ความรู้เรื่องอาหารที่กวางเรียนรู้มา

สำหรับคนที่สนใจเรื่องสุขภาพ อยากจะแข็งแรง อายุยืนหรือหุ่นดี และเริ่มหันมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น ต้องเคยได้ยินประโยคที่บอกว่า “อาหารคือยา”​ หรือ “อาหารที่เราทานสำคัญกว่าการออกกำลังกายหลายเท่า” แต่ก่อนกวางก็ไม่ได้สนใจเรื่องอาหารการกินมาก แต่พอลองนึกดูดีๆ สิ่งที่เราทานเข้าไปทุกอย่างมีผลกับสุขภาพเราโดยตรง อาหารหลายชนิดให้พลังงานเท่ากัน แต่ให้คุณค่าสารอาหารไม่เหมือนกัน (เช่น จะกินข้าวหรือกินมันฝรั่งทอด?) และอาหารที่ไม่ดีก็เป็นต้นเหตุของโรคร้ายหลายอย่าง แล้วทำไมเราถึงจะไม่สนใจมันล่ะ?

หลายปีมานี้กวางได้ศึกษาและทดลองเรื่องอาหารการกินที่ช่วยให้สุขภาพดี พอจะพบว่าหลักการทานอาหารแบบไหนมีประโยชน์กับตัวเรา อาจารย์โยคะของกวางก็ได้แนะนำหลายเรื่อง ซึ่งบางอย่างนั้นอาจจะตรงข้ามกับแนวคิดกระแสหลักของสังคม แต่กวางเห็นว่ามีประโยชน์ เลยอยากจะลองเอาแนวคิดการทานอาหารที่รู้มาแบ่งปันกันดูค่ะ จะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ หลายๆ อย่างคงต้องทดลองและหาสมดุลกันดูเองนะคะ

กินของที่อยู่ในรัศมี 1,000 กิโลเมตร

เรื่องอาหารที่ได้เรียนมาก็มีหลายอย่าง ที่จำได้อย่างแรกเลยก็คือ ถ้าเราเกิดที่ไหนแสดงว่าเคมีในร่างกายเราเข้ากับสถานที่นั้นๆ ให้เราเลือกทานของที่เกิดอยู่ในรัศมี 1,000 กิโลเมตรจากจุดที่เราเกิดจะดีกับสุขภาพของเรามากที่สุด เพราะเคมีของอาหารนั้นๆ จะเข้ากับร่างกายของเราได้ ไม่ทำให้เกิดเป็นสารพิษตกค้างในร่างกายซึ่งแม้จะเล็กน้อย แต่เมื่อสะสมรวมกันนานเข้าก็อาจนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ ได้ เคยถามกันว่า อ้าวแล้วอย่างนี้ก็อดกินสตรอเบอร์รี่สิ ผลไม้อิมพอร์ตหลายๆ อย่างก็ด้วยสิ อาจารย์ก็ว่าก็ถ้ามันปลูกแถบบ้านเราได้เคมีมันก็เข้ากับเราได้ แต่ถ้าปลูกไม่ได้แต่อยากกินก็นานๆ กินทีแล้วกัน

แล้วแกก็ยกตัวอย่างของคนฮ่องกงให้ว่า ผู้หญิงฮ่องกงเนี่ยเดินมาสิบคนเป็นซีสต์ในมดลูกกันไปสักแปดคน เพราะคนฮ่องกงถ้าอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นมาหน่อยก็จะกินอาหารฝรั่งกันเป็นกิจวัตร เพราะได้รับอิทธิพลจากอังกฤษที่ไปครอบงำอยู่เป็นร้อยปี เลยทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายอันเป็นสาเหตุหนึ่งของซีสต์อย่างที่เป็นกันอยู่นี่แหละ ซึ่งกวางเคยตามดูไอจีเพื่อนฮ่องกงก็เออ เค้ากินอาหารฝรั่งเยอะมากจริงๆ กินเป็นปกติเหมือนเรากินอาหารไทยนี่เลย แต่ไม่กล้าถามนะว่าเพื่อนเป็นซีสต์หรือเปล่า

ทีนี้ก็มีถามอีกข้อว่าอ้าว ถ้าย้ายไปอยู่เมืองนอกล่ะทำไง อาจารย์แกว่าก็ถ้าไปอยู่เมืองนอกแล้ว ผ่านไปสามเดือนเซลล์ต่างๆ ในร่างกายมันก็จะผลัดใหม่หมดเราก็ควรต้องเริ่มกินอาหารในท้องถิ่นของประเทศนั้นละ เพราะตอนนี้เคมีในร่างกายเราจะเข้ากับทางนั้นแล้ว อาหารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

ใส่ใจถึงฤทธิ์ร้อนเย็นของผักและผลไม้

เรื่องอาหารท้องถิ่น ช่วงที่ออกกำลังกายหนัก เริ่มสอนเยอะๆ ช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยรู้อะไร กินพวกผักเยอะมาก แต่ไปเน้นเป็นผักกาด ผักกะหล่ำ ผักบร๊อคโคลี่ แครอท ซึ่งปลูกในไทยก็จริงแต่ต้นกำเนิดมันไม่ใช่ของบ้านเรา อาจารย์แกก็เล่าให้ฟังว่าผักพวกนี้ที่มันเกิดในเขตหนาว มันเป็นผักที่กินแล้วตัวจะร้อน พวกผักกาด ฮ่องเต้น้อยนี่ใช่เลย สมุนไพรก็เหมือนกัน อย่างในประเทศจีนเค้าจะกลัวยาเย็นกันมาก ยาสมุนไพรต่างๆ ของจีนก็เลยจะเป็นยาร้อนซะมาก

แต่ทีนี้ประเทศไทยเรามันเป็นประเทศร้อนอยู่แล้ว ผักพื้นบ้านของเราโดยมากเลยกินแล้วตัวจะเย็น ยิ่งพวกสีเขียวจัดๆ ยิ่งกินยิ่งเย็น พวกใบบัวบก ย่านาง ตำลึง กระเจี๊ยบ ผักบุ้ง บวบ แตงกวา มะระขี้นกพวกนี้กินแล้วดีกับคนออกกำลังกายหนัก เพราะเมื่อออกกำลังกายร่างกายก็เกิดการอักเสบ มันก็จะมีความร้อนเกิดขึ้นทั่วร่างกาย เราก็ต้องปรับอาหารของเราให้มีฤทธิ์เย็นมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ให้กินแต่ของฤทธิ์เย็นอย่างเดียว ก็ควรจะเป็นสมดุลร้อนเย็นแต่ค่อนไปทางเย็นมากกว่า งดของทอด ของหมักดอง แม้แต่ผลไม้ฤทธิ์ร้อนอย่างทุเรียนก็ต้องระวัง

ช่วงหลังๆ กวางก็ลองปรับมากินผักสมุนไพรพื้นบ้านมากขึ้น ก็รู้สึกอ่อนเพลียน้อยลง ทั้งๆ ที่ใช้ร่างกายเยอะกว่าเดิม และนอนน้อยกว่าเดิม ก็เห็นผลดีเหมือนกันในเรื่องปรับอาหาร ซึ่งก็ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ

เรื่องอาหารท้องถิ่นกับการป่วยไข้นี่ก็มีอีกเคสนึงที่อาจารย์เล่าว่า คนอีสานของไทยเรามียีนธาลัสซีเมีย คือยีนเลือดจางอยู่ในพันธุกรรม แต่เมื่อก่อนไม่ค่อยออกอาการกันมาก เพราะผักพื้นบ้านแถบภาคอีสานจะมีธาตุเหล็กอยู่เยอะ (กวางจำชื่อไม่ได้แล้ว ชื่อผักแปลกๆ หลายชื่อเลย) แต่พอสมัยนี้ที่คนต่างจังหวัดเปลี่ยนมากินอาหารแบบคนเมือง กินไก่ทอดผู้พัน กินพิซซ่า คนก็เริ่มมีอาการเลือดจางมากขึ้น เพราะไม่ได้กินธาตุเหล็กจากแหล่งธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน

ปล่อยตัวเองให้หิวบ้าง

วิธีการกินอาหารก็อีกเรื่องหนึ่ง อาจารย์จะสอนเสมอว่า ถ้ายังไม่หิวก็ยังไม่ต้องกิน และถ้าหิวแล้วให้รอสักสองชั่วโมงค่อยกิน เพราะระหว่างที่หิวร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ทำให้คงความเป็นหนุ่มเป็นสาวให้กับร่างกายเรา และแกยังสอนอีกว่าร่างกายคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กินข้าวตรงเวลาสามมื้อ แต่การที่เราหิวตรงเวลาเป็นเพราะจิตของเราตั้งโปรแกรมเอาไว้

เรื่องนี้กวางลองกับตัวเองแล้วเลยพอเล่าได้ สิ่งที่จุดประกายให้ลองจริงๆ นอกจากคำพูดอาจารย์คือหนังสือเรื่อง “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” ของนายแพทย์โยะชิโนะริ นะงุโม (Yoshinori Nagumo) ซึ่งคนเขียนเป็นนายแพทย์และเป็นผู้อำนวยการใหญ่ในโรงพยาบาลสี่แห่งในญี่ปุ่น และเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ Anti-Aging Medicine World Congress ซึ่งเค้าก็พูดคล้ายๆ กับที่อาจารย์พูดนี่แหละว่า ความหิวจะกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วยยีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) และร่างกายก็จะผลิตโกรทฮอร์โมนออกมาในช่วงนั้นด้วย

กวางก็เลยลองกินมื้อเดียวแบบตั้งใจดู คือเซ็ตวันไว้เลยว่าวันนี้จะกินมื้อเดียวนะ พอจิตมันสั่งไปแล้ว มันรู้แน่แก่ใจแล้วว่าวันนี้มื้อเช้ากับเที่ยงอดแน่ กินเย็นทีเดียว เวลาที่หิวใจมันก็เลยไม่ทุรนทุราย ร่างกายก็ไม่ทรมานเพราะรู้ว่าเดี๋ยวตอนเย็นก็ได้กิน (แต่กินก็กินปกตินะ ไม่ใช่กินเอาคืนสามมื้อเลย) กลับกันถ้าวันไหนไม่ได้ตั้งใจจะอด วันนั้นจะหิวมาก แล้วก็ทุรนทุรายมากขึ้นไปอีกเพราะไม่ได้ตั้งใจอดเอาไว้ เลยรู้ว่า อ้อ ใจเราก็มีผลเยอะเหมือนกัน การทานมื้อเดียวก็เป็นการฝึกอย่างหนึ่ง คือฝึกใจให้มีอำนาจเหนือกาย แต่ถ้าตั้งใจจะอดแล้วอย่าเผลอกินละกัน เพราะไม่งั้นจิตจะอ่อนแอลงแล้วอีกหน่อยกายมันก็จะไม่เชื่อฟังจิต

เรื่องทานมื้อเดียวกวางก็ทำเรื่อยๆ ตามโอกาสอำนวย ส่วนใหญ่ก็จะเน้นกินเย็นเพราะงานกวางมาหนักร่างกายช่วงเย็น แล้วก็จะมีแบบอดทั้งวันเลย (Fasting) ทำเรื่อยๆ ทำเพื่อสุขภาพ เป็นการชำระล้างภายในร่างกายและให้ร่างกายดึงของเก่าออกมาใช้ให้หมด ใครสนใจเรื่องนี้ลองศึกษาเพิ่มเติมจากลิงค์ข้างล่างค่ะ

http://www.refinery29.com/2014/06/69237/fasting-immune-system?crlt.pid=camp.8Yr90eEXa69f

 

http://www.refinery29.com/2014/06/69237/fasting-immune-system?crlt.pid=camp.8Yr90eEXa69f

เลือกผักพื้นบ้านที่โตง่ายแม้ไม่ใส่ปุ๋ย

ผักผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่เกิดต่างที่กัน ดินคนละจุดกัน แร่ธาตุสารอาหารก็ย่อมแตกต่างกัน ผักอันไหนเกิดในที่ที่มีสารพิษตกค้างในดินเยอะ ผักชนิดนั้นก็มีสารพิษเยอะตามไปด้วย ผักชนิดไหนขึ้นง่ายในแถบนั้น ทนต่อโรคได้ดี งอกงามแข็งแรงตามธรรมชาติ แสดงว่าสามารถดูดซึมแร่ธาตุสารอาหารได้ดี กินเข้าไปเราก็ได้รับพลังชีวิตมากแล้วก็แข็งแรงตามไปด้วย แล้วจะรู้ได้ไงว่าผักไหนดี คือถ้าปลูกเองเก็บเองก็พอจะรู้อยู่ แต่สมัยนี้เราซื้อกันตามตลาด ถ้าโชคดีรู้จักชาวบ้านที่เค้าเก็บมาขายเองก็ดีไป โชคร้ายก็ซื้อผักมีสารพิษตกค้าง สารอาหารน้อยกันไป ม๊ากวางเคยบอกว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับบุญกรรมทำมา อย่าไปคิดอะไรมาก

พูดแล้วก็เลยไปเรื่องผักไฮโดรโปนิกส์ เรื่องนี้หลายคนตั้งคำถามว่าผักที่โตด้วยวิธีการแบบนี้มันมีสารอาหารเทียบเท่าผักที่โตในดินหรือเปล่า เท่าที่ลองศึกษาดูเรื่องนี้ตอบได้ยากพอสมควรเลยค่ะ เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพ ปุ๋ย สารอาหารที่เขาใช้เลี้ยงผัก หลายๆ การศึกษาพบว่าผักไฮโดรโปนิกส์ให้สารอาหารที่ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าผักที่โตในพื้นดิน แต่ก็มีการศึกษาที่มากพอๆ กันพบว่าผักที่โตในดินอุดมด้วยแร่ธาติมากกว่า การจะทดลองเปรียบเทียบแบบ 1:1 ชัดๆ นั้นทำได้ยาก เพราะธรรมชาติของผักที่โตในดินนั้นมีสารอินทรีย์ซึ่งมีกระบวนการทางธรรมชาติมากมาย

ทั้งนี้ผักที่โตในดินเองก็ใช่ว่าจะดีไปหมด ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกเช่นกัน ถ้ามันโตในดินที่ไร้คุณภาพและอยู่ใกล้แหล่งสารเคมีอย่างโรงงานหรือแหล่งทิ้งขยะแบบนี้ก็เสี่ยงอันตรายเหมือนกัน อย่างไรก็ดี การกินผักเยอะๆ ยังไงก็ดีต่อสุขภาพ ถ้ามีโอกาสก็พยายามเลือกผักที่เรารู้กระบวนการปลูกของมัน เช่นฟาร์มที่อยู่ใกล้บ้าน กวางเองชอบกินผักที่โตจากดินมากกว่า เพราะส่วนตัวกวางคิดว่ามีสารอาหารในดินหลายอย่างที่เราไม่สามารถสังเคราะห์หรือเลี้ยงได้ในปุ๋ยหรือสารสังเคราะห์ที่ใช้เลี้ยงผักไฮโดรโปนิกส์ค่ะ

หลีกเลี่ยงของทอด

อาจารย์แกว่าโปรตีนมันเปลี่ยนรูปไปแล้วกินไปมีแต่เป็นอันตรายกับร่างกาย เปรียบเทียบว่าถ้าเราเอาเตารีดมาแนบเนื้อเรา มันก็จะกลายพันธุ์ไปแล้วไม่ใช่เนื้อเหมือนเดิมแล้ว กินไปก็จะเป็นมะเร็งกัน เลิกได้ให้เลิกเลย

ดื่มไวน์วันละแก้ว

เรื่องเหล้าไวน์อาจารย์กวางกลับไม่ถือ ยิ่งไวน์แกบอกว่ากินได้วันละแก้วเนี่ยดีมาก มีสารแอนโทไซยานิน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ประมาณว่าทำให้ผิวสวย ช่วยชะลอความชรา แกว่าถ้ากินจนเมาเราก็แค่หลับ ไม่ได้ไปทะเลาะกับใคร หรือคิดร้ายทำไม่ดีกับใคร แล้วมันจะบาปตรงไหน (กรณีกินในบ้านนะคะ)

ความรู้เหล่านี้ที่เล่ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาอายุรเวทที่ได้เรียนตอนเป็นนักเรียนโยคาจารย์ อาจารย์เล่าว่า อายุร คือ การคงอยู่ การมีชีวิตอยู่ ดังนั้นอายุรเวทคือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เราควรใช้ชีวิตอย่างไร ทำเรื่องต่างๆ อย่างไร ตั้งแต่การกิน การนอน การอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ การดูแลตัวเอง ไล่ไปแทบทุกเรื่องเลยละค่ะ

ที่เล่ามานี้บางเรื่องมันก็ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์หรือองค์ความรู้แผนปัจจุบัน เลยน่าคิดเหมือนกันว่าอย่างไหนเป็นข้อเท็จจริง? ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากห้องแล็บตะวันตก หรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่กับธรรมชาติ สุดท้ายแล้วกวางว่าวิธีที่ดีที่สุดคือเรียนรู้จากทั้งสองฝั่งแล้วทดลองด้วยตัวเองแบบไม่สุดโต่งจนเกินไป ความรู้ทั้งสองแบบมีข้อดีและข้อเสีย หลายๆ เรื่องที่มองว่าภูมิปัญญาชาวบ้านล้าหลังก็ไม่จริงเสมอไป งานวิจัยก็ถูกล้มล้างด้วยงานวิจัยใหม่ๆ อยู่ตลอดเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการทดลองและพิจารณาด้วยตัวเอง สังเกตว่าอาหารแบบไหนเหมาะกับเรา มีผลยังไงกับเรา สุดท้ายแล้วใครจะรู้จักตัวเราดีเท่าตัวเองจริงไหมคะ


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *