สะพานโค้ง

เมื่อวันก่อนได้คุยกับพี่คนนึงเรื่องว่าฝึกโยคะมาระยะใหญ่แล้วยังรู้สึกว่าหลังยังแข็งอยู่เลย เลยคิดว่าอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับท่าเปิดหลังหน่อยค่ะ

เวลาที่ฝึกโยคะเนี่ยหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าถ้าคนไหนก้มเก่งคนนั้นอาจจะแอ่นไม่เก่ง หรือถ้าคนไหนฝึกท่าแอ่นเก่งคนนั้นก็อาจจะก้มไม่เก่ง (และแน่นอนมันมีคนที่เก่งทั้งสองอย่าง และมีคนที่เก่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ฝึกด้วย ดังนั้นเขาถึงบอกว่าอย่าเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น เพราะกรรมพันธุ์เราไม่เหมือนกันค่ะ)

โดยส่วนตัวกวางเป็นประเภทแรกคือก้มได้พอสมควรแต่ท่าแอ่นนี่จอดสนิท

ถึงจะฝึกมาหลายปีแต่ก็ไม่ค่อยได้ฝึกกลุ่มท่าแข็งแรงเท่าไหร่ เพราะอาจารย์ที่กวางเรียนด้วยจะเชี่ยวชาญเรื่องการร้อยท่า (Sequencing) มากกว่า พวกท่ายากยิ่งไม่ต้องพูดถึง คือแทบไม่ได้ฝึกเลย

อาจารย์ยังเคยถามว่าแล้วคิดว่าท่า(ยาก) พวกนี้จะเล่นได้ถึงอายุเท่าไหร่? นั่นคือท่านไม่ได้สนับสนุนให้ฝึกท่ายากมากนัก เพราะอย่างที่รู้กันในสังคมโยคะคือพอถึงอายุประมาณนึงที่ร่างกายเริ่มถดถอย เราก็ต้องถอยการฝึกของเราลงด้วย จนสุดท้ายก็เหลือแต่กลุ่มท่าพื้นฐานที่ฝึกได้จนตายนั่นละค่ะ

แต่เนื่องจากเรายังเด็กและยังมีกำลังก็คิดว่าอยากจะลองฝึกในกลุ่มท่าแข็งแรงที่มันต้องใช้ทั้งแรงใจ แรงกาย และวินัยดูบ้าง

จนได้มาเจอสายอาชทังก้าซึ่งตอบโจทย์หลายๆ อย่างรวมถึงได้เจอครูที่ตรงจริตกับเรา ก็เลยเพิ่งได้ลองเปิดโลกการฝึกท่ายากนี่ละค่ะ

สะพานโค้งสำหรับกวางเองก็ถือว่าเป็นท่ายากท่านึง คือขึ้นครั้งแรกเนี่ยมันติดไปหมด ติดที่สุดคือไหล่ ทำแรกๆ รู้สึกเหมือนไหล่จะฉีกก็ไม่ปาน ตัวก็หนั๊กหนัก ยกขึ้นไปก็หายใจไม่ค่อยออก เป็นท่าที่ไม่สบายเอาซะเลยค่ะ

จนตอนนี้ผ่านมาประมาณหกเดือนตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีสะพานโค้งในชุดฝึกประจำวันของตัวเอง ก็เริ่มเห็นพัฒนาการบ้าง (ฝึกอาทิตย์ละวันสองวัน แต่กำลังพยายามเพิ่มเป็นสามสี่วันละค่ะ กระดึ๊บไป)

เห็นได้ชัดว่าหน้าขาเริ่มแข็งแรง และสะโพกเริ่มคลาย จากก่อนหน้านี้ที่เคยบาดเจ็บ piriformis และ hip flexor ทำให้กล้ามเนื้อแถวๆ ก้นกับเชิงกรานด้านหน้ามันยึดทำให้ดันสะโพกไม่ไป ตอนนี้ก็ค่อยๆ ดันได้มากขึ้น

อกไหล่ก็เหมือนกันรู้สึกสบายขึ้นกว่าครั้งแรกเยอะ ตอนฝึกแรกๆ ครูบอกให้หายใจเบาๆ แต่โห มันทรมานจนหายใจเบาไม่ได้เลยค่ะ สำหรับกวางหลังเลยเป็นส่วนที่เปิดยากเกือบที่สุดแล้ว และสำหรับคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเหมือนกัน

ถ้านึกกันดีๆ แล้วในชีวิตประจำวันเราก็ไม่เคยได้ฝึกท่าแอ่นหลังกันใช่มั้ยคะ พอเป็นกล้ามเนื้อที่แทบไม่เคยถูกใช้งาน ก็แน่นอนว่าจะให้ยืดหยุ่นได้ก็ต้องใช้เวลา

ยิ่งความยืดหยุ่นเนี่ยใช้เวลาสร้างนานกว่าความแข็งแรงเยอะ ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นคนที่เกิดมามีแต้มบุญมาก ก็อาศัยเติมความเพียรกันต่อไปค่ะ

จะว่าไปกวางชอบอาชทังก้าอย่างนึงตรงที่ครูเค้าไม่ค่อยมีเทคนิคหรือทางลัดให้นี่ละค่ะ พวกใช้บล็อกใช้เชือกใช้อุปกรณ์นู่นนี่ช่วย ซึ่งก็อาจจะทำให้เข้าท่าได้ง่ายขึ้น เค้าก็ไม่ใช้เลย แต่เค้าจะเน้นให้สู้กับอาสนะอย่างตรงไปตรงมา ขึ้นได้ก็ขึ้น ขึ้นไม่ได้ก็เอาเท่าที่ไหววันถัดไปก็ลองใหม่

จัดปรับระเบียบร่างกายให้แบบพอดี ไม่มากจนเราอึดอัด ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนรู้กันไปทั้งครูทั้งนักเรียน

พอเป็นแบบนั้นถึงมันจะไปช้าหน่อย แต่กวางรู้สึกว่าฐานรากมันมั่นคง เพราะเราค่อยๆ เก็บรายละเอียดร่างกายทีละนิด ค่อยๆ สร้างความแข็งแรงความยืดหยุ่นไปทีละเปลาะๆ จนวันนึงท่ายากมันก็จะค่อยๆ มาเอง

จริงอยู่ว่าบางคนก็ขึ้นท่ายากได้จากการฝึกสายวินยาสะ (สายที่เปลี่ยนท่าโยคะไปเรื่อยๆ ไปเรียนทุกวันไม่ซ้ำเดิมสักวัน — กวางเองก็สอนสายนี้) แต่ส่วนตัวกวางรู้สึกมานานแล้วว่าวินยาสะสอนได้ถึงแค่ระดับกลาง แบบเล่นทุกวัน ออกกำลังกายทุกวันมีความสุขทุกวัน

แต่ถ้าจะขึ้นระดับสูง แบบที่เข้าท่ายากได้มั่นคง แข็งแรง มีสมาธิจริงๆ คือเป็นสายทุ่มเท (แต่เราทุ่มเทแบบพอดีนะ) สำหรับกวางอาชทังก้าตอบโจทย์ที่สุด ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ คือฝึกท่าเดิมซ้ำๆ จนกล้ามเนื้อจำ จนร่างกายค่อยๆ พัฒนาไป และแน่นอนไม่ใช่ทุกคนที่อยากเดินทางนี้

เหมือนเราชอบวิ่ง แต่จะมีกี่คนที่อยากเป็นนักวิ่งมืออาชีพ หรือนักว่ายน้ำมืออาชีพ พอนึกออกมั้ยคะ 😅 ความทุ่มเทมันต่างกัน เอาแบบที่พอดีกับใจกับกายเรานั่นแหละค่ะดีที่สุด

ท่าไหนที่ติดก็ขยันฝึกบ่อยๆ เติมความเพียร แต่ไม่ต้องสนใจผลลัพธ์มาก ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อยๆ ค่ะ

เหมือนหนังสือที่เพิ่งอ่านจบเล่มนึงเขียนไว้
“ความพยายามเป็นของมนุษย์
ความสำเร็จเป็นของฟ้าดิน”

ตามนั้นค่ะ ❤️

ปล. จากหนังสือ First Generation: วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ปล2. ช่วงนี้อ้วน อย่าซูมเซลลูไลท์เค้านะ (อย่าให้ผอมนะ จะสวยให้ดู 😂)
ปล3. ขอบคุณรูปจากพี่ปุ้มปุ้ยนะคะ (แทกไม่เป็น แง) นานแล้วน้องเพิ่งได้เอามาใช้ ส่งพลังจิตไปหาเจ้ วี๊ๆๆ


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *