พอออกมาเลยคิดว่าลองไปหาหมอกายภาพบำบัดสำหรับนักกีฬาสักครั้งน่าจะดี เพราะขาข้างซ้ายกวางเจ็บซ้ำๆ จนกวางแปลกใจ และเพื่อนๆ ที่เป็นนักกีฬาสายอื่นก็แนะนำด้วย เลยตัดสินใจไปดูเผื่อจะได้อะไรดีๆ
พอไปหาหมอ หมอก็ถามประวัติร่างกาย จับเช็กกล้ามเนื้อ เช็กนู่นนี่หลายอย่าง เช็กไปมาหมอก็สรุปร่างกายเราได้หลายเรื่อง คือ
1. ร่างกายเราฟื้นตัวได้ค่อนข้างไวมาก (กล้ามเนื้อฉีกแป๊บเดียวก็หายแล้ว จริงๆ ตอนไปปฏิบัติธรรมสิบวันก็ฝึกโยคะทุกวัน เพราะเค้ามีชั่วโมงให้ฝึกตอนตีห้าถึงหกโมงทุกเช้า ก็หลีกเลี่ยงส่วนที่บาดเจ็บเอา)
2. ความไม่สมดุลในร่างกายเรามีน้อยมาก มีสะโพกซ้ายไม่เท่ากับขวานิดหน่อย
3. กล้ามเนื้อช่วงล่างฝั่งซ้ายหลายส่วนไม่มีแรงเลย (ต้านมือหมอที่ดันสู้ไม่ไหว) พอถามหมอว่าเป็นเพราะเคยบาดเจ็บข้างนี้หรือเปล่า หมอบอกไม่น่าใช่ แต่คิดว่าน่าจะเพราะหลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อบางส่วนโดยธรรมชาติตั้งแต่แรกมันเลยอ่อนแอทำให้บาดเจ็บข้างนี้ซ้ำๆ
4. อาการบาดเจ็บอยู่ในขั้นที่ 1 คือน้อยมากและสามารถหายได้ด้วยการออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อส่วนนั้น
จากนั้นหมอก็สอนท่าออกกำลังกายสำหรับกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน ของกวางที่ได้การบ้านมาก็มี Hamstring, Adductor, Hip flexor, Gluteus medius
พอเรารู้ถึงจุดที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็ทำให้เบาใจแล้วยิ่งรู้ว่ามันสามารถแก้ได้ไม่ยากด้วยการออกกำลังกายยิ่งมีกำลังใจใหญ่ ช่วงนี้ก็เลยขยันฝึกท่ากายภาพควบคู่ไปกับโยคะด้วย แต่เพราะท่ากายภาพจะเป็นกลุ่ม weight training ซึ่งใช้กล้ามเนื้อเยอะ ฝึกเสร็จจะรู้สึกเลยว่าเพลีย ต้องพัก (เล่นรวมๆ เกือบชั่วโมง) และทำให้ต้องหาอาหารดีๆ กินเพื่อช่วยสร้างกล้ามเนื้อด้วย
จริงๆ แม้เราจะฝึกโยคะเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้สอนเราก็ใช้ชีวิตเหมือนนักกีฬาคนหนึ่ง คือใช้ร่างกายเยอะ ฝึกซ้อมเยอะ ต้องดูแลทั้งเรื่องอาหาร การพักผ่อน และแน่นอนว่าอะไรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ร่างกายของเราได้เราก็ควรทำ
ถ้าใครอยากที่จะพัฒนาร่างกายในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง หรือมีกล้ามเนื้อส่วนไหนที่มันก่งก๊ง ไม่เข้าใจมันสักที ลองไปหาหมอกายภาพสำหรับนักกีฬาดูสักทีก็ดีนะคะ หมอตอบเรื่องกล้ามเนื้อได้เป็นฉากๆ จนถึงกับต้องจับมือหมอแล้วบอกว่า “หมอรู้ได้ไงอะ?” คือหนูงงจริงๆ หมอรู้ได้ไง?
ใครสนใจแนะนำค่ะ
Fixme คลินิกเวชกรรมและกายภาพบำบัด (เสิร์ชคำนี้ในเฟซบุ๊คได้เลยค่ะ)
ใส่ความเห็น