เมื่อก่อนตอนทำงานบริษัทนายญี่ปุ่นเป็นคนแรกที่สอนวิธีจดตารางงานให้ นายให้ตีเส้นกระดาษเป็นเหมือนเลขบวกตัวใหญ่ๆ เพื่อแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสี่ส่วนแล้วก็สอนว่าแต่ละส่วนให้เอาไว้จด
1.เรื่องที่สำคัญและด่วน(ซ้ายบน)
2.สำคัญแต่ไม่ด่วน(ขวาบน)
3.ด่วนแต่ไม่สำคัญ(ซ้ายล่าง)
4.ไม่ด่วนและไม่สำคัญ (ขวาล่าง)
โดยให้เขียนเรื่องที่ต้องทำไล่เป็นข้อๆ ลงมา ในระหว่างวันพอทำงานนั้นเสร็จเราก็จะค่อยๆ ขีดฆ่าอันที่เสร็จแล้วออกไป แล้วพอขึ้นวันใหม่ก็ตีตารางแบบนี้แล้วยกเรื่องที่ทำไม่เสร็จเมื่อวานมาเขียนลงไป บวกกับงานใหม่ในวันนั้น แล้วก็ทำแบบนี้ต่อไปทุกวันๆ
ตอนนั้นก็ใช้มั่งลืมมั่งตามประสา แต่กวางว่าก็เป็นเทคนิคที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพดี
ตอนไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เนื่องจากโรงเรียนที่เลือกนั้นเรียนค่อนข้างหนัก (จริงๆ ตั้งใจเลือกเอาเรียนโหดๆ เลยจะได้ไปไม่เสียเที่ยว) โหดขนาดไหนก็โหดชนิดที่ว่าการโดดเรียนหนึ่งวันเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
เพราะปกติเราเรียนกันทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงช่วงบ่ายสาม (มั้ง?) ดังนั้นปริมาณเนื้อหาที่เรียนและปริมาณการบ้านก็จะเยอะมาก ถ้าขาดเรียนแล้วต้องมาตามเรียนทีหลัง แล้วไหนจะต้องเตรียมตัวสำหรับการสอบที่จัดขึ้นแทบจะทุกอาทิตย์แล้ว โอย แค่คิดก็อยากจะเป็นลม ไม่โดดเรียนคือดีที่สุด
และเพราะเรียนหนักแบบนี้ทำให้กวางต้องหาวิธีบังคับตัวเองให้ทำการบ้านและอ่านหนังสือ ตอนช่วงนั้นเลยใช้วิธีเซ็ตตารางชีวิตตัวเองแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง คือล็อกเวลาเอาไว้เลยว่ากลับมาบ้านแล้วจะนั่งชิวได้ถึงกี่โมง อ่านหนังสือตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง ให้มันเป็นกิจวัตรของเรา อาจจะดูหุ่นยนต์หน่อยๆ แต่วิธีนี้ใช้ได้ผลกับกวาง
พอตอนที่ลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาอยู่บ้านกวางก็เริ่มมองหาวิธีในการควบคุมกำกับตัวเอง เพราะการทำงานที่เวลาทั้งหมดเราจัดสรรเองนั้นเป็นเรื่องน่ากลัว ถ้าเราขาดวินัยแล้วละก็เราอาจจะทำอะไรไม่เสร็จเลยก็ได้
ตอนนั้นเองที่แฟนเอาหนังสือของ Mitchell Harper ชื่อ #Doitall มาให้อ่าน พออ่านจบก็เลยใช้แนวคิดที่ได้จากหนังสือมาตั้งเป้าหมายปีใหม่ของตัวเอง แล้วพอตั้งเป้าหมายเสร็จก็คิดวนๆ อยู่พักนึงว่าต้องหาสมุดสักเล่มมาจดตารางงานตัวเองในแต่ละอาทิตย์ เลยนึกถึงวิธีการเซ็ตตารางชีวิตแบบรายชั่วโมงที่เราเคยใช้ ทำให้สุดท้ายก็ใช้ตารางงานรายสัปดาห์แบบที่แบ่งวันหนึ่งวันออกเป็นรายชั่วโมง ตั้งแต่ 8:00-17:00 เอาไว้ให้
และสมุดเล่มนี้เองที่เป็นเครื่องมือที่กวางใช้ในการควบคุมกำกับตัวเองในแต่ละสัปดาห์ เพื่อที่จะให้เราสามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างที่เราได้ตั้งไว้เมื่อตอนปีใหม่นั่นเอง
สองปีแรกที่เริ่มใช้ตารางนี้ก็เป็นช่วงปรับตัว ปีแรกเขียนลงสมุดไปแค่ 20–30% ของทั้งปีเอง ปีที่สองเริ่มขยับมาเป็น 50% แต่พอมาปีนี้จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหน้าไหนว่างเลย กวางสามารถใช้สมุดได้เต็มครบ 100% แล้ว 😊
ทำให้เห็นเลยว่าการจะสร้างนิสัยบางอย่างเนี่ยอาศัยเวลาและความพยายามอย่างต่อเนื่องจริงๆ
กวางไม่ใช่คนที่มองหรือนึกถึงเป้าหมายใหญ่บ่อยนัก เพราะถ้าคิดมากๆ จะรู้สึกกดดัน แต่จะให้ความสำคัญกับการทำแต่ละวันให้ดีที่สุดมากกว่า ดังนั้นการตั้งเป้าแบบรายวันกับรายสัปดาห์จึงเป็นเรื่องที่กวางพยายามทำอย่างสม่ำเสมอ
ทุกวันอาทิตย์เย็นหรือไม่ก็วันจันทร์เช้ากวางจะเริ่มจากการนั่งวางแผนว่าในหนึ่งสัปดาห์นี้เรามีเรื่องอะไรที่ต้องจัดการบ้าง แล้วเราก็จดออกมาวางตารางให้หมด ตั้งไว้ก่อนทำได้ไม่ได้ว่ากันอีกที
วางตารางเสร็จกวางก็จะใช้สีมาช่วยกำกับประเภทงาน เพราะสีมีผลกับสมองกวาง เช่นงานที่บ้านสีน้ำตาล งานสอนโยคะสีฟ้า การเรียนกับการฝึกโยคะสีแดง พักผ่อนสีเขียว พอเราขีดแต่ละช่วงเวลาเป็นสีๆ ไว้เหมือนสมองมันสามารถรับและเข้าใจข้อมูลส่วนนั้นได้ง่ายขึ้น
พอจดบันทึกรายสัปดาห์เสร็จแล้ว ทีนี้ครึ่งปีเราก็มาวัดผลทีนึงว่าที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้างถ้าเทียบกับเป้าหมายปีใหม่ที่ตั้งไว้ตอนแรก ออกนอกลู่นอกทางบ้างรึยัง
ทุกเรื่องที่เขียนลงไปตอนปีใหม่ กวางลองคำนวณดูคร่าวๆ แล้วว่าถ้าจะให้สำเร็จตามเป้าหมาย กวางต้องใส่พลังเข้าไปประมาณ 110% ซึ่งแน่นอนว่าเราเองก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง มีวันที่ขี้เกียจบ้าง มีวันที่ไม่คาดคิดและเซ็งจนไม่สามารถทำงานได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายเราก็จะทำได้แค่ประมาณ 70–80%
และนี่ก็เป็นเหตุผลหลักที่เค้าสอนให้เราตั้งเป้าหมายให้สูงเอาไว้ก่อน เพื่อจะใช้มันในการผลักดันตัวเองให้ไปได้มากกว่าเดิม
ผ่านปี 2019 มาครึ่งปีกว่ากวางก็ได้ย้อนกลับไปอ่านเป้าหมายปีใหม่ที่เราเขียนไว้ตั้งแต่ต้นปีอีกครั้ง แล้วก็พบว่าเราเดินมาในทิศทางที่วางไว้แบบค่อนข้างตรง อาจจะช้าหน่อยแต่ไม่ค่อยหลุดจากแนวทางที่วางไว้เท่าไหร่
อ่านแล้วรู้สึกพิศวงดีเหมือนกัน เหมือนกับว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมาตัวเรามีไทม์แมชชีนแล้วเราก็นั่งมาดูอนาคตของตัวเองในปีนี้ว่ามันเป็นยังไง (กวางแปะเป้าหมายปีใหม่เอาไว้หน้าแรกของสมุดเล่มนี้จะได้ย้อนกลับไปอ่านได้ง่ายๆ – ส่วนวิธีเขียนเป้าหมายปีใหม่เขียนแชร์ไว้เมื่อตอนต้นปีแล้ว ใครสนใจลองย้อนไปอ่านดูนะคะ)
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเดินตามเป้าหมายได้ค่อนข้างตรงน่าจะเป็นเพราะเป้าหมายที่เขียนมันเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง
จำได้ว่าตอนช่วงที่เขียนก็ละเลียดอยู่นานเหมือนกัน ใช้เวลาประมาณอาทิตย์นึงจดความคิดทั้งหมดออกมาก่อนแล้วค่อยๆ นำมาเรียบเรียงเพื่อตั้งเป็นเป้าหมายของปีนี้ พอเราใช้เวลาทั้งคิดและเขียนนานขนาดนี้ ทำให้เป้าหมายมันค่อนข้างสมเหตุสมผล
ยิ่งมีสมุดมาคอยกำกับแบบรายสัปดาห์ ก่อนนอนก็จดนู่นนี่และทำเช็กลิสต์เพิ่มเติม ตื่นเช้ามาก็จดและเช็กซ้ำเรื่องที่ต้องทำ มันเลยเป็นเหมือนตัวที่คอยกระตุ้นตบๆ ให้เราเดินไปตามแนวทางที่วางไว้และไม่ออกนอกลู่นอกทางจนเกินไปนั่นเอง
ตารางงานแบบนี้ก็อาจจะเหมาะกับคนที่มีตารางชีวิตไม่ค่อยซับซ้อน เป็นตารางที่ค่อนข้างเรียบง่าย ซึ่งก็เป็นแค่หนึ่งในอีกหลายล้านวิธี สุดท้ายมันจะเหมาะกับรูปแบบงานของเราหรือไม่นั้น ก็ต้องลองใช้และลองปรับกันดูค่ะ
ใส่ความเห็น