“แนวคิดในการเป็นผู้ฝึกโยคะ (และสมดุลชีวิต)”

ฝึกโยคะเป็นเรื่องของความสมดุล แล้วสำหรับกวางที่ฝึกมาเกินสิบปี กวางว่าแนวคิดในการเป็นผู้ฝึกโยคะก็สำคัญพอๆ กับภาคปฏิบัติ

เพราะอย่างการปฏิบัติเราก็สามารถหาเล่น หาฝึกเอาตามยูทูปได้มากมาย แต่ในเรื่องของแนวคิดบางทีเราก็ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังเท่าไหร่ มีหลายเรื่องเลยที่กวางเองค่อยๆ เก็บเกี่ยวในฐานะของผู้ฝึก จนฐานของการฝึกเราค่อยๆ มั่นคงขึ้น

สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้เราเป็นผู้ฝึกที่เก่งขึ้น หรือทำท่าโยคะได้มากมายแต่อย่างใด แต่มันทำให้เรารักและรู้ว่าเราควรจะฝึกอย่างไรที่จะเหมาะกับกายและใจของตัวเองมากที่สุด ซึ่งมันจะคอยเป็นฐานให้เรากลับมาทบทวนและพิจารณาการฝึกของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา

1. การกินและนอนให้พอ สำคัญกว่าการออกกำลังกาย

    อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าใครที่ได้ศึกษาโยคะในเชิงองค์รวม มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอายุรเวท คือวิถีของการดำเนินชีวิตให้สมดุลในระดับนึง เราจะมองโยคะเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการมีชีวิตที่ดี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ใช่ตลอดเวลา

    เพราะความสำคัญอันดับหนึ่งคือการมีสุขภาพกาย และใจที่ดี

    ดังนั้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตเราก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนของการกิน การนอน การออกกำลังกายไปเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา ซึ่งการปรับนี้จะดำเนินอยู่ตลอดช่วงชีวิตของเรา

    ถ้าช่วงไหนกินไม่ค่อยลง เครียด นอนน้อย หลับไม่ดี ตื่นกลางคืนบ่อย ช่วงนั้นเราไม่ควรออกกำลังกายหนักเลย เพราะการนอนไม่หลับบ่อยๆ ทำให้ความร้อนในร่างกายขึ้นสูง ตัวผอมแห้ง ผิวพรรณจะไม่สดใส ร่างกายขาดน้ำ

    ช่วงนี้ควรเน้นการบำรุงตัวเองมากกว่า คือ เอ็นจอยชีวิต (เป็นโอกาสให้ได้ทำตามใจอยากเลยละค่ะ 😂) อยากกินอะไรที่ชอบก็กินไปเลย อยากไปนวด อยากไปดูหนังฟังเพลง ทำไปเลย ผ่อนคลายตัวเอง ทำจิตใจให้สบาย ทำตัวเองให้มีความสุข ไปเดินเล่นชิวๆ ถ้าฝึกโยคะก็เน้นคลาสแนวโยคะบำบัด หยินโยคะ ที่ผ่อนคลายค้างท่านานๆ หรือโยคะตามยูทูปที่ไม่หนักเกินก็ได้เหมือนกันค่ะ

    แล้วถ้าเริ่มกินได้นอนหลับเป็นปกติมากขึ้น ก็ค่อยๆ เริ่มกลับมาออกกำลังกายอย่างโยคะโฟลว์ ที่เล่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ พวกนี้จะช่วยให้หลับได้ดีมากขึ้น เพราะช่วยกระตุ้นทำให้ความร้อนในร่างกายขึ้นสูง แล้วพอฝึกเสร็จร่างกายก็จะเย็นลงไว ทำให้เข้าสู่โหมดพักผ่อนได้ดี

    แต่เน้นว่าควรออกกำลังกายให้เสร็จก่อนสองทุ่ม เพื่อจะมีเวลาให้ร่างกายได้คูลดาวน์ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วเราก็จะหลับได้ดียิ่งขึ้น

    • ให้มองว่าการฝึกโยคะแบบโยคะโฟลว์ก็คือการออกกำลังกายแบบนึง เพราะมันไม่ได้เบาเหมือนหยินโยคะ ที่ในหนึ่งชั่วโมงฝึกแค่ไม่กี่ท่า และมันกระตุ้นความร้อนในร่างกายมากกว่า จึงเหมาะกับช่วงที่ร่างกายปกติ ไม่ได้นอนน้อยสะสม

    แต่ทั้งนี้ก็อยากจะแชร์ว่าตัวกวางเองกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจข้อนี้ด้วยร่างกายของตัวเองก็ทู่ซี้ทำผิดอยู่หลายปี เข้าตำราผิดก่อนถึงจะรู้ว่าถูกคืออะไร

    ตอนหลังกวางเลยมาปรับคลาสสอนที่สตูตัวเอง ให้เป็นวันเบาและหนักสลับกันไป เพื่อให้การออกกำลังกายมันสมดุลมากขึ้น และไม่กินร่างกายตัวเอง ซึ่งสำหรับคนอื่นๆ ที่เป็นนักเรียนมีอิสระในการเลือกฝึกได้เต็มที่ก็ลองเลือกปรับดูนะคะ ตึงไว้ก่อนแล้วค่อยหย่อนเป็นเรื่องปกติค่ะ 😀

    2. ผอมมากไปไม่ดี อ้วนมากไปไม่ดี อวบนิดนึงกำลังงามและโรคน้อย

      ผอมมากไปจะตกโรคของคนผอมคือ ท้องผูก เลือดจาง ความดันต่ำ นอนหลับยาก ขี้หนาว คอเลสเตอรอลสูง ตัวร้อนจัด และหลักๆ แล้วคนผอมจะเป็นโรคทางจิตมากกว่าโรคทางกาย เพราะพอนอนหลับไม่ดี ท้องผูกร่างกายก็ไม่ค่อยสบาย รบกวนให้จิตใจไม่ปลอดโปร่ง เครียดง่ายไปด้วย

      ดังนั้นเลยต้องคอยระวังใครที่ผอมง่าย ร่างกายเผาผลาญดี ต้องอย่าให้ผอมเกินไป กินให้พอ นอนให้พอ ไม่งั้นช่วงที่ผอมมากๆ จะตกโรคคนผอมกลายเป็นสุขภาพไม่ดีไปอีกแบบ

      คนอ้วนกลับกันจิตใจมักจะแช่มชื่น แจ่มใส กินง่ายหลับง่าย แต่จะมีโรคทางร่างกายแทน เช่น โรคไขข้อต่างๆ ความดันสูง เบาหวาน หัวใจ ไต เกาต์ ปวดหลังปวดเอว กลุ่มนี้เลยควรดูแลเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกาย

      หลีกเลี่ยงแป้ง ของทอด น้ำตาล แต่เน้นทานผักเยอะๆ แล้วก็ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพื่อจะได้รับน้ำหนักตัวเราได้ ป้องกันการเกิดข้อเสื่อมต่างๆ ที่จะมาพร้อมน้ำหนักตัวในยามที่เราอายุเพิ่มขึ้น

      ยกตัวอย่างของกวางเอง มักจะตกโรคคนผอมเป็นระยะๆ คืออวบกำลังดีอยู่ประมาณสามสัปดาห์ สักพักผอมเกินอยู่หนึ่ง – สองสัปดาห์ พอรู้ตัวก็ค่อยๆ กลับมากิน

      ถึงแม้เราจะไม่ได้ตั้งใจกินน้อย แต่บางช่วงมันกินน้อยด้วยสถานการณ์งานและอารมณ์ แต่ตารางการออกกำลังกายเราคงที่ตลอด มันเลยส่งผลทางร่างกายให้ผอมไว ก็ต้องสังเกตและปรับการกินให้เพิ่มขึ้น ไม่งั้นจะเริ่มหลับไม่ดี อารมณ์จะไม่ค่อยแจ่มใส เหล่านี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ปรับแล้วจะเห็นผลเลยว่าดีขึ้น

      การออกกำลังกายเอง เราก็ควรปรับความหนักเบาของการฝึกในหนึ่งสัปดาห์ให้เหมาะ ถ้าสัปดาห์นี้เราไม่ไหว เหนื่อยล้าจากการงาน ก็แค่ไปเดินเล่นเบาๆ ออกไปสูดอากาศบ้าง วันไหนร่างกายดีก็ลากตัวเองไปออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ใจมันไม่อยากหรอกค่ะ คิดเสียว่ามันเป็นหน้าที่ เรื่องนี้ก็เลยจะเชื่อมโยงกับข้อถัดไป

      3. เป้าหมายการออกกำลังกายของเราคืออะไร

        ถ้าเป้าหมายเราชัดเจนมันจะง่ายในการออกแบบตารางการออกกำลังกายของเรา ของกวางเองชัดตั้งแต่แรก อาจจะดูคิดไกลไป แต่อาจารย์ของกวางเองท่านก็วางแผนตัวเองตั้งแต่อายุ 33 เราแก่กว่าท่านตอนนั้นอีกก็คงไม่คิดไกลเกินหรอกมั้ง

        เป้าหมายของกวางคือการพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เราอยากให้เรามีช่วงที่สุขภาพดี เจ็บป่วยน้อยๆ ให้นานที่สุด แล้วก็มีช่วงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอนป่วยอยู่บนเตียงก่อนตายให้สั้นที่สุด คือเป็นภาระคนอื่นให้น้อยที่สุด ซึ่งถ้าอยากได้แบบนั้นก็ต้องมีความพยายามในการออกกำลังกายให้ต่อเนื่อง ให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดินเหินได้ไม่ติดขัด

        พอเราอยู่ในสายสุขภาพนานๆ เราก็จะเห็นว่าร่างกายผู้หญิงความเสื่อมจะเริ่มใกล้ๆ วัยหมดประจำเดือน สามปีก่อนหมด หนึ่งปีช่วงที่หมด และสามปีหลังหมดประจำเดือน รวมเป็น 7 ปีที่ร่างกายผู้หญิงจะเสื่อมไวมาก เพราะฮอร์โมนต่างๆ ของเราจะลดวูบลง กวางเคยเห็นหลายคนเลยที่ร่างกายฮวบลงภายในเวลาไม่กี่ปี

        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอายุใกล้ 45 ก็ต้องเริ่มจริงจังได้แล้ว (เพราะบางคนวัยหมดประจำเดือนเริ่มแถวๆ นี้) ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อบ้าง โดยเฉพาะช่วงโคนขาและทรวงอก เพราะกล้ามเนื้อสองส่วนนี้ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศ ทดแทนในวันที่เราจะหมดประจำเดือน (ไม่ได้ทั้งหมด แต่ดีกว่าไม่ทำ)

        ฝึกโยคะเพราะโยคะช่วยเรื่องการทรงตัว ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่คนจะสูญเสียไปเวลาที่อายุเยอะขึ้น ช่วยกระตุ้นการสร้างและผลิตฮอร์โมนทั่วร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อโดยรวมแข็งแรง เพิ่มองศาการเคลื่อนไหว

        แต่จะโยคะอย่างเดียวโดยไม่เล่นกล้ามเนื้อก็ไม่ได้ เพราะพอเข้าวัยเสื่อมแล้ว โยคะจะเป็นเพียงการชะลอ แต่ไม่ใช่การฟื้นความเสื่อม

        ดังนั้นพออายุเข้า 45 ปี ผู้หญิงต้องเล่นกล้ามเนื้อบ้าง เพื่อให้ทันกับอัตราการเสื่อมของมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นปัญหากับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังที่เราจะเคยได้ยินคำว่า “มวลกล้ามเนื้อลดลง” คือเซลล์กล้ามเนื้อในร่างกายมันลดปริมาณลง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวช้า ไม่คล่องตัวเหมือนสมัยเด็กๆ และมีปัญหาข้อเข่า ข้อสะโพกตามมา เหล่านี้การออกกำลังกายป้องกันได้แทบจะทั้งหมด

        การออกกำลังกายก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องกีฬาอะไร เพราะทุกกีฬามีข้อดีของเค้าเอง และคนออกกำลังกายต่อเนื่องในทุกกีฬาก็มักจะดูหนุ่มดูสาวกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ถ้ามีโยคะด้วยก็ดี เพราะโยคะจะต่างจากกีฬาอื่นคือฝึกทั้งตัว บางทีเราเล่นบางกีฬามันได้แค่แขนขา แต่เราไม่ได้เล่นช่วงกลางลำตัว บ่าไหล่หลังก็ไม่แข็งแรง ไม่ได้มีบิดมียืด มันก็ไม่ครบเหมือนกัน

        (คนฝึกโยคะเองก็ได้ไม่ครบ ต้องไปหาฝึกกล้ามเนื้อกับคาร์ดิโอเพิ่มเหมือนกันค่ะ โปรดอย่าน้อยใจไป 🤣)

        พอรู้แบบนี้แล้ว การเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เลยสำคัญ พอเรามีเป้าหมายชัดเจน มีแผนการ ที่เหลือก็แค่ค่อยๆ ทำไป (แล้วก็ฝึกปฏิบัติธรรมเผื่อชีวิตไม่เป็นไปตามแผนด้วย ฮาาา)

        ซึ่ง 12 ปีแรกของการฝึกโยคะของกวางก็ยอมรับว่ากำแน่นมาพอสมควร เพราะรู้ว่าโดยนิสัยเราเป็นคนไม่ได้มีวินัยมากนัก พอผ่านช่วงที่เคี่ยวกรำตัวเองมาแล้ว ตอนนี้ก็กำลังเรียนรู้การผ่อนลง (เพราะเริ่มจะติดจริงจังเกินไปแล้ว) มันก็เป็นบาลานซ์เหมือนกัน

        แต่เพราะกวางเคยเห็นมาแล้ว คนที่ 70, 80 ปี แต่เค้ายังคล่องตัวเหมือนคนวัย 40 ปี พอดูแลร่างกายอย่างดีไม่ให้มันแก่ โรคและความเสื่อมของคนแก่ก็ไม่ถามหา ไม่ต้องคอยเทียวเข้าออกโรงพยาบาล จะเที่ยวที่ไหนจะทำอะไรร่างกายก็ยังพาเราไปได้โดยไม่ติดขัด ชีวิตแบบนั้นคือชีวิตที่ดีในความรู้สึกของเรา แล้วถ้าทั้งหมดนั้นเราสร้างได้จริงๆ ด้วยตัวของเราเอง สำหรับกวางก็คือ ทำค่ะ ✌️ สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง

        *ความรู้ทั้งหมดมีพื้นฐานจากคลาสโยคาจารย์ ของหฐราชาโยคาศรม ใครอยากรู้เพิ่มแนะนำให้ไปเรียนดูนะคะ

        กวางมีขายคอร์สโยคะออนไลน์ด้วยน้า ใครอยากเริ่มฝึกโยคะอย่างถูกต้อง ดูแลพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน มาฝึกด้วยกันได้ที่

        (สั่งซื้อทางออนไลน์ได้เลยค่ะ)

        ใครที่อยากอ่านรีวิวก่อน คอร์สก้าวแรกสู่โยคะของเรามีนักเรียนที่เรียนแล้วช่วยเขียนรีวิวประสบการณ์การฝึกไว้มีมากกว่าร้อยรีวิวแล้ว อ่านได้ที่นี่เลยค่ะ (ขอบคุณนักเรียนที่ช่วยเขียนรีวิวให้ทุกท่านนะคะ กวางไม่มีที่เขียนตอบแต่ซาบซึ้งใจกับทุกรีวิวเลย จะตั้งใจทำทั้งวิดิโอยูทูปและคอร์สโยคะตัวใหม่ให้ดีขึ้นไปอีกนะคะ 🙏🏻)


        Comments

        ใส่ความเห็น

        อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *