เรื่องเล่าจากท่า

“ท่านี้เป็นท่าลับของโยคีที่ช่วยให้อายุยืน เพิ่งมีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะชนได้ไม่ถึง 80 ปีนี้เอง” 

บ่อยครั้งที่ฝึกท่านี้เสียงแว่วของอาจารย์ก็จะลอยมาในความนึกคิด เมื่อก่อนความรู้เรื่องศาสตร์โยคะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้แต่ในประเทศอินเดียก็ถูกจำกัดไว้เป็นของคนแค่กลุ่มหนึ่ง (เช่น นักบวชในศาสนาฮินดู) เพราะโยคะโดยต้นตำรับแล้วไม่ใช่เป็นเพียงการฝึกกายแต่เป็นการฝึกกายและจิตควบคู่กันไปอย่างแนบแน่น โดยมีลมหายใจเป็นตัวเชื่อมประสาน

จะมีก็ช่วง 100 ปีที่ผ่านมาที่ได้มีคนนำเอาโยคะไปเผยแพร่ในโลกตะวันตกมากขึ้น ทำให้เราเริ่มรู้จักหฐโยคะ (โยคะภาคกาย) กันมากขึ้น อาจารย์เคยเล่าว่าเรื่องของการจัดระเบียบร่างกายในการฝึกโยคะก็เริ่มกันมาจากช่วงนี้แหละ 

เพราะเมื่อนำโยคะเข้าไปสู่โลกตะวันตกแล้ว คนตะวันตกนั้นไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของการฝึกจิตเหมือนคนตะวันออก ครูสมัยก่อนเลยใช้กุศโลบายสอนเรื่องการจัดระเบียบร่างกายเพื่อให้เค้าหันมามีสมาธิอยู่กับร่างกายแทน ซึ่งเป้าหมายปลายทางก็เพื่อให้เค้าได้รู้จักความสงบและเข้าถึงการฝึกโยคะที่มีทั้งกายและจิตควบคู่กันไปในที่สุด 

ท่านี้ชื่อว่า ปัจจิโมตานาสนะ (Paschimottanasana) ท่าที่ยืดเหยียดด้านหลัง 

ปัจจิ ปัจจิม ปัจฉิม = ทิศตะวันตก หรือด้านหลัง 

อุตตานาสนะ = ยืดเหยียด (พยายามหามาให้นะคะ แต่เรื่องสันสกฤตอย่าถามเยอะ เพราะไม่แม่นจีๆ 😂)

เป็นท่าแรกๆ เลยที่เราจะเอาไว้เช็กร่างกายตัวเองได้ว่าช่วงขา สะโพก และด้านหลังลำตัวเราตึงแค่ไหน จากประสบการณ์นักเรียนเกือบครึ่งที่มาฝึกแรกๆ จะยังแตะไม่ถึงปลายเท้า และมีนักเรียนอีกราวๆ 20% ที่กล้ามเนื้อตึงมากจนเวลานั่งท่านี้แล้วตัวจะเอนๆ ไปทางด้านหลัง ซึ่งกวางก็จะแนะนำให้นั่งทับหมอนแล้วโน้มไปข้างหน้าเท่าที่ได้ก่อน 

ในคนที่ตึงมากๆ ที่แตะปลายเท้าไม่ถึงจะรู้สึกปวดเมื่อยได้ง่าย เพราะวงจรกระแสไฟฟ้าชีวภาพในร่างกายนั้นไม่ได้ไหลเวียนเป็นวงกลมโดยสมบูรณ์ (จากเท้าถึงมือ) ทำให้มีความรู้สึกปวดเมื่อยเกร็งตึงโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่จะบอกว่าเป็นเพราะตึงมากมันเลยรู้สึกปวดเมื่อยก็ถูกอีกเหมือนกัน 

ท่านี้ยังเป็นท่าที่ทำให้หลายๆ คนรู้สึกท้อ เพราะถ้าตึงมากจนเอนไปข้างหลังแล้วก็ต้องใช้ทั้งความอดทนและความสม่ำเสมอในการฝึกเพื่อที่จะสามารถนั่งได้โดยไม่มีหมอนรองใต้ก้น จริงๆ ถ้าเราอดทนฝึกสักนิด ขยันฝึกบ่อยๆ กวางพบว่าปีแรกของการฝึกโยคะจะเป็นปีที่สนุกที่สุด 

สนุกที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองแบบชัดๆ ยิ่งคนที่มีปัญหาร่างกายหลายๆ อย่าง ตึง ปวด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ปวดประจำเดือน ออฟฟิศซินโดรม หลังค่อมไหล่ห่อ ภูมิแพ้และสารพัดที่เราเป็นกัน ถ้าเรามีความขยันสักหน่อย ปีแรกคือปีที่ผลผลิตของการฝึกจะเฟื่องฟูที่สุด หลายๆ คนเห็นความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพตัวเองอย่างชัดเจนในปีแรกนี่แหละค่ะ

แต่ปีหลังจากนั้นกราฟการเปลี่ยนแปลงจะเหมือนนิ่งๆ ขึ้นก็จริงแต่ไปแบบนิ่งๆ ไม่หวือหวาจะเห็นชัดอีกทีตอนที่เราเพิ่มระดับความยากในการฝึก หรือเมื่อเราเทียบตัวเราปัจจุบันกับตัวเราย้อนหลังไปหลักปี นั่นแหละถึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน

ของกวางเองช่วงที่ฝึกมาแล้วหลายๆ ปี กวางก็ยังมีอาการหน้ามืดอยู่บ้างในบางท่าที่ก้มนานๆ ก็เคยคุยกับอาจารย์เรื่องนี้ อาจารย์ทักมาคำแรกว่าจำตัวเองเมื่อก่อนไม่ได้เหรอ แต่อาจารย์น่ะจำได้ ว่านั่งอยู่ด้านหน้าตัวเหลืองๆ (เป็นคนเลือดน้อยมาแต่ไหนแต่ไร) นี่ก็ดีขึ้นมาเยอะแล้วถ้าเทียบกับเมื่อก่อน เราอาจจะรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมันช้า แต่ถ้าเทียบกับตอนก่อนเริ่มฝึกแล้วก็ชัดมากทีเดียว

ท่านี้ได้ชื่อเป็นท่าลับช่วยยืดอายุของโยคีส่วนหนึ่งน่าจะเพราะเป็นท่าพับตัวที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด น้ำเหลือง ออกซิเจน และลมปราณให้มีการหมุนเวียนมากและเร็วกว่าปกติ ช่วยนวดอวัยวะภายในช่องท้อง นวดต่อมน้ำเหลือง ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ต่อมเหงื่อทำงานได้ดี การขับของเสียของผิวหนังดีขึ้น ดีกับคนที่มักปวดหลังจากการนั่งทำงานนานๆ และเป็นท่าที่นิยมให้ทำกันเวลาเป็นไข้เป็นหวัดด้วยเพราะช่วยฟื้นฟูร่างกายให้หายจากความป่วยไข้ได้ดี

ทั้งแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณสดใสขึ้น ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัวในท่านี้แหละค่ะ 🐧🐦🐤

ศาสตร์ของหฐโยคะ (โยคะภาคกาย) นั้นสว่างไสวและเปรียบดั่งขั้นบันไดที่จะนำผู้แสวงหาไปสู่จุดสูงสุดของราชาโยคะ (โยคะภาคจิต)

ผู้ที่ฝึกเพียงหฐโยคะโดยไม่รู้จักราชาโยคะนั้นก็เหมือนตัดโอกาสตัวเองจากสิ่งที่มีค่า— แปลจาก Svatmarama I.1 และ IV.79 จากหนังสือ Philosophy of Hatha Yoga


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *