของเราเอง ก็เหมือนการที่เรายืนมองสิ่งเดิมๆ ในมุมที่ต่างออกไป หลายๆ ครั้งเราก็จะเข้าใจสิ่งนั้นมากขึ้นค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top