บาดเจ็บก็ไม่ได้แย่เสมอไป

ในสายโยคะเรื่องอาการบาดเจ็บจะค่อนข้างเป็นเรื่อง Taboo หน่อยๆ คือถ้าครูเจ็บครูก็จะไม่ค่อยชอบพูดถึงในรายละเอียดเพราะมันอาจแสดงถึงความอ่อนด้อยของตัวเอง (ยิ่งถ้ามาจากการฝึกโยคะด้วยแล้ว) นักเรียนเจ็บครูหลายคนก็อาจจะเครียด นอกจากนักเรียนจะหายไปจากสตูแล้ว อาการบาดเจ็บนั้นอาจทำให้นักเรียนเลิกฝึกไปเลยก็มี

ตัวกวางเองเปลี่ยนมุมมองเรื่องอาการบาดเจ็บตอนที่ได้ไปฟังสัมนาอันนึง สัมนานั้นมีนักกายภาพบำบัดสำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะมาเป็นผู้บรรยาย แล้วตัวพี่เค้าก็เล่าเรื่องนึงให้ฟัง

พี่เค้าเป็นสายยกเวทแล้วมีอยู่ครั้งนึงที่เค้าห่างหายการยกเวทไปนานสามสี่เดือน ทีนี้พอกลับไปยกใหม่แทนที่จะลดน้ำหนักเวทลงเค้ากลับใส่น้ำหนักเท่ากับครั้งล่าสุดที่เค้าเคยทำได้เมื่อสามสี่เดือนก่อน พอยกปุ๊บก็เลย แปล๊บ เค้ารู้เลยทันทีว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้ว

สิ่งที่สุดยอดคือเค้าหายจากอาการบาดเจ็บภายในสามสัปดาห์ เพราะพอรู้ว่าเจ็บเค้าก็ทำกายภาพบำบัดตัวเองทันที ไม่ได้ปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรัง

นอกจากเรื่องนี้ในการบรรยายยังมีสถิติมาแสดงให้ดูด้วยว่า สำหรับนักกีฬาทั่วไปในการออกกำลังกายทุกๆ 1000 ชั่วโมง จะมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณหนึ่งครั้ง (ตัวเลขจริงๆ ไม่ได้กลมแบบนี้ แต่กวางจำได้แค่คร่าวๆ) ถ้านับหลวมๆ ก็สามปีอาจจะบาดเจ็บสักหนึ่งครั้ง

พอได้ฟังเรื่องพวกนี้กวางก็รู้สึกว่ามุมมองที่เคยมีต่ออาการบาดเจ็บของกวางผ่อนคลายลง เมื่อก่อนคือมันจะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรจะเกิดขึ้น อาการบาดเจ็บมาจากอีโก้ของเรา เกิดแล้วส่งผลกระทบกับอาชีพการงานและการฝึกส่วนตัว สารพัดความยุ่งยากเลย

แต่ตอนนี้กวางมองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และดูแลรักษาได้ถ้าจัดการทันที

ส่วนนึงคงเพราะความรู้ในการเข้าถึงการรักษามันชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เรารู้ว่าถ้าเราบาดเจ็บเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเราต้องหาหมอกายภาพบำบัด และถ้าจะให้ดีมากขึ้นก็คือหมอกายภาพบำบัดสำหรับนักกีฬา

เรารู้ว่าต่อให้เจ็บเราก็สอนได้เพราะเราพูดให้เค้าทำได้ แม้อาจจะไม่พริ้วเท่าทำให้ดูด้วย (เมื่อก่อนยังทำไม่ได้เพราะนักเรียนยังใหม่ ยังไม่รู้จักท่า และเรายังไม่รู้จังหวะในการลุกออกมาจากเสื่อ)

และเอาจริงๆ นะใครกันจะมีสติ 100% ได้ตลอดเวลา?

บางทีเราก็ฝึกปกตินี่แหละ ฝึกเสร็จร่างกายก็ปกติเลย ไม่มีเจ็บอะไร แต่พอผ่านไปสองวันอ้าวเอ๊ะ เจ็บข้อมือ พอย้อนนึกก็พอจะเดาๆ ได้ว่าอ๋อ วันนั้นคงใช้เยอะกว่าปกติ แล้วไม่ได้ระวังถ่ายน้ำหนักไปที่ฝ่ามือเต็มๆ แทนที่จะกระจายน้ำหนักไปที่ปลายนิ้วด้วย

มันก็เจ็บ แต่ถามว่าถ้าไม่เจ็บจะรู้มั้ยว่าที่ผ่านมาทำไม่ถูกต้อง บางอย่างมันก็ต้องผิดก่อนถึงจะรู้ว่าถูกคืออะไร (บางทีอาจจะเจ็บจากอย่างอื่นก็ได้)

คือพอเลิกทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่มันก็กลายเป็นเรื่องปกติเรื่องนึง

วันก่อนก็ตกจากท่า side plank แบบยกขาสูง ไม่มีอะไรเลย สะเพร่า ทำเล่นๆ มากไปหน่อย ตกเสร็จนิ้วนางเท้าฟาดพื้น วันถัดมาก็ออกสีม่วงช้ำแถมบวมเป่ง ก็ยอมรับสภาพ

มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป

ยังคงตื่นมาฝึกเพราะอยากรู้ว่าเจ็บทั้งข้อมือ เจ็บทั้งนิ้วเท้าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้าง มันก็สนุกดี ทำให้รู้ว่าเมื่อนิ้วเท้าเจ็บ ท่ายืนเราจะไม่ค่อยมั่นคงเพราะนิ้วเท้ามันไม่ยอมเกาะพื้น และพอไม่สามารถหาความมั่นคงจากนิ้วเท้าได้ กล้ามเนื้อขาด้านหลังกับสะโพกก็ออกแรงมากขึ้นในการช่วยทรงตัวในหลายๆ ท่า

พอข้อมือเจ็บเราก็ต้องมีสติในการกระจายน้ำหนักที่ปลายนิ้วมากขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำหนักตกที่ข้อมือแถวๆ ฝ่ามืออย่างเดียว ก็ปรับท่าตามสภาพ แต่ก็ฝึกเท่าที่ได้ ท่าไหนสุ่มเสี่ยงก็เว้น

เพราะสุดท้ายแล้วเรามายืนบนเสื่อเพื่อตัวเราเอง เราไม่ได้มาเพื่อทำร้ายตัวเอง เราอยู่ตรงนี้เรารู้สึกสงบ รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านภายในของเรา ดังนั้นมันไม่สำคัญว่าเราทำท่าครบมั้ย ทำสมบูรณ์มั้ย ได้เท่าไหร่มันก็ไม่ได้ทำให้การฝึกของเรามันด้อยค่าลง

มันก็ยังเป็นการฝึกที่ดีอยู่นั่นเอง

ปล. อาการบาดเจ็บบางอย่างก็ควรงดฝึกสักระยะเพื่อให้หายอักเสบก่อน แต่ถ้าเป็นในจุดที่หลีกเลี่ยงได้ก็อยากให้มาฝึกแล้วเว้นบางท่าเอามากกว่าเพราะถ้าห่างไปนานจะดึงตัวเองกลับมาฝึกยาก

ในทางกลับกันก็มีอาการบาดเจ็บบางอย่างที่ไม่ควรหยุดเลย เพราะถ้าหยุดกล้ามเนื้อส่วนนั้นอาจขึ้นพังผืด นอกจากจะไม่หายง่ายๆ แล้ว กล้ามเนื้อจะตึงมากขึ้นกว่าเดิมเพราะพังผืดยึดด้วย

จะรู้ได้ยังไงว่าควรหยุดหรือไม่ควรหยุด แนะนำว่าปรึกษาครูโยคะที่ดูแลเราก่อน เพราะครูอาจเคยเจอเคสแบบนี้ แล้วถ้าครูไม่รู้จริงๆ ก็ต้องปรึกษาหมอกายภาพบำบัดค่ะ

อย่าไปซีเรียสมาก มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เป็นแล้วก็หายได้ แค่ต้องรีบดูแลทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้ นักกีฬามีบาดแผลบ้างก็ไม่มีใครมาว่าเราหรอก นอนอยู่เฉยๆ จนเจ็บป่วยสิน่างงกว่าอีก

ปล2. ไปหาหมอกายภาพ สรุปหมอบอกว่าแขนน่าจะพลิกตอนที่ตกจากท่า(พร้อมๆ กับที่นิ้วเท้าฟาด) เพราะส่วนที่กระชากก่อนเวลาบาดเจ็บจริงๆ แล้วคือกล้ามเนื้อแถวข้อพับแขนใกล้ๆ ศอก แล้วอาจจะไปแสดงอาการที่เอ็นแถวๆ ข้อมือ หมอติดเทปที่แขนให้เพื่อช่วยลดการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้น และงดฝึกท่าที่ใช้แขนข้างเดียวรับน้ำหนักตัวสักสองอาทิตย์เพราะอักเสบอยู่

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top