ทำไมเรานั่งยองๆ ไม่ได้

ปัญหาหนึ่งที่กวางเจอระหว่างสอนโยคะคือ มีคนจำนวนมากที่นั่งยองไม่ได้

ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องแปลก นั่งยองนี่ใครๆ ก็น่าจะทำได้จริงไหม? ตอนเด็กๆ ทุกคนนั่งท่านี้ได้แต่ทำไมโตขึ้นแล้วถึงนั่งยองลำบาก?

เวลาที่เราไปเดินป่าหรือไปตามชนบทห่างไกลแล้วต้องเข้าห้องน้ำ เราจำเป็นต้องนั่งยอง หรือเวลาที่เราเสียหลักหกล้ม ยังไงเราก็ต้องงอพับเข่าเข้ามาเพื่อทรงตัวเอาไว้ไม่ให้ล้มหน้าคว่ำ ความสามารถในการที่จะพับงอเข่าได้ตามการใช้งานจึงเป็นเรื่องจำเป็นในการใช้ชีวิต แม้แต่อาจารย์โยคะของกวางก็เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “เมื่อไหร่ที่คุณนั่งยองไม่ได้ เมื่อนั้นคุณภาพชีวิตคุณเสียไปแล้วครึ่งนึง”

ส่วนใหญ่เท่าที่เคยเจอว่านั่งยองไม่ได้ จะเป็นเพราะความตึงเป็นหลัก กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการนั่งยอง มีไล่ตั้งแต่ข้อเท้า(เอ็นร้อยหวาย) กล้ามเนื้อน่อง รอบหัวเข่า ขาด้านหลัง สะโพก และสุดท้ายคือหลัง ถ้ากล้ามเนื้อเหล่านี้ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดเกิดอาการเกร็งตึงหรือขาดความยืดหยุ่น การนั่งยองก็จะเป็นเรื่องลำบากขึ้นมาทันที

ในโยคะเรามีท่ามาลาสนะ (Malasana) หรือท่าพวงมาลัย เป็นท่านั่งยองที่ช่วยให้กล้ามเนื้อขา น่อง สะโพก เข่า และข้อเท้าได้ฝึกรับแรงกด ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และกระชับกล้ามเนื้อทุกส่วน ถ้าใครเริ่มรู้สึกตัวว่านั่งยองลำบาก ลองมาทำความรู้จักท่านี้กันดูค่ะ

ท่านี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า และเป็นท่าพักตามธรรมชาติของมนุษย์ จริงๆ เคยได้ยินว่าหมอบางคนไม่แนะนำให้นั่งท่านี้เพราะจะทำให้เข่าเสื่อม(ในคนที่ยังไม่เสื่อม) ส่วนตัวยังรู้สึกกังขาในคำพูดประโยคนี้ เพราะนึกไปถึงคนแก่สมัยก่อน หรือตามชนบทห่างไกลที่เค้านั่งคุยกันท่านี้เป็นชั่วโมงแบบสบายๆ และสามารถนั่งห้องน้ำท่านี้ได้จนแก่เฒ่า เพราะห้องน้ำแบบชักโครกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เพิ่งมีขึ้นมาเมื่อไม่ถึงร้อยปีนี้เอง แล้วถ้าการนั่งยองมันไม่ดีกับเข่าจริงคนสมัยก่อนหรือแม้แต่คนแถวแอฟริกาก็น่าจะมีปัญหาเข่าเสื่อมกันหมดแล้วรึเปล่า?

แต่ทั้งนี้ สำหรับคนที่มีปัญหาเข่าเสื่อมแล้ว เน้นว่ามีอาการเสื่อมแล้ว ควรฝึกด้วยความระมัดระวัง จะฝึกได้หรือไม่ได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ เคยคุยกับพี่ที่เป็นนักกายภาพบำบัดเรื่องนี้ เพราะมีนักเรียนบางคนก็อยู่ในกลุ่มที่พอทำได้เหมือนกัน และถ้าพอทำได้ก็ทำ เพราะเป็นท่าที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อหลายส่วน (ถ้าไม่ชัวร์แนะนำว่าปรึกษานักกายภาพก่อนค่ะ) แต่สำหรับคนที่เข่าเสื่อมรุนแรง ให้หลีกเลี่ยงไปเลยแล้วใช้ท่านอนหงายกอดเข่าเข้ามาแนบอกแทน (ก็คือทำท่านี้ค่ะ แต่ทำในท่านอน และเอาแขนโอบเข่าเข้าหาตัว) อย่างน้อยก็ฝึกให้ข้อเข่ายังคงงอพับได้โดยไม่มีแรงกดทับ

ท่านี้มีจุดที่ต้องใส่ใจคือ

1. ถ้ายังนั่งยองไม่ได้ ให้แยกเท้ากว้างๆ ไว้ก่อน แล้วเอามือวางที่พื้นเพื่อทรงตัวไว้ กดส้นเท้าลงไปเท่าที่เราได้

2. ถ้าเริ่มนั่งได้แล้ว ให้เอาเท้าชิดติดกัน แยกเข่าออกกว้างๆ แล้วเอามือเอื้อมจับข้อเท้าด้านหลัง

3. พยายามออกแรงกดส้นเท้าลงหาพื้น ลดสะโพกลงต่ำๆ แล้วยืดหลังยาวๆ ศีรษะของเราจะแตะพื้นได้หรือไม่ไม่สำคัญ สำคัญที่กดส้นเท้าลงหาพื้นให้มาก แล้ววันนึงถ้าร่างกายพร้อมเค้าก็จะก้มได้ลึกขึ้นเอง

เพียงเท่านี้เราก็จะกลายเป็นพวงมาลัยที่อ่อนน้อมและสวยงามแล้วค่ะ

ประโยชน์ของท่านี้มีเยอะมากๆ ช่วยยืดคลายกระดูกสันหลังทั้งแถบ ทำให้ระบบประสาทตามแนวกระดูกสันหลังมีการคลายตัว ไม่ถูกเบียดหรือถูกรบกวน กระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้องให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย กระตุ้นการเผาผลาญอาหาร และการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยปรับสมดุลของกล้ามเนื้อทั้งสองข้างให้เท่ากัน ดีกับคนที่เป็นกระดูกหลังเคลื่อนและกระดูกหลังผิดรูป นอกจากนี้ยังช่วยรักษาและบรรเทาภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงป้องกันการไหลย้อนของประจำเดือน ดังนั้นคนที่มีปัญหาเรื่องประจำเดือนไม่มาก็ควรฝึกบ่อยๆ ค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top
Scroll to Top