เคยมีคนถามกวางว่า ทำไมถึงอยากเป็นครูสอนโยคะ

ความจริงแล้วเรื่องอยากเป็นครูสอนโยคะเป็นเรื่องที่กวางไม่เคยคิดถึงเลย แม้แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิด กวางเพียงแค่โชคดีที่เจออาจารย์ที่เก่งมากพอที่จะดึงความสนใจของเราไว้ได้ทุกครั้งที่เราไปเรียน ทั้งๆ ที่กวางถือว่าเป็นเด็กที่ขี้เบื่อง่ายมาก ไม่สามารถทนอยู่กับอะไรซ้ำๆ ได้นานๆ แต่กับโยคะของอาจารย์ทุกครั้งที่กวางไปเรียนกวางรู้สึกสนุกจริงๆ เราแค่สนุกกับมันจนรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นครูสอนโยคะไปแล้ว

กวางมีคลาสในอุดมคติอยู่ กวางเองเคยได้สัมผัสคลาสแบบนั้นและก็อยากเป็นผู้สร้างคลาสแบบนั้นในสักวันหนึ่ง เคยมั้ยที่ตั้งแต่ต้นจนจบคลาสไม่รู้ตัวเลยว่ามันจบได้ยังไง มันจบตั้งแต่ตอนไหน มันไหลมาถึงตรงนี้ได้ยังไง จำอะไรแทบไม่ได้เลย รู้แต่ว่าเราทั้งเหนื่อยทั้งเพลินจนรู้ตัวอีกทีคลาสก็จบแล้ว

ปกติกวางจะเป็นคนที่ฝึกโยคะหนึ่งคลาสแล้วจำท่าได้เกือบทั้งหมดเพราะฝึกไปจะคิดไปด้วยว่าทำไมเค้าต่อท่าแบบนี้ ทำไมเค้าใช้เทคนิคนี้ บางทีก็แอบดูว่าเค้าเดินไปจับนักเรียนยังไง มันเหมือนอ่านหนังสือไปแล้วคิดไปด้วยตลอดมันก็จะจำเนื้อหาได้ แต่กับบางคลาสมันเพลินซะจนลืมแม้แต่จะคิด

การจะทำให้เกิดคลาสแบบนั้นได้มีองค์ประกอบหลายอย่างมาก และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่กวางสนใจและรู้สึกสนุกที่จะพัฒนาตัวเองตามแนวทางนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเห็นและมาตรฐานของกวางคนเดียว ครูแต่ละท่านก็มีเป้าหมายการสอน สไตล์และมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่ได้ต้องการจะให้เกิดการเอาไปเปรียบเทียบหรือวัดกับใครทั้งนั้น เพียงแต่อยากจะแชร์วิธีคิดของผู้ที่สนใจในศาสตร์การสอนโยคะเท่านั้นค่ะ

หนึ่งเลยคือการเรียงร้อยท่า (Art of sequencing) ซึ่งเป็นเรื่องที่กวางคลั่งไคล้มาก จะทำยังไงให้เรียงร้อยท่าออกมาได้อ่อนช้อยและแข็งแรง ให้ต่อเนื่องไหลลื่นเหมือนสายน้ำ ให้ได้ครบทุกองค์ประกอบของก้มแอ่นเอียงบิดคว่ำหงาย ให้จับทางไม่ได้มากขึ้นๆ ไปอีก และให้รู้สึกเพลินเหมือนเราเต้นไปกับเสียงเพลงของสวรรค์ (เว่อร์เนอะ) การเรียงร้อยท่าบางทีก็อาจจะหมายถึงการจัดท่าเพื่อเตรียมร่างกายผู้ฝึกสำหรับการพาเข้าท่าให้ลึกขึ้น ไปได้ไกลขึ้นไปอีก อันนี้ก็แล้วแต่สไตล์และจุดประสงค์ของคลาสนั้นๆ

สองคือคำพูด คำพูดต้องไม่มากเกินไปจนรบกวนจิตผู้ฝึก ต้องไม่น้อยเกินไปจนขาดข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องปรับอยู่ตลอดตามประสบการณ์ของนักเรียนที่เข้าคลาสกับเรา ข้อมูลไหนเราควรตัดควรเสริม คำพูดต้องกระชับแต่ได้ใจความ ไม่พูดไปเรื่อยเปื่อยเพื่อแค่จะพูด เพราะความเงียบในการฝึกโยคะก็สำคัญ การที่เราเงียบบ้างในหลายจังหวะก็เพื่อให้ผู้ฝึกได้มีโอกาสสำรวจอยู่กับร่างกายและจิตใจตนเอง เป็นช่วงเวลาที่ให้เค้าได้คุยและเผชิญหน้ากับจิตใจภายใน ซึ่งกวางว่าก็เป็นเสน่ห์ของการฝึกโยคะอย่างหนึ่ง

สามคือน้ำเสียง น้ำเสียงของครูแต่ละคนแตกต่างกันตามลักษณะนิสัยของครูคนนั้น ดังนั้นเราไม่ควรเลียนแบบเสียงของผู้อื่น และควรให้ความสำคัญกับการตามหาเสียงที่เป็นเสียงแท้ของเราเอง การใช้เสียงดัง-เบา การลงน้ำหนักของเสียงในแต่ละจังหวะที่สอน ช่วงไหนควรเน้น ช่วงไหนควรผ่อน การใช้น้ำเสียงในการช่วยส่งความรู้สึกยืด เข้มแข็ง เกร็ง คลาย เราต้องการสร้างอารมณ์และความรู้สึกแบบไหนในขณะนั้น บางจังหวะที่ต้องเร่งเร้ากระตุ้นก็อาจจะใช้เสียงอีกแบบ ถ้าสอนไปเรื่อยๆ ในบางจังหวะก็ใช้เสียงอีกแบบ ถ้าอยากให้ผ่อนคลายก็เป็นอีกแบบ

ความกระชับของน้ำเสียงไม่ลากยาวจนเกินไปก็สำคัญ หลายๆ คนอาจจะติดวิธีพูดและใช้น้ำเสียงของครูที่เราเรียนด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรสังเกตด้วยว่าแบบนั้นคือใช่คาแรกเตอร์ของเรามั้ย เพราะครูบางคนคาแรกเตอร์กับเสียงไปคนละทางกัน มันก็จะดูขัดเขินไม่เป็นธรรมชาติ ต้องลองสังเกตและทดลองกันดู

สี่คือจังหวะ จังหวะการพูด จังหวะการต่อท่า/ค้างท่า จังหวะของคลาสโดยรวม บางคนที่ขาดเรื่องนี้ก็จะรู้สึกว่าคลาสกระท่อนกระแท่นไม่ต่อเนื่อง อันนี้อาศัยประสบการณ์ การสังเกตและการฝึกฝน คนที่เก่งแต่แรกก็คงมีแต่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย อยากเก่งก็ต้องฝึกต้องสอนให้มาก

ห้าคือการอ่านบรรยากาศคลาสและปรับตามหน้างาน อาจมีบางวันที่เตรียมท่าไปแน่นแต่เห็นสภาพนักเรียนแล้วต้องโยนทิ้งทั้งกระบิและปรับคลาสลง หรือบางครั้งเตรียมไปประมาณนึงแต่เห็นไฟลุกในห้องกรุ่นๆ ทีนี้ก็ต้องจัดท่าใหม่เพื่อโหมไฟให้กระพือขึ้นไปอีก เล่นกับบรรยากาศเหมือนโต้คลื่น ปรับเปลี่ยนพลิกแพลงสนุกให้เต็มที่ แต่กว่าจะเล่นได้ก็ต้องขยันเสริมอาวุธ เสริมของเล่นให้เต็มหน้าตักไว้ก่อน เพราะถ้าของเล่นในมือมันน้อยมันก็พลิกแพลงไม่ค่อยออกเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องขยันเรียน ขยันทำการบ้าน ทบทวนความรู้เก่ามั้ย หาความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มั้ย เรียนกันไปไม่มีวันสิ้นสุดจริงๆ

หกคือความใส่ใจ ดูแลนักเรียนให้ทั่วถึง คอยระมัดระวังและใส่ใจบางคนในบางท่าที่เรารู้ว่าเค้าอาจจะติดขัด กระตุ้นบางคนที่เรารู้ว่าเค้าไปต่อได้ จับปรับนักเรียนทั่วถึงตามความจำเป็น บางคนก็อาจไม่ชอบถูกจับหรือไม่ควรจับในบางท่าก็ต้องดูด้วย

เจ็ดคือลูกเล่นหรือการสร้างเสน่ห์ของตัวเอง อะไรที่เป็นจุดเด่นของเราในการสอน ดึงมันออกมาใช้ ชอบเล่นมุกมั้ย ชอบเล่าเรื่องให้ฟังมั้ย ชอบให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันในคลาสมั้ย ชอบบิ๊วคนด้วยวิธีต่างๆ มั้ย อันนี้แนวใครแนวมันต้องหากันเอาเอง กวางเองข้อนี้ก็ยังสอบไม่ผ่านแต่ก็คิดว่าถ้าเจนเวทีมากขึ้น ขยันเสริมอาวุธมากขึ้น สักวันนึงมันคงจะดีขึ้น

แน่นอนว่าตลอดหลายปีที่สอนมา ถ้านับจริงๆ แล้วกวางก็ยังถือเป็นครูใหม่ ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกหลายต่อหลายเรื่อง บางวันมันมีไฟมันก็คิดพลิกแพลงหาอะไรสนุกๆ เล่น บางวันถ้าไม่ไหวงานอื่นถาโถมเราก็อาจจะไม่มีลูกเล่นมากแต่ก็พยายามคงมาตรฐานการสอนของเราไว้ ให้อย่างน้อยมันก็เป็นคลาสที่ดีคลาสหนึ่ง แต่เป้าหมายระยะยาวของเรามีอยู่ ก็ค่อยๆ เดินไปตามจังหวะของชีวิต ตามโอกาส รีบมากเร่งมากก็อาจจะหมดไฟ

การสอนมันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องค่อยๆ ขัดเกลา อาจารย์ของกวางเรียกว่ายังต้องสร้างบารมีไปก่อน ก็ตามนั้น ทำไปไม่บ่นไม่ท้อ เพราะสนุกมาก แค่คิดว่าจะทำอะไรบ้างบางทีก็เนื้อเต้น มันสนุกจริงๆ

สำหรับกวางมันเป็นงานสร้างสรรค์ที่ใช้สมองเยอะงานหนึ่ง ดังนั้นก็เลยดีใจที่ในวันหนึ่งๆ เราไม่ได้ต้องสอนเยอะมาก ก็เหมือนงานสร้างสรรค์ทั่วไปที่เราทำได้จำกัดในหนึ่งวัน กวางเลยรู้สึกแฮปปี้กว่าที่จะทำงานโยคะควบคู่กับงานอื่นๆ เพราะเราก็มีงานที่เราอยากทำอย่างอื่นอีก อยากทำไปด้วยกันหลายๆ อย่างจะได้ไม่เบื่อและไม่หมดไฟไปซะก่อน ไปแบบพอดีๆ แต่ไม่หยุด

ส่วนคำว่าครูสอนโยคะมันเหมือนเป็นคำลอยๆ ที่ลอยอยู่ข้างบน เราไม่ได้ใส่ใจกับมัน แต่เป็นคำที่คนอื่นเอามาใส่ให้เรา เพราะสิ่งที่เราแคร์จริงๆ คือเรื่องของการสร้างคลาสที่ดี ทำยังไงนักเรียนฝึกแล้วจะฟิน ทำยังไงให้เค้าได้อันนี้ ทำยังไงเราจะไปถึงจุดที่เราฝันถึง มันคิดแค่นั้น

นั่นก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่กวางไม่ได้เรียกตัวเองว่าครู เพราะกวางไม่ได้คิดแบบนั้น แต่ถ้าคนอื่นจะเรียกก็ไม่ได้ติดอะไร แต่แค่ถ้าเรียกเองมันกระดากใจก็ขอไม่เรียกดีกว่า เป็น “กวาง” แบบนี้ก็สบายใจดี เท่านั้นเอง

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top