กว่าจะมาเป็นพอดีพอโยคะ 1 วิดิโอ

ข้อควรระวัง: ยาวมากโปรดเตรียมใจ

ไม่รู้ใครเคยเป็นมั้ยเวลานั่งย้อนกลับไปดูงานที่ตัวเองทำเสร็จแล้วจะรู้สึกแปลกกับงานของตัวเอง รู้สึกว่านี่งานเราเหรอ เหมือนนั่นไม่ใช่ตัวเราจริงๆ ยิ่งช่วงไหนว่างเว้นจากการทำวิดิโอหรือการเขียนบทความไปนานๆ พอย้อนกลับไปดู/ อ่านงานตัวเองอีกครั้งแล้วยิ่งรู้สึกห่างไกล ไม่อยากจะเชื่อว่าเราทำแบบนั้นได้ด้วย

กวางเคยอ่านเจอว่าที่มันเป็นแบบนี้เพราะงานหนึ่งชิ้นมันไม่ใช่ตัวเราหรอก แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกระบวนการ มันถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย มันคือ process of work คือเป็นการสะสมรวมกันของกระบวนการทำงานหลายๆ อย่างประกอบออกมาเป็นงานชิ้นหนึ่ง

วันนี้กวางก็เลยอยากลองเขียนถึงกระบวนการที่ว่าในการที่จะออกมาเป็นวิดิโอสักหนึ่งตัวของตัวเอง เผื่อจะเป็นแนวทางให้คนอื่นๆ ได้ลองเอาไปปรับใช้ได้บ้างค่ะ

ขอออกตัวก่อนว่ากวางเองเป็นคนไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และมีความรู้ด้านนี้ค่อนข้างจำกัด รวมถึงไม่ได้ทำคลิปออกมาหลากหลายมากนัก ทำแต่แนวสอนโยคะก็เลยจะขอเล่าเท่าที่เล่าได้นะคะ

วิธีคิดซีรีส์โยคะ

กวางจะมีลำดับขั้นตอนในการเริ่มคิดวิดิโอทุกครั้ง แรกๆ มันก็ยังวกไปวนมา แต่พอเราทำบ่อยๆ เข้ามันก็เริ่มมีแพตเทิร์นที่ชัดเจนมากขึ้นค่ะ

1. เวลา — ในที่นี้หมายถึงเราตั้งใจจะทำคลาสยาว หรือคลาสสั้น โดยนิสัยของคนในโลกโซเชียลแล้วต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่สั้นๆ เสพได้ไวเพราะคนไม่ค่อยมีสมาธิในการจดจ่อกับอะไรนานๆ ดังนั้นวิดิโอสั้นมักจะขายดีกว่าวิดิโอยาว

แต่เนื่องจากเราเป็นวิดิโอสอนโยคะไม่ใช่วิดิโอแนวเอ็นเตอร์เทนเม้น และโยคะก็ไม่เหมือนการออกกำลังกายพวกเวทเทรนนิ่งหรือ HIIT ที่จะใช้เวลาแค่สั้นๆ ในการเบิร์นหรือผอมเฉพาะส่วน เพราะโยคะเน้นการค้างท่าเพื่อยืด หรือเป็นการสร้างกล้ามเนื้อแบบ Static (ค้างนิ่ง) ที่ได้ทั้งความแข็งแรงยืดหยุ่นและได้สมาธิ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของเราจะคนละกลุ่มกันตั้งแต่แรก วิดิโอเราเลยอาจจะต้องยาวกว่าเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่า

วิดิโอสั้นทำง่ายกว่าและได้เงินค่าโฆษณาจริง (ในยูทูปนะคะ) แต่ถ้าระยะยาววิดิโอนั้นไม่สร้างประโยชน์คนก็ไม่กลับมาดูซ้ำ ส่วนตัวเลยเลือกอยู่กลางๆ คลิปสั้นก็ไม่สั้นเกินไป 10–20 นาที นานๆ ทีก็ทำคลิปยาวที 30–45 นาที

เพราะอย่าลืมว่าคำแนะนำเรื่องระยะเวลาในการออกกำลังกายระดับสากล (อ้างอิงจาก Harvard Medical School) คือควรออกกำลังกายความหนักปานกลางขั้นต่ำ 30 นาทีต่อเนื่องกัน และถ้าเป็นการออกกำลังกายหนักควรทำ 15 นาทีต่อเนื่องกันจึงจะส่งผลดีกับการสร้างความแข็งแรงหัวใจ กระตุ้นการเผาผลาญ และดีต่อการสร้างเสริมสุขภาพในระยะยาว ดังนั้นสั้นกว่าไม่ได้แปลว่าดีกว่าเสมอไปค่ะ

2. ชื่อคลาส — เป็นอย่างถัดมาที่คิด บางคนอาจจะคิดท่าก่อนแล้วค่อยหาชื่อมาใส่ให้ลงตัว แต่ส่วนตัวกวางชอบเริ่มจากชื่อก่อน เพราะชื่อจะเป็นตัวกำหนดท่าและมู้ดของคลาส ทำให้รู้ว่าจะใส่เพลงมั้ย จะเอาเพลงเปิดปิดคลิปอารมณ์ไหน และถ้าเผื่อเราอยากพูดอะไรเสริมเราก็จะได้รู้ว่าจะเน้นพูดไปในทิศทางไหนให้ตรงกับชื่อวิดิโอของเรา

3. ท่า & ประโยชน์ของท่า — พอได้ชื่อแล้วเราก็จะมีการคัดกรองท่าในหัว โดยยึดจากประโยชน์ของท่าเหล่านั้นเป็นหลัก ซึ่งต้องตอบโจทย์กับชื่อวิดิโอที่เราคิด ให้ผลหรือให้ความรู้สึกบางอย่างที่สอดคล้องกับชื่อที่เราตั้งไว้ตอนแรก แล้วเราก็เอาท่าที่เราเลือกมาเรียบเรียงให้มันเชื่อมกันได้ราบรื่นมากที่สุด ไม่ให้กระโดดไปมาเดี๋ยวก็นั่งเดี๋ยวก็ยืน

เวลากวางคิดท่าพวกนี้ กวางจะชอบคิดว่าถ้าอาจารย์กวางมาเห็นอาจารย์จะว่ายังไง คือเราดัดแปลงบ้างตามยุคสมัย แต่ไม่มากเกินไปจนเสียของดั้งเดิม เพราะโยคะดั้งเดิมเค้าก็คิดและปรับกันมาเป็นพันปี ประโยชน์มันครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวแล้ว ทำยังไงที่เราจะยังคงประโยชน์นั้นไว้โดยที่ก็สามารถเข้าถึงคนใหม่ๆ ได้ด้วย

4. หาคำพูดเสริม — ดึงประโยชน์ของสิ่งที่เราสอนออกมา แล้วขยายให้คนเห็นสิ่งนั้นให้ชัดขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องทดลองกันดูว่ามากน้อยแค่ไหนที่ควรพูด โลกโซเชียลเอาใจยากจริงๆ ค่ะ พูดมากโดนด่า พูดน้อยเสี่ยงกับการทำบาปถ้าเค้าทำผิดท่าหรือถ้าไปสร้างความเข้าใจอะไรผิดๆ ให้เค้า กวางยังถือว่าโดนคอมเม้นนิสัยไม่ดีไม่ค่อยมาก แรกๆ ก็ไม่ชอบเลย แต่หลังๆ เลิกสนใจแล้ว ถ้าไม่ใช่การติเพื่อก่อก็ไม่ใส่ใจเลยค่ะ ไม่ว่าจะมาแนวไหนก็ตาม

5. ตอบคอมเม้นบ้าง — กลุ่มที่มีความเข้าใจแบบผิดๆ จะโผล่มาทางคอมเม้น ส่วนตัวกวางอ่านคอมเม้นเกือบทุกอัน แต่ไม่สามารถตอบได้หมด แต่กลุ่มที่จะรีบตอบทันทีคือกลุ่มที่เริ่มถามอะไรแปลกๆ เช่น เป็นกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเล่นท่าไหนดีคะ? (เดี๋ยวค่ะหานักกายภาพก่อนนะคะ) กระดูกคอเสื่อมทำคลิปนี้ได้มั้ยคะ? (ทำได้แต่ห้ามก้มนะคะ เสื่อมระยะไหนคะ หานักกายภาพรึยังคะ หมอแนะนำว่ายังไงบ้าง) หลังอักเสบออกกำลังกายยังไงดีคะ? (พักให้หายก่อนค่ะคุณพี่)

บอกเลยว่าชีวิตครูโยคะควรมีนักกายภาพที่ดีเป็นเพื่อนสักคน แล้วชีวิตจะดีขึ้นมาก คำถามพวกนี้ไม่ว่าอย่างไรเราควรมีความรู้และให้คำแนะนำได้ระดับนึง ไม่ได้ต้องรู้เท่านักกายภาพแต่ก็ควรรู้ว่าจุดไหนที่เราควรส่งเคสต่อให้ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่า แนะนำสิ่งที่ดีสำหรับเค้าคิดแค่นี้มันก็จะดีเอง

อาจารย์กวางที่เป็นหมอท่านสอนเสมอว่าอย่าพูดจาเกินจริง ให้เลือกใช้คำพูดให้ดี (ท่านี้ช่วยลดภาวะการเกิดซีสต์ในทรวงอก กับท่านี้ทำให้ไม่เกิดซีสต์ในทรวงอก – มันก็ต่างกันละนะ) อย่าอ้างว่าโยคะรักษานู่นนี่ได้เพราะโยคะไม่ใช่ยารักษาโรค ถ้าไม่รู้บอกไม่รู้แล้วไปหาความรู้เพิ่ม ถ้ามันเป็นท่าของกายภาพบำบัดก็ไม่ต้องทู่ซี้บอกว่ามันเป็นท่าโยคะเพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด เราทุกคนทำหน้าที่คนละส่วนกันดังนั้นควรแยกให้ชัดเจนให้มากที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้คนสับสน

ทุกวันนี้ก็ยังมีคอมเม้นแปลกๆ มาทุกวันก็ได้ความรู้ดีว่าเออ คนเค้าคิดแบบนี้กันเนอะ บางทีก็ยืนงงในดงคอมเม้นอยู่บ่อยๆ ค่ะ

วิธีเตรียมอุปกรณ์

กวางแนะนำว่าควรเริ่มจากอุปกรณ์ง่ายๆ ราคาไม่แพงก่อน ใช้ให้คล่อง แล้วถ้าขาดเหลืออะไรที่อุปกรณ์เดิมไปต่อไม่ได้แล้วจริงๆ ค่อยเปลี่ยน เพราะมันจะทำให้เราเห็นคุณค่าของฟังก์ชันที่เพิ่มขึ้นและเราจะใช้งานมันได้เต็มประสิทธิภาพจริงๆ

1. กล้องมือถือ – กวางเริ่มถ่ายคลิปแรกจากกล้องไอโฟนของตัวเอง แต่ซื้อแอพพลิเคชั่นที่สามารถปรับขนาดไฟล์ของวิดิโอได้ชื่อ Filmic Pro มาใช้ แล้วเวลาถ่ายวิดิโอก็ถ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นตัวนี้ ราคาไม่แพงและใช้งานง่าย จริงๆ อาจจะมีแอพที่ดีกว่านี้อยู่ ใครมีอะไรดีๆ ก็แนะนำกันได้เสมอค่ะ

2. ภาพ — เมื่อเร็วๆ นี้กวางไปดูวิดิโอที่ถ่ายผ่าน Iphone 11 ของแฟนเป็นครั้งแรก ตกใจมากพูดเลย พอเอาภาพมาเทียบกับของกวางที่ถ่ายด้วย Iphone 6 ความคมชัดแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ทำไมมันชัดจัง ตกใจจริงๆ ค่ะ วันนั้นคือวันที่ตัดสินใจจ่ายเงินซื้อ Iphone 11 แบบไม่ลังเล ปล่อยให้ทุกคนดูภาพไม่ชัดมาตั้งนานต้องขอโทษด้วยนะคะที่ที่ผ่านมากวางงกเกินไป ภาพชัดขึ้นแล้วเนอะคะ

3. ขาตั้ง — กวางใช้ขาตั้งกล้องอันละสองสามร้อยบาทสำหรับตั้งกล้องมือถือ ผ่านมาสามปีทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ มีอีกอันนึงเอาไว้สำหรับตั้งกล้องใหญ่ก็ราคาหลักร้อยเหมือนกันค่ะ แต่เร็วๆ นี้คิดว่าจะอัพเกรดซื้อของดีสักที เพราะตัวที่ดีจะสามารถตั้งกล้องให้ตรงได้เป็นมาตรฐานมากกว่า ของกวางทุกวันนี้ต้องหาอะไรมายัดใต้ฐานเพราะฐานมันเอียงๆ ไม่ได้ติดขัดอะไรมาก แต่ถ้าซื้อของดีแบบเจ็บแต่จบก็คิดว่าน่าลงทุนค่ะ

4. กล้องใหญ่ — ก่อนนี้กวางใช้กล้องใหญ่ในการถ่ายวิดิโอบ้าง เพราะให้ภาพที่ชัดและเนียนกว่า แต่ข้อเสียคือพอกล้องมันร้อนหรือแบตหมดมันก็จะตัดดับไปเอง ราวๆ 15–20 นาทีซึ่งกวางจะไม่รู้เลยว่ามันตัดไปตั้งแต่ตรงช่วงไหน ต้องรอกล้องหายร้อน เปลี่ยนแบตก้อนใหม่ มาเปิดดูแล้วก็อัดซ้ำในส่วนที่หายไป ซึ่งเสียเวลามาก สุดท้ายเลยใช้กล้องมือถือถ่ายเป็นหลักค่ะ แต่ถ้าเป็นวิดิโอที่อัดขายก็จะใช้กล้องใหญ่ถ่ายในบางส่วนค่ะ เพราะภาพจะสวยกว่ามาก หน้านี่เนียนเชียว

5. เสียง — ไมค์เป็นสิ่งที่ควรลงทุนมาก ควรลงทุนก่อนกล้องอีกค่ะ เพราะเสียงคือสำคัญที่สุดแล้ว ภาพไม่ชัดแต่เสียงชัดยังพอดูได้ แต่ถ้าเสียงเบา เสียงไม่ชัด เสียงแทรกเยอะ คนปิดคลิปหนีแน่นอน กวางใช้ไมค์ของ Rode SmartLav+ คู่กับเครื่องอัดเสียง Zoom H1 แบบเสียบไว้ข้างกางเกง ตอนถ่ายก็จะได้ไฟล์เสียงกับไฟล์วิดิโอแยกกันต้องเอามาตัดต่อรวมไฟล์ในคอมทีหลัง

ตอนหลังตัดสินใจลงทุนมากขึ้นเพราะคิดว่าถึงเวลาแล้ว คือเราใช้ตัวเก่าจนเห็นข้อจำกัดของมันหมดแล้ว และถ้าตัวใหม่จะช่วยเปิดทางให้ไปต่อในจุดที่ติดขัดได้ก็ซื้อค่ะ อีกอย่างที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนคือพออุปกรณ์มันใช้งานยากเราเริ่มมีข้ออ้างและแรงเฉื่อยในการทำงาน

เมื่อเร็วๆ นี้เลยไปจัด Rode Wireless Go มาใช้ก็ทำงานไวขึ้น ตอนถ่ายเสร็จมันจะออกมาเป็นไฟล์เดียวคือมีทั้งภาพและเสียงคู่กันมาเลยค่ะ

ทั้งนี้เรื่องอุปกรณ์มันมีเทคนิคยิบย่อยอีกเยอะมาก กวางเจอมาสารพัดเลยค่ะ ตั้งแต่เสียบสายผิดช่องทำให้เสียงไม่เข้าเครื่องอัด ลืมกดปุ่มอัดตอนถ่าย ไมค์อยู่ใกล้เสื้อมากไปทำให้มันเสียดสีกันแล้วเกิดเสียงแทรกเยอะจนต้องทิ้งและอัดใหม่ เสียงวิทยุจากสถานีช่องห้าแทรกเข้ามาในไฟล์เสียงเรา (ได้ยังไงวะ?) ตั้งค่าอัดผิดทำให้เครื่องอัดรับเสียงแทรกมากไป ฯลฯ สารพัดที่จะเจอ แต่กวางว่าไม่ต้องรู้หมดหรอกค่ะ ทำไปเรียนรู้ไประหว่างงานดีกว่า รู้เยอะเดี๋ยวจะไม่อยากทำซะเปล่าๆ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ แก้ไปค่ะ

6. ตัดต่อ — กวางใช้ Premiere Pro ในการตัดต่อ เมื่อก่อนใช้ Final Cut Pro เป็นหลักเพราะมันใช้ง่ายกว่า แต่ตอนหลังที่เตรียมมาทำวิดิโอขายน้องช่างตัดต่อที่เราทำงานด้วยทุกคนดันใช้ Premiere Pro กันหมดเลย พอต้องทำงานด้วยกันมันเลยใช้ไฟล์ร่วมกันไม่ได้ แล้วเราก็ไม่สามารถให้เค้าช่วยสอนได้เวลามีปัญหาทางเทคนิคอะไร สุดท้ายเลยเปลี่ยนตามน้องๆ ค่ะ

ก่อนหน้านั้นก็พยายามเรียนโปรแกรมเองอยู่พักใหญ่ สุดท้ายไปไม่รอดเพราะไม่เก่งคอมอยู่แล้ว เลยลงทุนจ้างน้องมาสอนตัดต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว เอาแบบที่เราใช้งานจริงๆ ชีวิตดีขึ้นทันตาเลยค่ะ จนต้องบอกตัวเองว่าบางเรื่องไม่งกบ้างก็ได้นะ

6. รูปปิดหน้าวิดิโอ — อันนี้เสริมเพราะทำวิดิโอทั้งทีถ้ามีรูปปิดหน้าวิดิโอสวยๆ ก็จะดึงดูดความสนใจคนได้มาก ส่วนตัวกวางชอบลืมถ่ายรูปเป็นประจำ จนตอนหลังแฟนอาสาขอถ่ายให้ (ใช้คำว่าขอ ขอร้อง ขอเหอะ) เพราะถ้ารอกวางถ่ายเองก็คงลืมอีกตามเคย

เรื่องตัดต่อรูปกวางไม่เก่งเลย ใช้โปรแกรม Illustrator แบบง่อยๆ ซึ่งหลายคนบอกว่าใช้ผิดโปรแกรม ทำไมไม่ใช้ Photoshop แต่ตอนนี้กวางยังไม่ได้ไปเรียนเพิ่ม ก็เลยถูไถใช้เท่าที่ใช้เป็นไปก่อน เคยคิดจะไปลงคลาสเรียนแต่ดูเนื้อหาแล้วเกินความจำเป็น เราใช้แค่นิดเดียวเองไม่ได้จะเอาไปทำกราฟฟิคหรืออะไรใหญ่โต ราคามันยังไม่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่ต้องการก็เลยรอไปก่อนค่ะ (นี่คืองกอยู่ใช่มั้ย? ใครที่เปิดสอน photoshop แบบส่วนตัวง่ายๆ ทักมานะคะ ยังอยากเรียนอยู่ค่ะ)

 

วิธีเตรียมตัว

หลักๆ ก็เป็นการเตรียมสภาพแวดล้อม เตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมสมองในการที่จะเริ่มถ่ายวิดิโอ

1. อากาศ — ควรเป็นวันฟ้าโปร่ง เพราะถ้าฟ้ามืดจะมีปัญหาเรื่องแสง ส่วนตัวกวางใช้แสงธรรมชาติเป็นหลักเพราะจะทำให้ภาพดูไม่แข็ง เลือกถ่ายช่วงเช้าหรือบ่ายแล้วแต่มุมถ่ายของเรา แสงเช้าจะสวยและเนียนกว่า แต่บางทีก็ยากที่จะได้ปริมาณแสงที่ถูกใจ อันนี้ถ้าได้กล้องดีที่ปรับแสงได้เองอัตโนมัติก็ช่วยได้มากเลยค่ะ

2. ต้องอยู่คนเดียว — ถ้าวันไหนกวางจะถ่ายวิดิโอ วันนั้นคือห้ามใครอยู่ในบ้านด้วยเลย เพราะกวางต้องพูดคนเดียวซึ่งใช้สมาธิมาก และถ้ามีใครอยู่ด้วยก็จะเขิน เป็นตัวเองได้ยาก ซึ่งเอาจริงๆ ทุกวันนี้กวางก็ยังไม่ได้เป็นตัวเองหน้ากล้องมากนัก ยังกั๊กๆ ยังเหนียมๆ อยู่ เดี๋ยวฝึกไปเรื่อยๆ คงชินมากขึ้น

3. ปิดมือถือ — ปิดเสียงรบกวนทุกอย่าง ปิดบ้าน ปิดแอร์ ปิดอะไรก็ตามที่อาจจะทำให้มีเสียงแทรกเข้ามาในไมค์

4. ตื่นเช้า — ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเตรียมใจ กวางต้องตื่นเช้า ทำใจให้ปลอดโปร่งและนั่งท่องสคริปต์ที่จะใช้ถ่ายในวันนั้น เพราะกวางไม่ค่อยชอบดูโพย มันดูไม่โปรเฟซชั่นแนล (ตวัดเสียงแรงๆ 😂) แล้วก็ต้องเตรียมจิตเตรียมใจของเราให้พร้อมให้เหมาะกับอุณหภูมิของวิดิโอนั้นๆ ด้วย

5. แต่งหน้า — คิดถึงเรื่องแต่งหน้าทีไรจะนึกถึงอดีตนายญี่ปุ่นของกวาง สมัยกวางทำงานบริษัทนายใหญ่เป็นผู้ชายอายุแค่ 32 (เด็กกว่ากวางตอนนี้อีก) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ชายแต่นายเป็นคนแรกที่สอนกวางว่าเวลามาทำงานและเวลาไปหาลูกค้าต้องแต่งหน้านะ เพราะมันเป็นการให้เกียรติลูกค้า และทั้งๆ ที่ตอนนั้นบริษัทก็เล็กๆ อยู่กันเองแค่ไม่กี่คนแต่นายก็แต่งตัวหล่อมาทำงานทุกวัน

กวางเลยได้เรียนรู้จากนายว่า การที่นายแต่งตัวดีให้พนักงานเห็นมันก็คือการให้เกียรติพนักงานด้วยเหมือนกัน แล้วมันก็ทำให้กวางรู้สึกภูมิใจทุกครั้งเวลาที่ต้องแนะนำนายกับใครๆ
ดังนั้นอย่างน้อยก็ควรแต่งหน้าแต่งตัวให้ดูสดใสเป็นการให้เกียรติคนดูของเราด้วยเหมือนกันค่ะ จะชอบแต่งแบบเป็นธรรมชาติหรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่จริตเลยค่ะ

6. ดื่มน้ำแต่ไม่กินข้าว — ดื่มน้ำก่อนอัดวิดิโอจะช่วยทำให้เสียงใสแล้วก็กังวานขึ้น แต่กวางจะไม่กินข้าวก่อนอัดเพราะจะทำให้มีพุงและทำให้อึดอัดเวลาฝึกด้วย

 

เรื่องที่ต้องปรับปรุง

กวางเคยถามครูโยคะที่เป็นไอดอลของกวางคนนึงว่าอยากเก่งแบบครู อยากมาเรียนกับครู (แต่ครูอยู่ไกลเหลือเกิน) อยากรู้เรื่องนี้เพิ่มขึ้นเหมือนที่ครูรู้จะต้องทำยังไงดี ถามซื่อๆ แบบนี้เลยละ ครูก็น่ารักมาก ครูสอนมาคำนึงว่า “ถ้าเรารู้ว่าเรายังขาดอะไรเราก็ค่อยๆ เติมไป” เออ มันก็มีแค่นั้นจริงๆ เนอะ

มีหลายเรื่องที่กวางเองก็ยังทำได้ไม่ดีนัก แต่สิ่งสำคัญกวางว่าคือการตระหนักรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้เรื่องอะไร แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ เติมไป ตราบใดที่ไม่เลิกเสียก่อนกวางเชื่อว่าทุกคนก็เก่งขึ้นได้เหมือนกัน

1. ตีมของคลาส — ในแต่ละคลาสเราสามารถสร้างอารมณ์ ความรู้สึกหรือเน้นหัวข้อบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์กับชีวิตผู้เรียนได้ โดยเฉพาะเวลาที่เค้ามาฝึกกับเราเค้าจะเปิดรับหลายๆ สิ่งจากเราง่ายขึ้นมาก ดังนั้นถ้าอยากจะใส่สิ่งดีๆ ให้เค้าการใส่ในระหว่างคลาสก็สามารถทำได้ แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องยากสำหรับกวาง ส่วนตัวกวางพอรู้ว่าอยากใช้ตีมแนวไหน แต่ยังไม่เคยให้เวลาในการพัฒนามันอย่างจริงจังสักที ก็คิดว่าถึงเวลาที่ควรใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น

2. เทคนิคบางอย่าง — tip & trick ในการเข้าท่าที่เป็นประโยชน์กับนักเรียน เทคนิคที่จะทำให้เค้าเข้าใจแล้วก็เข้าถึงการฝึกได้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ เพราะจริงๆ เทคนิคมันมีหลากหลาย แต่หลายอย่างก็เกินความจำเป็น ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาในการที่จะเรียนรู้และคัดกรองด้วยตัวเองว่าอันไหนคือสิ่งที่จำเป็น เป็นประโยชน์ และอันไหนคือสิ่งที่เกินความจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นกับจริตการสอนของแต่ละคนด้วยเหมือนกันค่ะ

3. เรียน photoshop เพื่อแต่งรูปปิดหน้าวิดิโอให้ดีกว่าเดิม (รอครูอยู่ค่ะ ทักมานะคะ 😂)
ตอนนี้คิดออกเท่านี้ ใครมีอะไรสงสัยหรืออยากแบ่งปันอะไรก็พูดคุยกันได้เสมอค่ะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่เริ่มทำวิดิโอไม่มากก็น้อยนะคะ กวางเชื่อว่าถ้ามีคนออกมาทำวิดิโอโยคะเยอะมากขึ้น มันก็จะช่วยให้คนรู้จักโยคะเยอะมากขึ้นด้วย แบ่งปันกันค่ะ ❤️

* รูปเปิดเป็นสภาพเวลานั่งท่องสคริปต์ค่ะ ต้องหลับตาทวนท่าและคำพูดตั้งแต่ต้นจนจบคลิป ทำแบบนี้จนแก่สงสัยจะความจำดี


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *