Western VS Eastern Yoga
มีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับโยคะมานานพอสมควร ได้เห็น ได้ลองฝึก ได้ศึกษา เลยอยากจะขอแชร์มุมมองเกี่ยวกับแนวคิดหลักๆในสังคมโยคะในสมัยนี้หน่อย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยได้คุยกับพี่ที่สนิทกันคนหนึ่ง เลยคิดว่าเอามาขยายความเก็บไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจในโยคะบ้าง
แนวคิดใหญ่ๆของโยคะ(ในมุมมองกวาง)แบ่งเป็นสองสายหลักๆ คือแนวคิดแบบตะวันตกและแนวคิดแบบตะวันออก
Peak pose
แนวคิดแบบตะวันตกจะมีการพูดถึงเรื่องพีคโพส(Peak pose) หมายถึง ในคลาสหนึ่งๆเราอาจจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะพานักเรียนทำท่านี้ แล้วค่อยมาแก้ไปทีละจุดๆว่าจะไปถึงท่านี้ต้องใช้ร่างกายส่วนไหนบ้าง เปิดส่วนไหน วอร์มส่วนไหน สร้างความแข็งแรงส่วนไหน เป็นการแก้แบบวิทยาศาสตร์พอสมควร คืออาศัยกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่คำตอบ หรือเป้าหมายที่ต้องการ
อีกรูปแบบนึงคือการสอนแบบเน้นสมดุลของคลาสโดยรวม มีการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีการเกร็งกล้ามเนื้อเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเกร็งโดยธรรมชาติอันเกิดจากการอยู่ในท่านั้นๆ
ขอถามเล่นๆว่า เวลาที่เรายืนหรือเดินธรรมดาๆเนี่ยเราเกร็งรึยัง หลายคนจะตอบว่าไม่ แต่จริงๆแล้วเราเกร็งกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เป็นในปริมาณน้อยๆเพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้หรือเคลื่อนไหวได้ คนที่ไม่เกร็งเลยคืออย่างเช่นคนเป็นอัมพาตที่ไม่มีความสามารถในการเกร็งกล้ามเนื้อ
ดังนั้นการที่เราเกร็งเพิ่มในท่าอาสนะบางท่าส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อทำให้เราอยู่ในอาสนะนั้นๆได้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่หลักใหญ่ๆเลยน่าจะเป็นไปเพื่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (bulk) มากกว่า ซึ่งจริงๆก็มีประโยชน์มากในแง่ การบำบัดรักษา (Therapeutic) เช่น ในกลุ่มผู้ฝึกที่ต้องการเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนภายหลังอาการบาดเจ็บบางอย่าง หรือแม้แต่กับผู้ฝึกที่ต้องการสร้างร่างกายที่แข็งแรงสวยงามแบบมีกล้ามเนื้อ
ความสมดุล
แนวคิดแบบตะวันออกจะเน้นหนักเรื่องความสมดุลของคลาสโดยรวม คล้ายๆจะเป็นการฝึกโยคะแนวสมาธิ แต่ไม่ช้าขนาดนั้น คือ มีการผสานลมหายใจและการเคลื่อนไหวเข้าด้วยกัน อยู่ในท่าแบบตึงพอประมาณ พยายามผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนรวมถึงส่วนที่ใช้งาน (จุดนี้คือจุดที่ต่างกันชัดเจน) ผ่อนคลายลมหายใจ ไม่ฝืนร่างกายจนเกินไป
จะมีการบังคับให้เกร็งกล้ามเนื้อด้วยตัวท่ามากกว่าที่จะเป็นการเกร็งเพิ่มเหมือนสายตะวันตก เช่น กลุ่มท่ายืนบางท่าที่มันต้องเกร็งโดยอัตโนมัติเพราะถ้าไม่เกร็งมันเข้าท่าไม่ได้ แต่พอเข้าท่าได้แล้วก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนไปเลย เหลือไว้แต่การเกร็งน้อยๆเพื่อให้คงท่าได้เท่านั้น และปล่อยให้น้ำหนักของร่างกายและแรงโน้มถ่วงของโลกทำหน้าที่ในการพาร่างกายไปให้ลึกขึ้น วิธีนี้จะทำให้ได้กล้ามเนื้อที่เรียวยาว และไม่ขึ้นเป็นลูกๆ
ในเรื่องของการเกร็งกล้ามเนื้อเพิ่มนั้น แนวคิดนี้จะเกร็งเฉพาะบางจุดที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เกร็งท้องไว้ทุกครั้งที่ก้มและแอ่นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บหลังล่าง เกร็งข้อศอกให้หนีบเข้าหากันและเหยียดแขนให้ตรง เพื่อบริหารกล้ามเนื้อบริเวณบ่าไหล่และสะบักซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เกร็งกระดกเท้าให้ตรงในท่านั่งเพื่อยืดบริเวณขาด้านหลัง แต่จะไม่เน้นเกร็งเพื่อสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเน้นรวมๆทุกส่วนอย่างสมดุลมากกว่า
หากฝึกด้วยแนวคิดนี้ร่างกายจะไม่มีกล้ามเนื้อขึ้นให้เห็นชัดเจน แต่จะมีกล้ามเนื้อคล้ายไปทางคนฝึกบัลเล่ต์และพวกยิมนาสติกลีลา (Rhythmic gymnastics) คือเป็นกล้ามเนื้อที่เรียวยาว (long & lean) จะดูมีความเป็นผู้หญิงมากกว่า ดังนั้นผู้ฝึกโยคะที่อยากมีรูปร่างสวยงามแบบมีกล้ามเนื้อแนวสตรองจึงไม่เหมาะกับแนวนี้ อย่างไรก็ตามความแข็งแรงของร่างกายที่เกิดจากการฝึกทั้งสองแนวทางก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าฝึกท่าไหนมากกว่า**
เนื่องจากกวางมีโอกาสได้ฝึกมาในสายนี้เป็นหลัก จึงอยากจะขออธิบายในรายละเอียดเผื่อเป็นแนวทางให้คนอื่น และเพราะสายนี้ถูกพูดถึงน้อย คนจึงอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับแนวคิดแบบนี้
One class, Infinite thoughts
สายตะวันออกจะมีการจัดเรียงคลาสดังนี้
- กลุ่มพรีวอร์ม ซึ่งจะเป็นช่วงที่เตรียมร่างกาย จิตใจ และลมปราณให้พร้อมสำหรับการฝึกโยคะ ประกอบด้วย ปราณายมะ(Pranayama — เพื่อวอร์มลมหายใจ) บัณฑะ(Bandha — เพื่อกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้อง) กลุ่มท่านั่งง่ายๆเพื่อวอร์มร่างกายในขั้นต้น เช่น สุขะสนะ(Sukhasana) ชานุศีรษะสนะ (Janushirasana) ปัจจิโมตาสนะ(Paschimottanasana)
- กลุ่มวอร์ม ประกอบด้วย ลีลาบรรพแบบต่างๆ ซึ่งสุริยะนมัสการ (Suryanamaskar)ก็ถูกจัดว่าเป็นบรรพๆหนึ่ง จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กล้ามเนื้อก่อนที่จะนำไปสู่การสร้างความยืดหยุ่น & แข็งแรงในขั้นต่อไป (Stretch & Strength)
และแม่บทโยคะ 5 แม่คือ
- กลุ่มท่ายืน ประกอบด้วย ท่ายืนสองขา ท่ายืนขาเดียว ท่าก้ม ท่าเอียง ท่าแอ่น ท่าบิด
- กลุ่มท่ากึ่งนั่งกึ่งยืน เช่น ท่าอูฐทราสนะ(Ustrasana) ท่ามาลาสนะ(Malasana) และท่าอุตทกาตาสนะ(Utkatasana) ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้
- กลุ่มท่านั่ง
- กลุ่มท่านอนหงาย
- กลุ่มท่านอนคว่ำ
แล้วสุดท้ายก็จบในท่าพักศพ(Savasana) และอาจจะเสริมด้วยท่ายืดเหยียดตอนท้ายสุดหลังตื่น
ข้อควรจำ
หลักสำคัญข้อแรกเลยคือ มีครบทั้ง 5 แม่บท และให้ความสำคัญกับแต่ละกลุ่มเท่าๆกัน (กลุ่มพรีวอร์มบางทีก็ลดลงมาเหลือแค่หนึ่งหรือสองท่า ส่วนกลุ่มวอร์มก็มีบ้างที่ตัดไปเลยในกรณีที่สามารถวอร์มโดยใช้โยคะอาสนะทั้ง 5 แม่บทได้) ในความเป็นจริงก็อาจจะมีบางครั้งที่เราเน้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าและตัดบางกลุ่มออก แต่ยังไงก็ตามภาพรวมของคลาสต้องไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่งจนชัดเกินไป เช่น หากเน้นแต่กลุ่มยืนจนหมดเวลาไป 3/4 ของคลาสอันนี้ก็คือมากเกินไป
หลักสำคัญข้อที่สองคือ ในแต่ละกลุ่มท่าพยายามให้ประกอบไปด้วย ท่าก้ม ท่าเอียง ท่าแอ่น และท่าบิด บางทีก็มีที่เราอยากเน้นความแข็งแรงในกลุ่มยืน แต่จริงๆแล้วถ้าตั้งใจคิดแม้ในกลุ่มยืนสร้างความแข็งแรงก็สามารถสอดแทรกองศาทั้งสี่นี้เข้าไปได้ ซึ่งกลับจะช่วยทำให้อาสนะมีความสวยงามและหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าบางทีหมดสมองจะคิดก็ช่างหัวมันบ้างก็ดีเหมือนกัน
สมาธิ
ทั้งสองสายช่วยในเรื่องของสมาธิ และความตั้งมั่นของจิตทั้งคู่ แต่จะมีความแตกต่างในเรื่องของการค้างท่าคือ
สายตะวันตก = เกร็งกล้ามเนื้อ XYZ และผ่อนคลายจิตใจ
สายตะวันออก = ผ่อนคลายร่างกาย และผ่อนคลายจิตใจ
ทั้งสองแนวคิดล้วนมีข้อดีที่แตกต่างกัน การที่เราเรียนรู้หลักการมันเหมือนกับช่วยให้เราเห็นมาตรฐาน พอเราเห็นมาตรฐานเราก็จะรู้ว่าต้องพยายามไปในทิศทางไหน โยคะแต่ละรูปแบบมันก็เหมือนยาคนละขนาน ผู้ใช้ก็ต้องฉลาดเลือกว่าจะใช้ขนานไหนในสถานการณ์ไหน ซึ่งทุกอย่างก็จะมาจากประสบการณ์และการฝึกฝน ขอเพียงมีสติ เลือกใช้อย่างเหมาะสม ก็จะนำประโยชน์มาสู่ผู้ใช้งานอย่างแน่นอนค่ะ 🙂
เพิ่มเติม
** เคยสงสัยว่าทำไมกล้ามเนื้อของพวกบัลเล่ต์และยิมนาสติกลีลา (Rhythmic gymnastic) จึงแตกต่างจากกล้ามเนื้อของคนที่ฝึกเวทหรือกระทั่งยิมนาสติกกายกรรม (Artistic gymnastic) ทั้งๆที่ความแข็งแรงนั้นแทบไม่ด้อยไปกว่ากัน เพียงแต่โดดเด่นคนละแบบ เลยไปลองรีเสิร์ชดูก็พบคำอธิบายที่ตอบได้ชัดเจนมากคือ
Rhythmic gymnastic เน้นการเคลื่อนไหวและความอ่อนช้อย ในขณะที่ Artistic gymnastic เน้นเรื่องความแข็งแรง
พอเน้นคนละแบบกล้ามเนื้อที่ได้เลยแตกต่างกันนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตคือ ยิมนาสติกกายกรรมเป็นประเภทที่ต้องใช้พลังของกล้ามเนื้อสูง ทั้งแรงสปริง แรงเหวี่ยงดังนั้นกล้ามเนื้อจึงต้องมี bulk (กล้ามเนื้อที่ขึ้นเป็นลูกๆ) เพื่อให้มีพลังมากในการกระโดดหรือส่งแรง
ในทางกลับกันยิมนาสติกลีลาจำเป็นต้องเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในองศาที่หลากหลายกว่า ดังนั้นจึงเกิดเป็นกล้ามเนื้อที่ long & lean ซึ่งเหมาะกับการใช้งานมากกว่านั่นเอง
*** ยิมนาสติกลีลา คือที่เล่นริบบิ้น คทา ห่วง เชือก บอล ส่วนยิมนาสติกกายกรรม คือที่ใช้ราวทรงตัว ม้ากระโดด หรือบาร์โหน ลองดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
ใส่ความเห็น