“วินัยลักปิดลักเปิด”

การฝึกโยคะด้วยตัวเองที่บ้านเป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอ ทุกวันทุกครั้งที่จะลุกขึ้นมาฝึก กวางรู้สึกเหมือนกำลังจะออกรบกับใจดวงน้อยๆ ของตัวเอง ยิ่งช่วงไหนที่วินัยย่อหย่อนก็พาลจะทำให้นึกถึงเรื่องๆ นึงขึ้นมา

มันเป็นเรื่องเมื่อสมัยกวางอายุ 20 ปีและไปเข้าปฏิบัติธรรมที่ศูนย์โกเอนก้าเป็นครั้งแรก ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่นี่จะมีกฏระเบียบให้เราปิดวาจาเป็นเวลา 10 วัน และลำดับการนั่งปฏิบัติเค้าก็จะเป็นคนจัดให้ โดยเรียงลำดับคนที่มาบ่อยๆ ให้นั่งอยู่ข้างหน้าใกล้กับอาจารย์ แล้วคนที่มาใหม่ก็ให้นั่งข้างหลัง

กวางที่ตอนนั้นไปครั้งแรกก็ได้นั่งหลังสุด ทำให้มองเห็นคนที่อยู่ข้างหน้าตลอด แล้วในบรรดาผู้ปฏิบัติราว 40 คนนั้น มีผู้ชายชาวต่างชาติที่นั่งแถวหน้าสุดคนหนึ่งที่สะดุดตามาก สะดุดตาไม่ใช่เพราะเค้าหล่อหรืออะไร แต่เพราะเค้านิ่งมากต่างหาก

คอร์สโกเอนก้าถ้าใครเคยได้ยินก็จะรู้ว่าเป็นคอร์สที่ค่อนข้างเอาจริงเอาจัง โดยเค้าจะให้เรานั่งวิปัสสนาประมาณ 11 ชั่วโมงต่อวัน แล้วจะมีเสียงระฆังเตือนเกือบทุกชั่วโมง ซึ่งปกติพอครบหนึ่งชั่วโมงผู้ปฏิบัติเกือบทุกคนก็จะลุกไปผ่อนคลาย ยืดเส้นยืดสาย หรือเข้าห้องน้ำ แต่ผู้ชายคนนี้คือนิ่งมาก นิ่งตั้งแต่ตอนนั่งและแทบไม่ลุกออกจากที่นั่งเลย

กวางก็เก็บความสนใจระคนสงสัยเอาไว้จนผ่านไป 10 วัน วันสุดท้ายเป็นวันที่เค้าเริ่มปล่อยให้เราได้พูดคุยทักทายกัน ตอนนั้นก็มีคุณป้าคนนึงสนใจคุณน้าฝรั่งคนนี้เหมือนกัน เค้าก็ให้กวางลองสอบถามดูว่าเค้าเป็นใครมาจากไหน แล้วก็เอ่ยปากชมว่าเค้านั่งเก่งมาก

คุณน้าคนนี้เป็นผู้ใหญ่ตัวสูงรูปร่างค่อนไปทางผอม น้ำเสียงเนิบช้าอบอุ่นสไตล์คนปฏิบัติธรรม แล้วเค้าก็เริ่มเล่าให้ฟังว่าเค้าเป็นคนเยอรมันแต่เกิดและโตที่อเมริกา คุณพ่อเค้าเป็นคนเข้มงวดทำให้เค้าถูกฝึกเรื่องวินัยมาตั้งแต่เด็กๆ พอมาเข้าปฏิบัติกับโกเอนก้าเรื่องวินัยในการปฏิบัติสำหรับเค้าเลยไม่เป็นปัญหา

แล้วเค้าก็เล่าว่าตั้งแต่เด็กเค้ามีโรคประจำตัวคือ asthma (โรคหอบหืด) และต้องพ่นยาอยู่ตลอด แต่หลังจากเค้าเริ่มปฏิบัติธรรมอาการมันก็ค่อยๆ ดีขึ้นจน (ตอนนั้น) ที่เค้าปฏิบัติมา 19 ปีแล้วอาการของโรคก็หายไปหมด แล้วเค้าก็บอกว่า asthma เนี่ยเป็นโรคของใจ ไม่ใช่โรคของกายอย่างเดียว

ปัจจุบันเค้าเปิดร้านขายขนมปังอยู่ที่อเมริกา แต่ตัวเค้ากับภรรยาจะมาปฏิบัติคอร์ส 45 วันกับโกเอนก้าเกือบทุกปี (เค้าแยกกันไปคนละศูนย์) และถ้าปีไหนไม่ได้มาเค้าก็จะทำคอร์ส 45 วันเองที่บ้าน

แล้วจุดนั้นเค้าก็ก้มลงมาพูดกับกวางอย่างตั้งใจว่า เธอโชคดีมากนะที่เกิดในเมืองไทย ที่ได้เจอสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก (หมายถึงพระพุทธศาสนา)

“so keep doing it”
(ดังนั้นทำต่อไปเรื่อยๆ)

แล้วเค้าก็ย้ำอีกรอบว่า

“you have to keep doing it”
(เธอต้องทำต่อไปเรื่อยๆ นะ)

ตลอดเวลาที่ผ่านมาแน่นอนว่าเราก็ปุถุชนทั่วไป มีตุปัดตุเป๋ มีฮึดขึ้นมาแล้วก็ฮวบฮาบลงไปอีก วนเวียนไม่มีสิ้นสุด แต่ทุกครั้งที่หยุดทำไม่ว่าจะโยคะหรือการปฏิบัติ ก็จะนึกถึงช่วงเวลานั้นที่น้าฝรั่งเค้าพูดประโยคนั้นกับเรา

Keep doing it.

เหมือนเป็นคำอวยพรให้เราไม่หลุดออกไปจากเส้นทางนี้มากนัก

สิ่งไหนที่ดีกวางว่าเมื่อได้ลองทำเราทุกคนจะรับรู้ได้เอง มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นในใจเลยว่าสิ่งนี้แหละดี สิ่งนี้แหละที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา

เราอาจจะไม่ได้เป็นคนดีหรือเป็นคนเก่งมากนักในตอนนี้ แต่ตราบใดที่เรายังคงพยายามเราก็ค่อยๆ ขัดเกลาตัวเองจนมันดีขึ้นตามลำดับ

สิ่งสำคัญที่สุดคือการยังคงตัวเองให้อยู่บนเส้นทางที่ดีอันนี้ต่อไป ถ้ามันจะเดินหลุดไปบ้างก็ต้องคอยตบซ้ายตบขวาให้มันกลับเข้ามา ขยันอีกหน่อย พากเพียรอีกหน่อย ค่อยๆ จัดการกับวินัยลักปิดลักเปิดของตัวเอง
ไม่ว่าเรื่องไหนในชีวิตมันก็คงเป็นแบบนั้นละมั้ง 🌿

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top