กวางมีความเชื่อเรื่องนี้จริงจังมากว่าถ้าเราอยากที่จะพัฒนาตัวเอง ครูก็คือโค้ชของเราดังนั้นการเลือกเรียนกับครูคนใดคนหนึ่งจะกำหนดแนวทางการพัฒนาของเราพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่าศาสตร์โยคะมันไม่ใช่สายครีเอทีฟสร้างสรรค์ที่สร้างของใหม่ขึ้นมาเอง แต่เป็นองค์ความรู้ที่มีมานานแล้ว ดังนั้นการได้รับการถ่ายทอดในตัวศาสตร์ที่แท้จริงจึงสำคัญมาก การตามหาครูที่มีองค์ความรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งจึงสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคการสอน หรือเทคนิคการเข้าท่า แต่มันคือองค์ความรู้ พูดแบบนี้ไม่รู้จะงงกันรึเปล่าเนอะ
ส่วนตัวคิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดีมากที่ได้เจอครูแต่ละคนในช่วงเวลาที่เราเหมือนหลงทางหน่อยๆ แล้วครูแต่ละคนก็เข้ามาเพื่อเติมอะไรบางอย่างให้กับเราจริงๆ เคยคุยกับคนใกล้ตัวเค้าก็บอกว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนขวนขวายในเรื่องการตามหาครู (โดยที่เราไม่รู้ตัว) คือกวางไม่ได้นั่งรออยู่เฉยๆ ให้ครูโผล่มาเอง แต่การตามหานั้นมันถูกจังหวะ ถูกเวลา และเพราะเราเป็นคนเข้าใจจริตตัวเองพอสมควร อย่างน้อยก็จะรู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไร และสบายใจกับแบบไหน และเป็นคนไม่ตามกระแส ออกจะตั้งคำถามหน่อยๆ กับสิ่งที่เป็นกระแสหลักด้วยซ้ำ ซึ่งกวางว่านี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กวางได้เจอครูแต่ละคน เพราะทุกคนอยู่นอกกระแสแบบสุดๆ ไปเลย
ครูที่กวางเอามาเล่าเป็นครูที่กวางมีโอกาสได้เรียนด้วยทั้งในสายโยคะและไม่ใช่โยคะ ได้ใช้เวลากับครูนานๆ ได้รับฟังคำบอกคำสอน รับฟังเรื่องราวในชีวิตของครู รวมถึงทัศนคติของครูต่อเรื่องต่างๆ ทำให้กวางได้เปิดกะลาครอบทางด้านความคิดของตัวเองหลายต่อหลายครั้ง เลยอยากจะมาบันทึกเอาไว้ถึงครูที่กวางเคารพนับถือ เผื่อจะเป็นแนวทางให้คนอื่นได้ออกตามหาครูของตัวเองบ้าง
ครูคนแรก
กวางเรียกครูว่าอาจารย์สมญา (บอกชื่อได้เพราะครูเสียแล้ว) เป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น ตัวครูได้ทุนอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับทางด้านเกษตรเลยได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นหนึ่งปี และด้วยความที่เป็นคนขวนขวาย บวกกับมีวิธีคิดวิธีมองโลกไม่เหมือนใครทำให้ครูสามารถคิดค้นวิธีการศึกษาภาษาญี่ปุ่นได้แหวกแนว กวางมีโอกาสได้เรียนกับครูรวมแล้ว 45 วัน (ที่จำได้เพราะทุกวันที่ไปเรียนกับครู ครูจะมีชีทให้ปั๊มว่ามาเรียนวันที่เท่าไหร่บ้าง แล้วก็ให้เราปั๊มวันที่เอาไว้บนบทเรียนทุกอันด้วย ว่าเรื่องนี้เรียนไปเมื่อวันที่เท่าไหร่ ครูบอกจะได้เก็บเอาไว้ดู)
กวางเรียนกับครูแบบไพรเวทเพราะตอนนั้นมีเวลาไม่มากก่อนไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น เลยอยากได้พื้นฐานนิดหน่อยก่อนไป หนังสือมินนาโนะนิฮงโกะที่สอนพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นสี่เล่ม คนอื่นเค้าเรียนกันเป็นปี ครูสอนกวางจบภายในเดือนเดียว เพราะครูหยิบเอาแต่แก่นมาสอน แล้วตัวเนื้อหาที่เหลือครูก็หาวิธีอื่นมาเสริมให้ได้เรียนแบบหลากหลาย กวางคิดว่าครูคงมองว่าการเรียนภาษาช่วงเริ่มต้นมันก็เหมือนเด็กเล่นสนุก คือจับอะไรมันก็เป็นการเรียนรู้ไปหมด
อย่างเช่นครูให้เราฝึกพิมพ์ลงไปในคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการท่องจำตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น (อักษรญี่ปุ่นมีสามแบบ ฮิรากานะ คาตาคานะ และคันจิ) ให้หัดเปิดพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่นโดยการใช้รากคันจิเป็นตัวเริ่มต้นในการหา ให้หัดอ่านประโยคในพจนานุกรมเพื่อเรียนทั้งศัพท์และไวยากรณ์ไปพร้อมกัน ให้ท่องสูตรไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นที่ครูคิดขึ้นมาเอง หรือเปิดทีวีให้ลองหัดฟัง ครูจะเปลี่ยนวิธีการสอนไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นสมองเราไม่ให้มันล้า โดยยังคงแก่นซึ่งก็คือการเรียนภาษาญี่ปุ่นเอาไว้
ครูเป็นคนสอนให้เปิดใจกว้างๆ ในการสอน เพราะหนทางในการเดินไปไม่ได้มีทางเดียว ไม่ได้ต้องเรียนแบบที่คนอื่นเค้าเรียนกัน ไม่ได้ต้องเป็นขั้นเป็นตอนแบบที่คนอื่นเค้าทำกันมา มันจะเป็นอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ผลลัพย์มันออกมาดี พอโตมาเรื่อยๆ แล้วมองย้อนกลับไปถึงเข้าใจว่าคนแบบครูเค้าเรียกว่าอัจฉริยะ คือคิดไม่เหมือนชาวบ้าน เหมือนทำงานด้วยคลื่นความถี่คนละแบบ มองและคิดอะไรได้แปลกกว่าคนอื่น เลยสามารถคิดวิธีการสอนที่แปลกแต่ใช้ได้ผลออกมาได้
จริงๆ กวางคิดว่าวิธีการเรียนภาษาแบบนี้จะเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เพราะต้องทั้งอึด ถึก ทน เน้นว่าจะเรียนเพื่อให้ใช้งานได้ไวที่สุดจริงๆ เพราะมันไม่มีความเป๊ะอยู่ในนั้นเลย เราไม่ได้มานั่งหัดคัดตัวอักษรกันเป็นวันๆ หัดท่องฮิรากานะ คาตาคานะกันเป็นอาทิตย์ หรือหัดจำข้อยกเว้นของไวยากรณ์เอาไว้สอบให้ผ่าน แต่เน้นเรียนเพื่อให้พึ่งพาตัวเองให้ได้ไวที่สุด พึ่งพาตัวเองได้คือรู้ตัวอักษร ไวยากรณ์พื้นฐาน ศัพท์พื้นฐาน คันจิ วิธีการเปิดพจนานุกรม และการใช้งานขั้นพื้นฐาน พอเรียนผ่านจุดนี้ไปได้ก็ไม่ต้องมีครูมากแล้ว เพราะเราสามารถเรียนต่อเองได้ หาเติมเองได้
กวางเห็นหลายคนที่เรียนภาษาเรียนไม่ผ่านจุดนี้ ใช้เวลานานเกินไปในการผ่านจุดแรก ก็เลยกลายเป็นว่าไม่ผ่านสักที เรียนแล้วทิ้ง เรียนแล้วทิ้งอยู่อย่างนั้น ทั้งๆ ที่ภาษามันกว้างมาก มันมีอะไรให้ต้องเจออีกเยอะ แต่บางคนก็ยังย่ำอยู่กับการพยายามท่องศัพท์หรือท่องไวยากรณ์ซึ่งมันไม่ต้องเป๊ะมากก็ได้ แต่ก็นั่นแหละการเรียนภาษาก็เหมือนกับการเรียนทุกอย่าง คือแต่ละคนมีเป้าหมายการใช้งานที่แตกต่างกัน และเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราต้องการเรียนเพื่อเอาไปใช้งานลักษณะไหน ไม่งั้นจะเสียเวลามาก
มีหลายเทคนิคที่กวางจดเก็บเอาไว้เผื่ออนาคตได้กลับไปฟื้นภาษาแล้วเอาไปสอนต่อ อย่างเช่นการเปิดพจนานุกรมแบบเล่มโดยหาจากรากคันจิ เพราะเดี๋ยวนี้เค้าใช้พจนานุกรมในมือถือกันหมดแล้ว แต่จริงๆ ถ้ามีเวลาสักหน่อยการใช้พจนานุกรมแบบเล่มมีประโยชน์เยอะมากสำหรับคนเรียนขั้นต้น เพราะเราจะสร้างความเชื่อมโยงของศัพท์ในสมองได้ง่าย ทำให้จดจำศัพท์ได้ดีกว่า (ขนาดพจนานุกรมที่ปกติเป็นเล่มขนาดเล็กๆ ครูยังให้เอาไปก็อปปี้ทำเป็นหน้าคู่ เหตุเพราะว่ามันเปิดง่ายไม่เสียเวลา และทำให้มีที่จดเพิ่มขึ้น คือคิดละเอียดมาก) หรือการหัดท่องศัพท์ตัวที่มีรากคันจิคล้ายกันไปพร้อมๆ กันเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น หรือเทคนิคบางอย่างที่ช่วยให้จำตัวอักษรฮิรากานะและคาตาคานะได้ในชั่วโมงเดียว เทคนิคการใช้ปากกาสามสีในการจดสิ่งที่เรียนก็ได้จากครูคนนี้
หลายเทคนิคที่ครูประยุกต์เอามาสอน ทุกวันนี้ก็ยังทึ่งว่าครูก็คิดออกมาได้เนอะ เสียดายว่าตอนนั้นเด็กมากเลยไม่เห็นคุณค่าของช่วงเวลาที่ได้เรียนกับครู ไม่งั้นคงจะตั้งใจมากกว่านี้ และคงเก็บอะไรได้เยอะกว่านี้ พอจะสำนึกขึ้นมาได้ครูก็ไม่อยู่ให้ไปขโมยวิชาแล้ว ทุกวันนี้ชีททุกอย่างก็ยังคงเก็บเอาไว้ เพราะเป็นไบเบิลเผื่อใช้ฟื้นภาษา เพราะทุกวันนี้ทิ้งภาษาญี่ปุ่นมาห้าปีแล้ว เหลือแค่คุยดุ๋มๆ ดำ๋ๆ เวลาไปเที่ยวและเวลาคุยกับเพื่อน ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ที่เรียนมาด้วยกันตอนนี้เค้าไปไกลลิบจนอ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นกันคล่องปรื้ด เราก็ได้แต่นั่งถอนใจเพราะเอาเวลาไปให้โยคะซะหมด ฮาาาา
ครูคนที่สอง
กวางเรียกท่านว่าอาจารย์ เป็นอาจารย์สอนโยคะของกวางเอง เป็นบรมครูของครูที่กวางนับถืออีกหลายๆ คน ทั้งชีวิตกวางมีอาจารย์โยคะคนเดียว แต่มีครูโยคะหลายคน ไม่สับสนเนอะ
การได้เจอกับอาจารย์เปลี่ยนชีวิตและมุมมองกวางเยอะมาก กวางเจออาจารย์ครั้งแรกในคลาสสอนโยคาจารย์ (คลาสสำหรับคนจะเป็นครูสอนโยคะ) ของที่ศูนย์หฐราชาโยคาศรม ทั้งๆ ที่กวางเรียนโยคะที่นั่นมาก่อนระยะนึงแล้วแต่ก็ไม่เคยเจออาจารย์ เพราะท่านไม่สอนในตารางปกติของศูนย์โยคะเลย จะสอนก็แต่คลาสพิเศษและคลาสโยคาจารย์เท่านั้น
อาจารย์จบหมอจากยุโรปและได้มีโอกาสไปศึกษาเกี่ยวกับโยคะที่อินเดียรวมแล้ว 15 ปี ประวัติของอาจารย์อ่านเอาในนี้ค่ะ https://htrjyoga.wordpress.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD-%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%97/ จริงๆ ประวัติอาจารย์จริงๆ ค่อนข้างโลดโผน แต่อาจารย์ถือเรื่องความเป็นส่วนตัว ลูกศิษย์อาจารย์เลยไม่มีใครได้เล่านอกเหนือจากที่เขียนไว้ในนี้สักคน (กวางเองก็ไม่กล้าเล่า ฮาาา) ไว้ใครได้มีโอกาสมาเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันจะเล่าให้ฟังนะคะ
ด้วยความที่อาจารย์ได้บวชเรียนอยู่ในอาชราม (วัดฮินดู) ในอินเดียมานาน ความรู้ของท่านก็จะค่อนข้างลึกซึ้งไม่ใช่แค่ในเรื่องของศาสตร์โยคะแบบที่พวกเราเรียนกัน แต่รวมไปถึงพวกปรัชญาโยคะ ซึ่งทุกวันนี้ท่านก็ยังบินกลับไปเรียนกับครูบาอาจารย์ที่ทิเบตบ้างอินเดียบ้างเกือบทุกสิ้นปี แม้ท่านจะบ่นว่าของบางอย่างก็ไม่รู้จะเรียนเอาไปทำอะไรเพราะสอนใครก็ไม่ได้ ฮาาา แต่อาจารย์เองก็มีการศึกษาของอาจารย์ที่ต้องไปต่อไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าจะสิ้นชีวิต ซึ่งก็เป็นต้นแบบทางการศึกษาให้กวางเหมือนกัน
ในฐานะครูการเรียนการสอนของอาจารย์จะเป็นรูปแบบโบราณคือ ไม่ใช่การสอนแค่วิชาโยคะอย่างที่เราเข้าใจกัน นอกจากวิชาเกี่ยวกับโยคะทั้งปรัชญา เนื้อหา และการสอนแล้ว สิ่งที่อาจารย์สอนคือ วิชาว่าด้วยการดำรงชีวิตหรืออายุรเวท มันเป็นทั้งการรู้จักที่มาที่ไปของตัวเอง (ในเชิงปรัชญาและความเชื่อ) การรู้ว่าจะกิน นอน ใช้ชีวิตอย่างไร ความรู้ความเข้าใจในเชิงแพทย์ที่เกี่ยวกับชีวิตของเราทั้งหมด เรื่องเล่าทั้งปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ ความรู้รอบตัว แนวคิดทัศนคติ และประสบการณ์ต่างๆ ที่อาจารย์สั่งสมมาตลอดชีวิต อาจารย์ก็เอามาเล่าให้เราฟังตลอดเวลาหลายปีที่เรียนกับท่าน
กวางค้นพบว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้กวางได้ความรู้ค่อนข้างหลากหลาย คือ การได้อยู่ ได้พูดคุยกับครูบาอาจารย์จริงๆ ได้ถาม ได้ฟังความคิด ความรู้และประสบการณ์ของเค้าโดยตรง มันทำให้เราได้เปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาไม่ค่อยได้ในการเรียนสมัยใหม่ เพราะคงจะมีน้อยคนมากที่จะให้เวลาครูอาจารย์ได้เล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง และก็คงมีครูน้อยคนที่มีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะเล่าเรื่องน่าสนใจให้เราฟังได้ บางทีก็เป็นเรื่องของโอกาสและจังหวะเหมือนกันค่ะ
ความรู้ที่อาจารย์เล่า หลายๆ อย่างก็ไม่ใช่ความรู้ที่ขมวดเอาไปใช้ได้เลยทันที แต่เป็นเหมือนตัวจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของเรา ให้ไปค้นคว้าศึกษาต่อยอดเอาเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจพอและนำไปค้นคว้าต่อ
แต่อาจารย์เคยพูดประโยคนึงว่าหน้าที่ของท่านคือการเตรียมเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้พวกเรา เมล็ดพันธุ์นี้มีความรู้หลากหลาย แล้วเราก็มีหน้าที่รดน้ำพรวนดินเพื่อให้เมล็ดพันธุ์นั้นงอกเงยต่อไป ตลอดช่วงเวลาที่เรียนกับอาจารย์มา ท่านหว่านความรู้ไว้ให้เยอะมากจริงๆ เหมือนชี้เส้นทางในการศึกษาเอาไว้ให้ แล้วพอถึงเวลาที่เราพร้อม เราก็ออกเดินไปบนทางนั้นได้เองจริงๆ และหากมีเรื่องไหนที่เราสงสัยไม่มั่นใจ พอหันไปหาอาจารย์ ท่านมีคำตอบให้เราเสมอ นั่นคือสิ่งที่กวางรู้สึกจากการเรียนกับอาจารย์
สิ่งที่พิเศษอีกอย่างของอาจารย์คือท่านมีเมตตาสูงมาก ไม่ว่าลูกศิษย์จะถามคำถามไร้สาระขนาดไหน หรือแสดงกิริยาไม่เหมาะสมยังไง อาจารย์ไม่เคยแสดงอาการโกรธให้เห็นเลย มีแต่คอยบอกคอยสอน มากสุดก็จะแค่จิกแบบคนอารมณ์ดี หลายๆ ครั้งที่ลูกศิษย์มีปัญหาไปปรึกษาท่าน ท่านก็จะคอยรับฟังและคอยให้สติ ขัดเราบ้างถ้าเราเริ่มคิดอะไรผิดๆ และช่วยแก้ใหม่ให้ถูกต้องชัดเจนมากขึ้น ท่านเป็นอาจารย์สอนโยคะที่เป็นได้ทั้งหมดอย่างที่ท่านเคยบอกว่าครูโยคะควรจะเป็นให้ได้ คือเป็นทั้งหมอ พยาบาล นักบวช ครู อาจารย์ เพื่อน พี่ น้อง ญาติ ครอบครัว และจิตแพทย์ (อันหลังนี่กวางเติมให้เอง ฮาาา)
อาจารย์ไม่เคยมานั่งท่องปรัชญาให้เราฟัง หรือให้เราเรียนปรัชญาอะไรมากมาย แต่การใช้ชีวิตของท่านสอนปรัชญาในการดำรงชีวิตให้กับเราได้ดีที่สุด เป็นครูที่อยู่เหนือครูทุกคนในชีวิตกวาง และคงหาคนแทนได้ยากเพราะพิเศษพิศดารไม่เหมือนใครจริงๆ และทั้งๆ ที่อาจารย์เป็นคนที่เรียกได้ว่าอินดี้แลดูไม่มีวินัย แต่ท่านกลับเป็นคนที่สอนให้กวางมีวินัยได้มากที่สุดเพราะไม่เคยอยากพลาดโอกาสที่จะได้เรียนกับอาจารย์เลยสักครั้ง เพราะรู้ดีว่าทุกวันนี้ที่ได้เรียนกับท่านเหมือนกำลังนับถอยหลัง ไม่รู้เลยว่าอาจารย์จะเลิกสอนขึ้นมาวันไหน ด้วยวัยและปัจจัยต่างๆ ของท่านทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
ส่วนเนื้อหาความรู้ที่ได้เรียนจากอาจารย์ ก็คือเกือบทุกอย่างที่อยู่ในเพจเฟซบุ๊ค ใน Medium และใน Youtube เพราะท่านเป็นครูที่กวางเรียนด้วยมานานที่สุด และความรู้เกือบทั้งหมดที่มีตอนนี้ก็คือได้มาจากท่านค่ะ
ครูคนที่สาม
ช่วงประมาณต้นปีที่ผ่านมากวางเริ่มคิดจริงจังว่าสิ่งหนึ่งที่เราขาดในวิถีครูโยคะของเราคือ ช่วงเวลาของการฝึกเอง กวางว่าเป็นปัญหาของครูหลายคนที่เอาเวลาไปสอนหมด พอสอนเยอะก็เหนื่อยไม่อยากซ้อมแล้ว พอซ้อมก็เอาง่ายเข้าว่าคือไปฝึกกับคนอื่นแทน แต่ยังไงการไปเรียนกับคนอื่นก็ไม่เหมือนการฝึกซ้อมด้วยตัวเอง ซึ่งตลอดหลายปีที่กวางสอนมาก็ยังงูๆ ปลาๆ กับการฝึกเองพอสมควร คือมันไม่แน่นพอ ปีนี้เลยตั้งใจว่าอย่างไรก็ตามจะสร้างนิสัยการฝึกเองให้จงได้
ทีนี้ปัญหามันมีอยู่ว่า ตอนที่สอนเราสอนรูปแบบเน้นวินยาสะซึ่งมันใช้สมองค่อนข้างเยอะ เพราะท่ามันหลากหลาย ทีนี้เวลามาฝึกเองมันขี้เกียจจะคิดแล้ว! แล้วกวางก็อยากได้ซีรีส์ท่าที่เหมาะกับร่างกายและสามารถต่อยอดในการฝึกของตัวเองได้ เลยเริ่มมองหาสายอาชทังก้า
เมื่อก่อนจริงๆ ไม่ชอบสายนี้เลย โอ๊ย สายอะไรเคร่งจัง ต้องตื่นมาซ้อมเช้าทุกวัน หยุดพักได้อาทิตย์ละหนึ่งวัน ต้องหายใจแบบอุจจายี ต้องเล่นท่าเดิมซ้ำๆ จนกว่าจะทำได้ถึงจะข้ามไปท่าต่อไปได้ โอ๊ย โหด น่าเบื่อ 555 คือเมื่อก่อนเข้าใจยังงี้จริงๆ
จนวันนึงที่ โอย สอนจนไม่เหลือสมองให้คิดละ อยากทำอย่างเดียวมั่ง (เข้าใจคนที่ต้องคอยนำคนอื่นฝึกตลอดมั้ยคะ บางทีเราก็อยากจะตามบ้างนะ 55) เลยเริ่มมองหาครูสายอาชทังก้า ก็หาหลายที่เลย ดูราคา ดูแนวคิด (ดูได้จากเพจของสตูนั่นแหละ) แล้วก็เสี่ยงเข้าไปเรียนดู ปรากฎว่าไปคลาสแรก โห ไม่น่าเชื่อ ชอบแฮะ 555 คือผิดคาดจริงๆ ผิดคาดแบบมโหฬาร นี่เราไปเอาความคิดผิดๆ นั่นมาจากไหน
เพิ่งทำให้เข้าใจจริงๆ ว่าในสายของโยคะทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นหฐ (อ่านว่า หะ – ฐะ) พาวเวอร์ วินยาสะ หรืออาชทังก้า ล้วนมีครูที่ถูกจริตและไม่ถูกจริตกับเราอยู่ หน้าที่เราก็คือรู้จักจริตตัวเอง และตามหาครูคนนั้นให้เจอ
ครูของกวางในสายตาคนอื่นอาจจะมองยังไงกวางไม่ได้สนใจ แต่ในสายตาเราคือใช่สำหรับเรา คลาสแรกที่ไปพอครูรู้ว่ากวางเป็นครูก็โดนสอนเลยว่า การเป็นครูต้องไม่เอาเปรียบนักเรียนนะ อย่าคิดเอาแต่ได้ ให้ดูความเหมาะสมด้วย เพราะเราเกิดมาชาตินี้เรามาเพื่อต่อบุญของเราไม่ใช่มาสร้างกรรมเพิ่ม ปรับทัศนคติกันตั้งแต่วันแรก 555
ครูสอนให้เข้าใจว่าอาชทังก้าคืออยู่กับลมหายใจและเคลื่อนไหวจริงๆ เพราะเราต้องนับลมหายใจของเราเองตลอดการฝึก มันจึงเป็นโยคะรูปแบบที่ฝึกสมาธิมาก
ครูสอนให้หายใจเบาๆ ซึ่งกวางชอบมาก ส่วนตัวคือไม่เข้าใจอยู่แล้วว่าทำไมต้องหายใจแบบอุจจายีด้วย คนบอกก็บอกแค่ว่ามันทำให้ร่างกายอบอุ่นไวขึ้น แล้วถามเราบ้างมั้ยว่าเราอยากให้ตัวอุ่นรึเปล่า แล้วสำหรับกวางลมหายใจแบบมีเสียงมันฝืนธรรมชาติไปหน่อย ส่วนตัวไม่ชอบและไม่นำพา ดังนั้นพอเจอครูที่ไม่ยึดกับกรอบที่คนเค้าทำกันมาเพียงเพราะใครๆ ก็ทำกัน เลยถูกจริตกวางมาก
ครูสอนให้รู้ว่า อ้าว อาชทังก้าก็ไม่หนักจนเกินไปนี่นา ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องทำ jump back/ jump through (กระโดดไปหน้า/ กระโดดมาหลัง) ได้ถึงจะฝึกสายนี้ได้ แต่ถึงจะบอกว่าอาชทังก้าไม่หนักเกินไป แต่กวางเองพอฝึกแล้วก็มีอาการหน้ามืดเกือบทุกครั้งที่ฝึกเหมือนกัน 555 ก็ให้เวลาตัวเองในการปรับตัวสักสามเดือน หลังๆ ก็หน้ามืดน้อยลง
ครูไม่ได้บอกว่าเราต้องฝึกหกวันแล้วพักหนึ่งวัน ครูเล่าว่าตัวครูเองเวลาไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวก็ไม่ได้บ้าบอลุกขึ้นมาฝึก ครูสอนให้เราอย่าอยู่แต่ในฟองสบู่ของโลกโยคะ หัดใช้ชีวิตด้านอื่นบ้าง ครูเป็นคนเข้มงวดและมีเมตตา จนทำให้กวางรู้สึกว่าตัวเองโชคดีจังที่ชีวิตเจอแต่ครูดีๆ
ความเชื่อผิดๆ ที่กวางอ่านมาจากอินเตอร์เน็ตครูก็ตีเสียหมดเลย ทำให้เข้าใจว่า อ้อ เสพย์สื่อผิดๆ มันเป็นแบบนี้เอง ปีนี้ก็เลยเป็นปีแห่งการเรียน การสอนและการฝึกเพิ่มอีกหนึ่งปีของกวาง คนรอบข้างก็ถามจนเบื่อว่าเมื่อไหร่จะเลิกเรียน เรียนอะไรเยอะแยะ คนที่ถามส่วนใหญ่มักไม่สนิท ส่วนคนสนิททุกวันนี้เข้าใจหมดแล้วและเลิกถามเรียบร้อย คนเราถ้าเก่งเองได้โดยไม่ต้องมีครูก็คงเป็นอัจฉริยะซิเนอะ แล้วเพราะกวางเองอยากที่จะพัฒนาตัวเอง แล้วเราจะทำยังไงได้ถ้าเราไม่ร่ำเรียนจากครูที่เก่งกว่าเรา ฝึกปฏิบัติธรรมยังต้องมีครูบาอาจารย์เลย
สุดท้ายคุณสมบัติหนึ่งที่กวางพบในตัวครูทุกคนที่มีเหมือนกันคือ เป็นคนฉลาดที่มีหลักการในการใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่ได้ต้องเหมือนใครเลย แต่ทุกคนเจอทางของตัวเองและสื่อสิ่งนั้นออกมาได้ชัดเจนมาก และที่สำคัญคือทุกคนมีเมตตาสูง ทุกครั้งที่ครูดุ เรายังดูออกเลยว่าจริงๆ แล้วครูเมตตาเราอยู่ ไม่ได้ดุเพราะอารมณ์ของตัวเอง แต่ดุเพราะอยากให้ลูกศิษย์ได้ดีจริงๆ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้กวางเองก็ยังไม่ค่อยมีเหมือนกัน ฮาๆๆ ก็อาศัยดูครูดีๆ เป็นตัวอย่างและพัฒนาตัวเองต่อไปทั้งในสายอาชีพและในความเป็นมนุษย์ของเรา ชีวิตคือการพัฒนาจริงๆ นะ
ปล. ครูแต่ละคนก็เจอด้วยวิธีแปลกๆ คนแรกพี่ที่รู้จักแนะนำมา คนที่สองเพื่อนสนิทสองคนแนะนำให้มาเรียนโยคะที่นี่ทั้งคู่ จนได้มาเป็นลูกศิษย์อาจารย์ ครูคนสุดท้ายแหวกสุดเจอจากการนั่งเล่นยูทูปอยู่ แล้วมีคนสัมภาษณ์ครูเรื่องอะไรสักอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโยคะ แต่พอเห็นว่าครูสอนโยคะด้วยเลยไปเสิร์ชดู จนสุดท้ายได้ไปเรียนกับครู
ยังไงเรื่องครูถึงกวางแนะนำไปก็อาจจะไม่ใช่ครูที่เหมาะกับคนที่ถามก็ได้ ก็เลยเขียนให้ลองอ่านและพิจารณากันดู ก็หวังว่าทุกคนจะหาครูของตัวเองเจอ เพราะคนเราจะดีได้ ยังไงก็ต้องมีครู
ใส่ความเห็น